1. ตลาดวัสดุก่อสร้างคึกคัก หลังภาครัฐเริ่มประมูลและเซ็นสัญญาจ้างงานจากงบไทยเข้มแข็ง |
- นายไพศาล ธรสารสมบัติ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศปี 53 คาดว่าจะเติบโตมากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี หรือปริมาณ 9.9 ล้านตัน จากปี 52 ที่มีประมาณการใช้เหล็กอยู่ 9 ล้านตัน ลดลงจากปี 51 ร้อยละ 30 ต่อปี |
. |
ซึ่งในปี 52 อุตสาหกรรมเหล็กได้รับผลกระทบทางลบจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ รวมถึงปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่ได้รับผลดีจากมาตรการภาครัฐโดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็ง และยังมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อเนื่องมาถึงปี 53 ด้วย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปีที่ผ่านมามีการเติบโตร้อยละ 1 ต่อปี นับเป็นปีแรกที่เริ่มเป็นบวก หลังจากที่ติดลบมาตลอด 4 ปี |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนด้านการก่อสร้างที่เริ่มมีการขยายตัวเร่งขึ้นมีแรงส่งจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงท้ายปี 2552 โดยในไตรมาส 4 ปี 52 เครื่องชี้ด้านการลงทุนก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นยอดขายเหล็ก และยอดขายปูนต่างขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 24.9 และ 11.3 ต่อปี ตามลำดับ |
. |
ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่หดตัว -6.6 ต่อปี สำหรับในปี 53 การลงทุนก่อสร้างได้รับแรงส่งเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็ง ทำให้ สศค. คาดว่าการลงทุนรวม ณ ราคาคงที่ ปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 52 ที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -9.0 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 52) |
. |
2. ปัจจัยบวกดันนำเข้าสินค้าไทยพุ่ง |
- รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าไปถึงระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทั้งวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น รวมถึงจะทำให้การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อจำหน่ายในประเทศมีราคาถูกลง นอกจากนี้ การที่ไทยมีความตกลงเขตการค้าเสรี(AFTA) กับหลายประเทศ คาดว่าจะทำให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ลดลง |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการขยายตัวของมูลค่านำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐปี 53 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 15.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 14.5 – 16.5 ต่อปี) ฟื้นตัวขึ้นมากจากปี 52 ที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -14.8 ต่อปี เนื่องจากเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่จะส่งผลให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น |
. |
ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกมีความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มราคาสินค้านำเข้าในหมวดเชื้อเพลิงที่คาดว่าจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะส่งผลให้มูลค่านำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน |
. |
3. ประธานธนาคารกลางยุโรปปกป้องค่าเงินยูโร พร้อมส่งสัญญาณเตือนประเทศที่มีปัญหา |
- ประธานธนาคารกลางยุโรปแถลงปกป้องค่าเงินยูโรที่มีสัญญาณอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องจากปัญหาทางการคลังของประเทศในกลุ่มยุโรปใต้โดยระบุว่า แม้สมาชิกยูโรโซนบางประเทศจะประสบปัญหาการคลัง แต่การขาดดุลงบประมาณรวมของยูโรโซนยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 6 ของจีดีพี |
. |
นอกจากนี้ ยังส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลของประเทศที่กำลังมีปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณว่า สหภาพยุโรปมีนโยบายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ตายตัว และประเทศในยูโรโซนไม่สามารถหลีกเลี่ยงนโยบายนี้ได้ |
. |
ทั้งนี้ ปัญหาการขาดดุลงบประมาณในยูโรโซนเริ่มต้นจากกรีซ แล้วขยายสู่สเปนและโปรตุเกสที่รัฐบาลมีหนี้สาธารณะเป็นจำนวนมาก ทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลงจาก 1.3905 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร เป็น 1.3756 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะในระดับสูงของประเทศในกลุ่มยูโรโซนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อค่าเงินยูโรต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าประธานธนาคารกลางยุโรปจะยืนยันว่ากลุ่มยูโรโซนมีอัตราส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีที่ต่ำเพียงร้อยละ 6 |
. |
แต่หากยึดถือสนธิสัญญามาสตริชต์ ซึ่งเป็นหลักในการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างเสถียรภาพและการเติบโตที่สมาชิกยูโรโซนตกลงกันไว้นั้น แต่ละประเทศในกลุ่มยูโรโซนสามารถขาดดุลงบประมาณได้เพียงร้อยละ 3 ของจีดีพี |
. |
ดังนั้น รัฐบาลของประเทศในยุโรปใต้ที่มีปัญหาจึงต้องพยายามลดการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะ เพื่อให้ค่าเงินยูโรมีเสถียรภาพ มิฉะนั้นหากปัญหายังยืดเยื้อ นักลงทุนอาจเลิกใช้เงินยูโรเป็นเงินสกุลหลัก และอาจทำให้ระบบเงินตราเดียว (Common Currency) ล่มสลาย |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |