"อภสิทธิ์" ย้ำมั่นใจปัญหามาบตาพุดไม่กระทบการลงทุนของต่างาติ แนะใช้บทเรียนของญี่ปุ่นมาพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
"อภสิทธิ์" ย้ำมั่นใจปัญหามาบตาพุดไม่กระทบการลงทุนของต่างาติ แนะใช้บทเรียนของญี่ปุ่นมาพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม |
. |
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี |
. |
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา เรื่อง "History of the Environment in the 20th Century and Activities for the Prevention of Environmental Deterioration in Japan" ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ |
. |
นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาพบกับนักลงทุนและกลุ่มผู้ประกอบการญี่ปุ่นและไทย รวมทั้งตัวแทนจากภาครัฐ และนักวิชาการ ในงานสัมมนาเรื่อง "History of the Environment in the 20th Century and Activities for the Prevention of Environmental Deterioration in Japan" ในวันนี้ |
. |
• บทเรียนการพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น |
หัวข้อการสัมมนาในวันนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันการเสื่อมโทรมของคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมก่อนนานาๆ ประเทศ จึงเผชิญกับปัญหาในด้านมลพิษก่อนประเทศอื่น ๆ |
. |
สำหรับปัญหาลักษณะคล้ายๆ กับที่มาบตาพุดและในอีกหลายพื้นที่ของประเทศไทย ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศญี่ปุ่น เพราะเคยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วที่เมืองYokkaichi ซึ่งเริ่มต้นพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือเมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาแล้ว ทำให้มีประชากรที่ป่วยมีอาการหอบหืดเป็นจำนวนมาก และมีการตั้งชื่อโรคที่เกิดขึ้นนี้ว่าYokkaichi Asthma |
. |
นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากมลพิษในภาคอุตสาหกรรมอีกหลายโรค เช่น โรคอิไตอิไต อันมีสาเหตุมาจากสารโลหะหนักคือ แคดเมียม หรือโรคมินามาตะ ที่มีสาเหตุมาจากสารโลหะหนัก คือ ปรอท เป็นต้น |
. |
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็สามารถก้าวข้ามและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันกลายเป็นประเทศระดับแนวหน้าของโลกในจัดการเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ของชาวญี่ปุ่นและองค์การต่าง ๆ ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ระดับชาติ หรือระดับบนสุด คือ ภาคการเมือง |
. |
โดยรัฐสภาได้เปิดประชุมวิสามัญที่เน้นเกี่ยวกับด้านมลพิษขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๓ และผ่านร่างกฎหมายใหม่ และร่างกฎหมายเพื่อปรับปรุงกฎหมายเดิมรวดเดียวถึง ๑๔ ฉบับ ส่วนรัฐบาลกลางก็ได้มอบอำนาจด้านการควบคุมสิ่งแวดล้อมให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น และภาคประชาชนก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาต่อรอง ระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับโรงงานแต่ละโรงด้วย |
. |
มีการทำสัญญาประชาคมในด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมก็ได้แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลดปริมาณการผลิต หรือปิดโรงงานด้วยความสมัครใจ หากมีการตรวจวัดแล้วพบว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชน ที่มีระดับเกินกว่าข้อตกลงที่ได้จัดทำกันไว้ โดยไม่ต้องรอให้หน่วยราชการท้องถิ่นออกคำสั่งปิดโรงงานแต่อย่างใด |
. |
ภายหลังปฏิรูปครั้งนั้น นอกจากจะส่งผลให้ปัญหามลพิษในญี่ปุ่นลดลงมากแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาคราชการและภาคธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง และนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของแนวคิดเมืองอุตสาหกรรม เชิงนิเวศ (Eco-Industrial Town) ที่ให้ความสำคัญแก่การพัฒนาใน ๓ ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคมควบคู่กันไป ให้สามารถเติบโตไปพร้อม ๆ กัน อย่างมีความสมดุล และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางไม่เพียงแต่ในประเทศ แต่ในระดับนานาชาติด้วย |
. |
• ทิศทางใหม่สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน |
ฉะนั้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อประเทศต่างๆ ซึ่งตามหลังญี่ปุ่นในการพัฒนาอุตสาหกรรม ได้มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่เน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยเน้นว่าภาคอุตสาหกรรมต้องมีต้นทุนการผลิตต่ำ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ดังนั้น จึงต้องยอมรับผลกระทบที่เกิดจากอุตสาหกรรม และมีการลงทุนเกี่ยวกับการป้องกันมลพิษน้อยหรือไม่มีเลย |
. |
แต่ต้องถือว่าแนวคิดเช่นนั้นในปัจจุบันนั้น ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ความคิดดังกล่าวในขณะนี้ ก็ถูกบอกว่าเป็นความคิดที่ล้าสมัย และก็จะไม่ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นในประชาคมโลก เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมก็ดีหรือสุขภาพของประชากรก็ดี ก็จะมีแต่ทำให้ประเทศหรือชุมชนนั้นจะมีแต่ความเสื่อมถอย และในที่สุดภาระที่เกิดขึ้นจากการกำจัดมลพิษ |
. |
ภาระที่เกิดขึ้นในแง่ของการรักษาพยาบาลก็จะเป็นภาระซึ่งสังคมต้องแบ่งเบา ดังนั้น ประเทศต่างๆซึ่งอยู่ช่วงของการพัฒนาอุตสาหกรรม ต้องเก็บเกี่ยวบทเรียนและประสบการณ์ที่ญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็น ถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมมาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มายิ่งขึ้น ซึ่งก็จะสอดคล้องกับ แนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) |
. |
ในกรณีของประเทศไทยก็จะสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่ประชาชนไทยด้วย จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงหรือการพัฒนาที่ยั่งยืนก็คือการเดินทางสายกลางที่จะทำใหการพัฒนาหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นมีความสมดุล มีความยั่งยืนและมีความเป็นธรรม ซึ่งหมายถึงการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนทุกฝ่าย และเพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานของเราด้วย |
. |
ดังนั้นในประเทศไทยการปรับตัวเพื่อที่จะให้การพัฒนานั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็มีการดำเนินการมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่จะให้ความสำคัญกับการให้สิทธิประโยชน์กับการลงทุนและโครงการต่างๆที่ช่วยจัดการในเรื่องของมลพิษหรือโครงการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม |
. |
• ปัญหามาบตาพุดที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง |
สำหรับกรณีของมาบตาพุดนั้น กล่าวได้ว่าปัญหาของมลพิษและปัญหาการร้องเรียนของประชาชน ดำเนินการมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นปรากฎการณ์ ที่สังคมรับรู้รับทราบโดยตรง เช่นกรณีที่เกิดข่าวในเรื่องของเด็กนักเรียนที่อยู่ใกล้พื้นที่มีอาการวิงเวียนศีรษะเป็นลม อาเจียน แสบตา แสบจมูก ผดผื่นคัน เป็นต้น |
. |
มาจนถึงข้อเท็จจริงว่า ในบางช่วงบางขณะก็อาจจะมีการละเลยแผนที่ได้วางไว้แต่ดังเดิมในเรื่องของผังเมือง ที่ได้นำไปสู่ปัญหาที่ขยายวงมากยี่งขึ้น และต่อมาก็มีการตื่นตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการสาธารณสุขและด้านสุขภาพ ที่ตรวจพบว่า พี่น้องที่นั้นมีปัญหาเรื่องการมีสารตกค้างบางประเภทที่ตกค้างในร่างกายสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรโดยรวม |
. |
เมื่อรัฐบาลนี้ได้เข้ามาบริหารประเทศ และได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาก็ได้มีแนวทางที่ชัดเจนว่าต้องการที่จะแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม จะเห็นได้ว่า รัฐบาลได้เข้ามาและดำเนินการประกาศให้พื้นที่บริเวณมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อเปิดให้ท้องถิ่นและฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในแผนของการจัดการ |
. |
ขณะเดียวกันรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปในเรื่องของการลงทุนจากต่างประเทศ ยังมีความมั่นใจว่าการลงทุนจากต่างประเทศมีประโยชน์ต่อประเทศไทยในเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน เพียงแต่ว่า กระบวนการขั้นตอนของการดำเนินการในเรื่องการลงทุนและการประกอบการควรเป็นไปเพื่อสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง |
. |
ปัญหาที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุดขณะนี้ ที่จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องของปัญหาในเชิงนโยบาย แต่เป็นปัญหาของการตีความและการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้เมื่อปี 2550 ซึ่งกำหนดไว้ว่า โครงการใดก็ตามที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชนนั้น |
. |
จะต้องผ่านกระบวนการของการวิเคราะห์ผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสุขภาพ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและได้รับความเห็นขององค์การอิสระ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น |
. |
ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ ไม่มีการระบุชัดเจนว่า ใครจะเป็นผู้ชี้ว่าโครงการใดบ้างก่อให้เกิดผลกระทบความรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการไปภายใต้ความเข้าใจหรือสมมุตมาตรฐานอย่างหนึ่ง แต่ที่สุดเมื่อมีกลุ่มประชาชนไปร้องต่อศาลปกครอง ศาลปกครองได้วินิจฉัยไปในทางที่ไม่ตรงกับแนวทางที่รัฐบาลได้ดำเนินการ |
. |
เพราะฉะนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาขณะนี้ รัฐบาลจึงได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้มีกติกาหรือแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินงานที่จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ประการแรกก็คือ เราได้ดำเนินการออกประกาศและออกระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีขั้นตอนการดำเนินการที่ชัดเจนตามมาตรา 67 วรรค สอง ทั้งในเรื่องการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็น และมีการองค์กรอิสระที่จะให้ความเห็นประกอบในการพิจารณาอนุญาต |
. |
ดังนั้น โครงการที่เป็นโครงการลงทุนใหม่ก็จะมีความชัดเจนว่าจะสามารถเข้าสู่กระบวนการนี้ได้ ซึ่งก็ไม่ควรจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม ประการที่สอง เนื่องจากมีโครงการซึ่งได้รับผลกระทบจากคำสั่งของศาลซึ่งเป็นคำสั่งชั่วคราวให้ระงับการดำเนินการอะไรต่างๆ รัฐบาลก็ได้ทำงานร่วมกับทางภาคเอกชนในการที่จะขอให้ศาลทบทวนหรือขอความกรุณาของศาลในบางกรณี |
. |
ซึ่งก็พบว่า ในบรรดา 70 กว่าโครงการ ในปัจจุบันนั้นมีหลายสิบกว่าโครงการที่ทางศาลนั้นได้มีมาตรการที่ได้ยกเว้นหรือปลดออกจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไปแล้ว และขณะนี้ เราก็มีการดำเนินการเพื่อขอศาลให้อนุมัติให้มีการก่อสร้างไปพรางก่อน |
. |
ในขณะที่ธุรกิจเอกชนนั้นก็จะมาเข้าสู่กระบวนการตามระเบียบที่ประกาศใหม่ ตามมาตรา67 วรรค 2 ได้ ซึ่งในการนี้ รัฐบาลก็มีการจัดให้มีศูนย์บริการจุดเดียวอยู่แล้วคือ One Start One Stop Center หรือ OSOS และในศูนย์แห่งนั้นก็ได้มีการจัดตั้งคลินิกสำหรับโครงการที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของศาลเป็นการเฉพาะอยู่ด้วย ก็เป็นการดำเนินการที่ช่วยให้การดำเนินการทางด้านกฎหมายเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วที่สุด |
. |
ประการสุดท้าย ก็คือว่า การดำเนินการทั้งสองด้านก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการกำหนดแนวทางต่างๆต่อไปหากมีความจำเป็น รัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วย 4 ฝ่าย คือฝ่ายราชการ ฝ่ายธุรกิจเอกชน ภาคประชาชน และภาควิชาการ เพื่อที่จะเข้ามาตกลงกันเรื่องของการดำเนินการตต่อไป |
. |
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณที่ภาคธุรกิจเอกชนเองได้แสดงเจตนาอันชัดเจนว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบมาตรฐานใหม่แต่ประการใด พร้อมเข้าสู่กระบวนการในการแก้ไขปัญหา เพียงแต่ว่าได้รับผลกระทบจากความไม่ชัดเจนหรือการตีความทางกฎหมายที่ไม่ตรงกันระหว่างภาครัฐบาลกับศาลปกครองเท่านั้น |
. |
เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่า การดำเนินการขณะนี้ น่าจะมีแนวทางที่ชัดและยืนยันถึงนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การประกอบการที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างงานสร้างรายได้ต่อไป บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิของชุมชนและของประชาชนในพื้นที่ในเรื่องของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมพร้อมๆกันไปด้วย |
. |
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีคาดว่า ปัญหาที่เกี่ยวข้องของเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการประกอบการด้านอุตสาหกรรมก็คงจะเป็นปัญหาที่เป็นปรากฏการณ์มีประเด็นที่ต้องถกเถียงต่อไป ซึ่งเเป็นเรื่องปกติธรรมดา ดังนั้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ โดยเฉพาะจากผู้เชี่ยวชาญก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการที่เราจะเดินหน้าไปข้างหน้าด้วยกันบนเป้าหมายเดียวกัน |
. |
คือการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางที่นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ประชาชน หรือรัฐบาล บนเส้นทางและเป้าหมายเดียวกัน และถือโอกาสนี้ ขอบคุณองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO (เจโทร) กรุงเทพฯ ที่ได้จัดการสัมมนาในวันนี้ขึ้น |
. |
ขอบคุณทุกท่านที่ได้มาร่วมรับฟังเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป และขอเชิญชวนว่า รัฐบาลนั้น พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการประกอบการเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคม เศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศไทยต่อไป ขอความร่วมมือทุกท่านทั้งหลายในการทำงานในอนาคตด้วย ขออวยพรให้การสัมมนาบรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ และขอให้ทุกท่านจงประสบแต่ความสุข ความเจริญโดยทั่วกัน |
. |
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย |