1. ธปท. ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจปี 53 |
- รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการกำกับนโยบายการเงินปี 2553 มีปัจจัยที่ท้าทาย 3 ด้าน ได้แก่ 1) ทิศทางอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว |
. |
2) แรงกดดันค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากเงินทุนไหลเข้า ตามเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ขยายตัว และ 3) ความเสี่ยงจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเสี่ยงในบางอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วซึ่งเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 53 คาดว่าจะกลับขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี จากปี 52 ที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -2.8 ต่อปี โดยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในช่วงปลายปี 52 และแรงส่งเชิงนโยบายจากการใช้จ่ายภาครัฐผ่านปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้ ยังคาดว่ารายได้ภาคครัวเรือนจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมถึงอัตราการว่างงานจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (อัตราการว่างงานเดือนพ.ย.52 อยู่ที่ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม) |
. |
รายได้ภาคชนบทจะปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนในปี 53 อย่างไรก็ตาม ในปี 53 ไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงตามที่ธปท.กล่าว รวมถึงความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง |
. |
2. ทุนจีนแห่เข้าไทยกว่า 4 หมื่นล้าน |
- คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เผย นักธุรกิจจีนแห่ลงทุนไทยปี 52 มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท พุ่งจากปี 51 ที่มีแค่ 1.5 พันล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลจีนส่งเสริมเอกชนให้ลงทุนต่างแดน หวังหาแหล่งวัตถุดิบใหม่และระบายเงินทุน |
. |
ด้านบีโอไอเตรียมรีแพ็คเกจสิทธิประโยชน์รองรับพร้อมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เร่งเปิดสำนักงานในจีนเพิ่มเป็น 4 แห่ง นอกจากนี้ ในปี 53 บีโอไอได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนไว้ที่ 5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี คือ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเกษตรแปรรูป |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การค้าและการลงทุนระหว่างไทย - จีน มีบทบาทมากขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปซบเซา โดยในปี 52 ไทยส่งออกไปยังจีนมีสัดส่วนร้อยละ 10.6 ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ สินค้าที่ส่งออกไปจีนได้ดี ส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง |
. |
การที่จีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นนั้น นอกจากจะอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบแล้ว จีนยังสามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าอาเซียนในการขยายตลาดสินค้าจีนได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัญหา มาบตาพุด และความไม่แน่นอนทางการเมือง ยังคงกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 53 การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 7.0 - 9.0 ต่อปี) |
. |
3. อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 53 ปรับตัวดีขึ้น |
- ทางการสหรัฐฯ แถลงตัวเลขอัตราการว่างงานในเดือน ม.ค. 53 ที่ร้อยละ 9.7 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 10 ของกำลังแรงงาน ส่งสัญญาณการฟื้นตัวในภาคการจ้างงาน โดยพบว่าภาคการผลิตและภาคค้าปลีกเริ่มมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น |
. |
นอกจากนี้ พบว่าจำนวนผู้ทำงาน part-time ลดลงซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าผู้ว่าจ้างเริ่มจ้างงานเต็มเวลา (Full-time job) มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากตำแหน่งงาน (payrolls) ในเดือน ม.ค. 53 พบว่าสหรัฐฯ มีตำแหน่งงานลดลง 20,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ได้ปรับตัวลดลงดังกล่าว บ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของภาคการจ้างงานในสหรัฐฯ จากจุดต่ำสุดที่ร้อยละ 10.1 ในเดือน ต.ค. 52 อย่างไรก็ตาม จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงเป็นไปอย่างเปราะบาง ทำให้ยังมีความจำเป็นที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานภายในประเทศต่อไป |
. |
โดยล่าสุดประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้ประกาศจะใช้งบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลมูลค่ากว่า 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2554 โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญคือการกระตุ้นการจ้างงานภายในประเทศ |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |