เนื้อหาวันที่ : 2010-02-08 09:20:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 919 views

สศค.ชี้แผนแม่บทการเงินระดับฐานรากคลอดกว่า 2 ปียังไร้แรงขับเคลื่อน

ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค.ชี้แนวคิดแผนแม่บทการเงินระดับฐานราก มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มพึ่งตนเองเป็นหลัก แต่ยังไร้แรงขับเคลื่อนจากรัฐบาล เตรียมดึง 4 หน่วยงานช่วยหนุน

“กฤษฎา อุทยานิน” เผยแผนแม่บทการเงินระดับฐานราก มุ่งเน้นการเข้าไปเพิ่มขีดความสามารถช่วยชุมชนให้เข้มแข็ง ทุกรัฐบาลทุกพรรคได้เห็นหมดแล้ว ขณะนี้กำลังรอรัฐบาลออกแรงผลัก เพิ่มพลังขับเคลื่อน                                   

.

นายกฤษฎา อุทยานิน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง

.

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร นายกฤษฎา อุทยานิน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง นำเสนอ แผนแม่บทการเงินระดับฐานราก ในเวทีประชุมปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะของคนไทย ครั้งที่ 27 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิทำงานในนามสถาบันเครือข่ายทางปัญญาร่วมรับฟัง 

.

นายกฤษฎา กล่าวถึงภาพรวมระบบการเงินไทยว่า จากผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2550 ใน เรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงิน พบว่า เงินจะอยู่ในระบบสถาบันการเงินพาณิชย์ประมาณ 83.65% กึ่ง ในระบบ เช่นสหกรณ์ เครดิตยูเยียน กองทุนหมู่บ้าน 3.44% ส่วนเงินนอกระบบ ที่ชาวบ้านบริหารจัดการกันเอง เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เงินกู้นอกระบบ โรงรับจำนำ 3.30 % และไม่มีการใช้บริการ 9.61%

.

“ขณะที่วิธีการคิดของคนไทย ยังนำเงินไปฝากแบงก์ ให้บริหารจัดการ ดังนั้นเงินส่วนใหญ่ จะอยู่ในกลุ่มนี้ประมาณ 9.8 ล้านล้านบาท อยู่ในกลุ่มที่มีการบริหารจัดการโดยกลุ่มที่มีกฎหมายจัดตั้ง ทั้งสหกรณ์เครดิตยูเนียน กองทุนหมู่บ้าน ชุมชนเมืองแห่งชาติ 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่พึ่งตนเอง 3.3 หมื่นล้านบาท”

.

นายกฤษฎา กล่าวถึงแนวคิดแผนแม่บทการเงินระดับฐานรากว่า มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มพึ่งตนเองเป็นหลัก แผนฯ นี้จัดทำขึ้นหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2539-2540 ที่ส่งผลกระทบ ให้ธนาคารและสถาบันการเงินจำนวนมากปิดตัวลง และจากวิกฤตดังกล่าวก็ยังส่งผลให้ประเทศไทยมีหนี้ที่ติดค้างอยู่กว่า 1.4 ล้านล้านบาท คาดว่า ต้องใช้เวลาชำระหนี้ 20-30 ปี ขณะที่เมื่อมีการมองย้อนลงไปในภาคชุมชน กลับไม่ได้รับผลกระทบ บางชุมชนไม่มีหนี้แม้แต่บาทเดียว

.

“จากการศึกษาพบผู้นำชาวบ้านน้อมนำ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาคิดต่อ มาปรับใช้ในกระบวนการจัดการบริหารเงินในชุมชน ซึ่งเป็นฐานความคิดพยายามพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุดโดยการลองผิดลองถูก ทำงานอย่างตั้งใจ ด้วยหลักการง่ายๆ ว่าถ้าหากมีความผิดพลาดก็หยุด หยุดแล้วก็ทำใหม่ให้ดีขึ้น บางแห่งมีความก้าวหน้า และมีบางแห่งล่มสลาย”

.

ทั้งนี้ แผนแม่บทการเงินระดับฐานราก เป็นแผนระยะปานกลาง มีระยะเวลา 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ 2551-2554 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบทิศทาง         

.

สำหรับการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติเพื่อให้การสนับสนุนองค์กรการเงินฐานราก ที่เกิดจากการรวมตัวกันของประชาชนด้วยความสมัครใจด้วยหลักการพึ่งตนเองในการ แก้ปัญหาด้านการเงินของคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของระบบการเงินพาณิชย์ทั่วไปได้ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้หรือไม่อยู่ในเงื่อนไขกำหนดของสถาบันการเงินเหล่านั้น

.

ส่วนวิธีการทำงาน นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะนี้ ทาง สศค.ได้ชักชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วยงานมาช่วยกัน คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรมการพัฒนาชุมชน, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มาทำงานในส่วนของการเป็นเลขาฯ ในการทำงานก็มีการนำหน่วยงานอื่นมาร่วม เชิญตัวแทนจากชาวบ้านมาร่วม

.

“แนวทางหลักของแผนแม่บทการเงินระดับฐานราก คือ การเน้นเข้าไปเอื้อหรือหนุนเสริมให้เกิดการพัฒนา ไม่ใช่การเข้าไปพัฒนา แผนนี้ไม่ได้เป็นแผนให้เงิน ไม่ใช่การแจกเงิน แต่เป็นการไปเพิ่มขีดความสามารถช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง จากเดิมเป็นการเข้าไปเดินชี้ชีวิตชาวบ้านให้เดินตามทาง เหมือนมีคนมาพยุงไว้ตลอดเวลา เมื่อไม่มีคนช่วยก็จะล้มทันที อีกทั้งการพัฒนาก็จะไม่เกิด” 

.

ที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค. กล่าวว่า ประเทศไทยมีองค์กรการเงินฐานรากอยู่ทั่วประเทศ จากการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและการรวมกลุ่มของสหกรณ์ต่างๆ ซึ่งองค์กรเหล่านี้หากได้รับการพัฒนาที่ดีจะนำไปสู่การทำวิสาหกิจของชุมชน เพื่อสร้างให้เกิดการต่อยอด          

.

ขณะที่ขนาดขององค์กรการเงินระดับฐานรากที่เหมาะสมที่สุด คือ ระดับตำบล เพราะมีลักษณะความต้องการปัจจัยการผลิต ปรัชญา สภาพแวดล้อม ที่ใกล้เคียงกัน อีกทั้งมีจุดเด่น อยู่ที่คนในชุมชนรู้จักกัน ดูแลกันเอง ทำให้มีต้นทุนเรื่องนี้ต่ำ และเป็นข้อได้เปรียบต่างจากระบบสถาบันการเงิน

.

นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า แผนฯ นี้ทุกรัฐบาลทุกพรรคได้เห็นแผนหมดแล้ว ซึ่งหากรัฐบาลให้ความสำคัญแผนฯ นี้ก็จะมีพลังขับเคลื่อนเป็น 2 เท่า ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินตามแผนแม่บทฯ ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2550

.

ขณะนี้ทาง สศค.กำลังเสนอกระทรวงการคลังเพื่อแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบและกรอบกฎหมายในการรองรับสถานภาพ รวมถึงศึกษาแนวทางเพื่อช่วยดูแลองค์กรการเงินระดับฐานรากเมื่อมีการประสบปัญหา และอยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้าในการติดตามแผนแม่บทฯ สิ้นปี 2552 เพื่อรายงานคณะกรรมการฯ