เนื้อหาวันที่ : 2010-02-05 13:37:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2351 views

การมีส่วนร่วมของประชาชนกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

ขณะที่รัฐบาลพยายามเร่งผลักดันให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เดินหน้าไปอย่างเร่งรีบ การรับรู้ของประชาชนกลับยังน้อยนิด การไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ และไม่ได้มีส่วนร่วม ก่อให้เกิดปัญหา อุปสรรค และความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน

โดย:คุณกมล ตรรกบุตร  

.

.

การสื่อสารสาธารณะและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐในปัจจุบัน การที่ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเรียนรู้และเข้าใจการทำงาน  ตั้งแต่ต้น จะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและลดความเสี่ยงของปัญหาจากการสื่อสารและ การยอมรับของประชาชน

.

โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งประชาชนยังขาดความรู้  ความเข้าใจและติดภาพจากเหตุการณ์อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดในอดีต

.

ดังนั้นประเทศที่มีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกในประเทศ เช่น ประเทศไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเร่งด่วน ต่อเนื่อง และจริงจังเพื่อให้โครงการที่มีประโยชน์สำหรับส่วนรวมได้มีโอกาศเกิดขึ้นในประเทศของเรา

.

ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เดินเครื่องอยู่ 436โรงใน 31 ประเทศทั่วโลก และอีกกว่า 53 โรงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง (ข้อมูล ณ กันยายน 2552) ซึ่งมีตัวอย่างการจัดการกับชุมชน และการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แตกต่างกันไป เช่น

.

ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มากถึง 20 โรง แต่เนื่องด้วยระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ของจีนทำให้สามารถดำเนินการหาสถานที่ตั้งและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้โดยไม่มีปัญหาการประท้วงต่อต้าน และไม่ต้องทำประชาพิจารณ์

.

ประเทศเวียดนาม ภายใต้ระบอบสังคมนิยมมีลักษณะคล้ายคลึงกัน สามารถสำรวจและคัดเลือกสถานที่ตั้งที่เหมาะสมได้โดยไม่มีปัญหาการต่อต้านจึงทำให้การดำเนินงานโครงการรุดไปได้อย่างมาก เมื่อพิจารณาความก้าวหน้าของเวียดนามและสถานการณ์การประท้วงต่อต้านของประเทศไทยในขณะนี้ เวียดนามจึงถูกมองว่าจะเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เดินเครื่องในระบบ

.

ประเทศฝรั่งเศส ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนมากที่สุดในโลก ประมาณ 80% โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส เริ่มต้นในช่วงของวิกฤตการณ์น้ำมันของโลก ระหว่าง ปี 2516-2522 โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันและสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ภายใต้ทั้งกระแสสนับสนุนและคัดค้าน

.

นโยบายการสื่อสารสาธารณะในช่วงแรกจะมุ่งเน้นในเรื่องความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ โดยนำเสนอข้อมูลและตัวชี้วัดทางเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก ทำให้ประชาชนมีคาดหวังสูงจากการมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

.

ต่อมา เมื่อโรงไฟฟ้าเดินเครื่อง ในช่วงปี 2523 - 2528 เริ่มมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้าน ความสำเร็จของการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์อยู่บนพื้นฐานคุณภาพของบุคลากรและการปฏิบัติงาน ภายใต้นโยบายสื่อสารสาธารณะที่เชิญชวนให้ประชาชนเดินทางเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าเพื่อเรียนรู้ด้านเทคนิคและความปลอดภัยของแต่ละขั้นตอนการทำงานจากของจริง ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและความเชื่อด้านพลังงานนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิง เกิดขึ้นหลังจากเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในปี 2529 สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนหวาดระแวงและสงสัย เกิดการประท้วงคัดค้าน ซึ่งการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนเป็นเรื่องที่ท้าทาย นโยบายการสื่อสารสาธารณะจึงมุ่งเน้นเรื่องความโปร่งใสของการดำเนินงาน การรับฟังความคิดเห็น และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

.

จากการที่ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และการเปลี่ยนแปลงของโลกจากภาวะโลกร้อน ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้ง ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีความปลอดภัย และการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อโรงไฟฟ้ามีมากขึ้น

.

โดยมีรายงานผลสำรวจความคิดเห็นในปี 2550 พบว่าประชาชนฝรั่งเศสกังวลเรื่องความเสี่ยงจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (8%) ซึ่งน้อยกว่าปัญหาการว่างงาน ที่มีความกังวล(37%) การก่อการร้าย (16%) อุบัติเหตุทางรถยนต์ (14%) ปัญหายาเสพติด รวมทั้งเหล้าและบุหรี่ (11%) และโรคเอดส์ (10%)

.

ซึ่งนโยบายการสื่อสารสาธารณะของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบันจะมุ่งเน้นเรื่องความโปร่งใสการรับฟังความคิดเห็นและส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วกับความต้องการด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชน

.

ในการตอบคำถามต่างๆ จะต้องชัดเจนและเข้าใจง่าย เคารพความคิดเห็นของฝ่ายต่อต้าน โดยเนื้อหาของการสื่อสารจะให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามลำดับ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ปลอดภัย สะอาด และราคาถูก” การดำเนินงานด้านมวลชนจะคลอบคลุมงาน

.

ด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสื่อมวลชน  จัดทำเว็บไซด์เพื่อให้ความรู้และตอบคำถาม ให้การสนับสนุนกิจกรรมและงานสังคมต่างๆ  จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์และเอกสารเผยแพร่  รวมทั้งจัดนิทรรศการเผยแพร่ให้ความรู้ในโอกาสต่างๆ ทั้งนี้ รูปแบบและเนื้อหาในการสื่อสารจะต้องปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

.

ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 ของประเทศไทยกระบวนการสื่อสารสาธารณะและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญอย่างมาก จากประสบการณ์ด้านนโยบายสื่อสารสาธารณะของประเทศฝรั่งเศส ทำให้เราเข้าใจถึงวิวัฒนาการ ขั้นตอน และอุปสรรคต่างๆ กว่าจะมาเป็นประเทศชั้นนำด้านนิวเคลียร์ในปัจจุบัน การสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ ประโยชน์และโทษ เป็นสิ่งสำคัญมาก

.

โดยจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในโรงเรียน ควรจะต้องมีบทเรียนที่กล่าวถึงประโยชน์ของการใช้พลังงานนิวเคลียร์ทางการแพทย์ ทางอุตสาหกรรม และการนำไปผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้า ได้รับทราบถึงโทษหากนำไปใช้ในทางที่ผิด ในสงคราม อธิบายทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีความปลอดภัยในปัจจุบัน และบทบาทของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ที่เข้ามากำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ให้เกิดความมั่นใจว่าเหตุการณ์ในอดีตจะไม่ย้อนรอยเกิดขึ้นอีกในอนาคต

.

สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกปลูกฝังถูกทำความเข้าใจในทุกกลุ่มคน จากพนักงานในร้านอาหาร ข้าราชการของรัฐ นักเรียน พ่อค้า การทำประชาพิจารณ์ซึ่งนำไปสู่การทำประมติเป็นสิ่งที่ดี ถ้าประชาชนที่เข้าร่วมในกระบวนการมีใจเป็นกลางโดยมองประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ รับฟังข้อมูลรอบด้านทั้งข้อดีและข้อเสีย และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพียงพอที่ตัดสินใจอย่างรู้เท่าทัน

.
บทความเป็นไปตามความคิดเห็นของผู้เขียน คุณกมล ตรรกบุตร
.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน