เนื้อหาวันที่ : 2010-02-05 10:51:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 681 views

รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 5 ก.พ. 2553

1. ธปท.เตือนค่าบาทผันผวน แนะผู้ส่งออกประกันความเสี่ยง

- นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทในขณะนี้ผันผวนเป็นไปตามปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ ดังนั้น ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะถัดไปอาจจะยังคงมีแนวโน้มที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น จากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและส่งผลให้นักลงทุนนำเงินในรูปดอลลาร์สหรัฐมาลงทุนในประเทศแถบภูมิภาค

.

กอรป์กับการที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐอยู่ในระดับที่ต่ำมากได้ส่งผลให้นักลงทุนนำเงินในรูปดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีต้นทุนต่ำมาลงทุนในสกุลที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า (carry trade) ในขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากภาคการส่งออกของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นซึ่งได้ส่งผลให้มูลค่าการเกินดุลในบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลมาก โดยในปี 2552 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีการเกินดุลถึง 20.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

ทั้งนี้ หากผู้ส่งออกอาจใช้เครื่องมือประกันความเสี่ยงโดยการฝากเงินดอลลาร์สหรัฐในบัญชีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในประเทศไทย (Foreign currency deposit account) และการทำสัญญาซื้อขายดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้าอาจมีส่วนช่วยลดการสูญเสียรายได้ในรูปดอลลาร์สหรัฐลงในอนาคตหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

.
2. รัฐบาลส่งเสริมธุรกิจในประเทศเอเชีย และเน้นเปิดตลาดใหม่ในตะวันออกกลาง

- นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประกาศว่านโยบายเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ จะเน้นไปที่การเปิดตลาดใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง พร้อมกับให้ความสำคัญกับการลงทุนทางเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยว กับกลุ่มอนุภูมิภาค ทั้งประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มแม่น้ำโขง เอเชียใต้ และอาเซียน เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่ไทยยังสามารถส่งออกไปได้เพิ่มขึ้น โดยในเดือนธ.ค. 52 การส่งออกไทยไปยังตะวันออกกลางขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี ซึ่งเป็นขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งหากพิจารณาสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังตะวันออกกลางในปี 52 พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 5.7 เพิ่มขึ้นจากปี 51 ที่ร้อยละ 5.5 ในส่วนของกลุ่มประเทศในเอเชีย

.

เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา และยูโรโซน ในปี 53 ยังมีความเสี่ยงอยู่ ดังนั้นการหันมาสนับสนุนเศรษฐกิจในภูมิภาคถือเป็นการกระจายความเสี่ยง นอกจากนั้นการเปิดการค้าเสรีอาเซียนอย่างจริงจังในปี 53 จะช่วยส่งเสริมให้มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น

.
3. . ตัวเลข Non-Manufacturing PMIเดือน ม.ค. 53ของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาด

- ภาคบริการของสหรัฐปรับตัวดีขึ้นน้อยกว่าที่คาดไว้สะท้อนได้จากตัวเลข Non-Manufacturing PMI ประจำเดือน ม.ค. 53 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.5 จากระดับ 49.8 ในเดือน ธ.ค. 52 แต่ต่ำกว่าระดับที่ตลาดคาดไว้ที่ 51.0 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีที่บ่งชี้กิจกรรมในภาคบริการที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.2 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.2

.

ในขณะที่ตลาดมองว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 53.8 โดยสำนักข่าว Bloomberg มองว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐ ณ เดือน ธ.ค. 52 ที่ยังอยู่ในระดับที่สูงมากถึง 10.0 ของกำลังแรงงานรวมอาจเป็นอุปสรรคต่อการจับจ่ายใช้สอยสินค้าจำพวกเสื้อผ้า ร้านอาหาร

.

- สศค. วิเคราะห์ว่าในช่วงที่ผ่านมา ภาคบริการมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ของปี 52 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 1.7 ต่อไตรมาสและปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ต่อไตรมาส

.

แต่การฟื้นตัวจากภาคการบริการอาจฟื้นตัวช้ากว่าภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากอัตราการว่างงานที่ต่ำ ซึ่งส่งผลให้สภาพสินเชื่อตรึงตัวและกำลังการซื้อในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง