เนื้อหาวันที่ : 2010-02-05 09:59:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 649 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 4 ก.พ. 2553

1. ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้เศรษฐกิจฟื้นชัด คาดปีนี้โต 3.5 – 5.5%

-  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปี 53 ไว้ที่ 3.5 – 5.5 % ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสถาบันการเงิน และญี่ปุ่นที่มีปัญหาภาวะเงินฝืดและหนี้สาธารณะสูง ปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัญหาการเมือง และกรณีมาบตาพุด ในส่วนอัตราเงินเฟ้อไม่น่าเป็นห่วงแม้จะเร่งตัวขึ้นอีกในเดือน ก.พ. 53

.

-  สศค.วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ยังมีปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 53 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี ซึ่งได้รวมผลกระทบจากปัญหามาบตาพุดแล้ว โดยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงท้ายปี 52 และแรงส่งเชิงนโยบายต่อเนื่องไปยังปี 53 จากการใช้จ่ายภาครัฐผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง

.

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 ต่อปี ตามราคาน้ำมัน ราคาสินค้าและบริการคาดว่าจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 52

.

ซึ่งหากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหากรณีมาบตาพุดได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนไทยเข้มแข็งให้ได้ตามกรอบวงเงิน 3.5 แสนล้าน พร้อมทั้งสามารถสร้างเสถียรภาพทางการเศรษฐกิจและการเมืองให้มั่นคงเศรษฐกิจไทยน่าจะมีโอกาสขยายตัวสูงที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี

.
2. ยอดการใช้ไฟฟ้าเดือน ม.ค. 52 ขยายตัวร้อยละ 21 บ่งชี้สัญญาณเศรษฐกิจฟื้น

-  ผู้ว่าการ กฟผ เผยว่าปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าในเดือน ม.ค.53 มีจำนวนเท่ากับ 12,281 ล้านหน่วย ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.52 ปรับตัวสูงขึ้น 2,132 ล้านหน่วยหรือคิดเป็นร้อยละ21.01 เป็นผลมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและกระจายตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจมากขึ้น

.

นอกจากนี้สภาพอากาศในเดือน ม.ค.53 ก็มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าในปีที่ผ่านมาอีกด้วย ทั้งนี้หากปีนี้ GDP ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ตามที่รัฐบาลได้คาดการณ์ไว้ ระบบไฟฟ้าของประเทศจะสามารถรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างพอเพียง

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ม.ค. ที่ขยายตัวได้ดี บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า พบว่าภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าสูงที่ร้อยละ 45 ของทั้งหมด การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้กิจกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น

.

นอกจากนั้นภาคครัวเรือนมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่ร้อยละ 25 ของทั้งหมด การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการบริโภคที่สูงขึ้น ประชาชนมีการใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดียอดใช้ไฟฟ้า ม.ค. 53 ที่เพิ่มสูงขึ้นมากนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานต่ำในปีที่ผ่านมาที่มีการใช้ไฟฟ้าเพียง 9,326 GWH

.
3. แนวโน้มนำเข้าจีนในเดือนมกราคมขยายตัวสูงสุดนับรอบ 20 ปี

-  สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่าการนำเข้าของจีนในเดือน ม.ค. 53 มีแนวโน้มขยายตัวสูงสุดในรอบ20 ปี  ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญจาก  1) การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้านำเข้า2) การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายใจประเทศของสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลี (รถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์) และ 3) ปัจจัยฐานต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน  ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวแสดงถึงความแข็งแกร่งในภาพรวมของเศรษฐกิจเอเชีย

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการขยายตัวนำเข้าสินค้าของจีนในเดือน ม.ค. 53  สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ภายใต้วงเงิน 4 ล้านล้านหยวน (589 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปลายปี 51 ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ  

.

ทั้งนี้ การนำเข้าที่สูงขึ้นของจีนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยสะท้อนได้ยอดการส่งออกไทยไปยังจีนในเดือน ธ.ค. 52 มีการขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 117.6 ต่อปี  ทั้งนี้ ในปี 52 จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยโดยมีสัดส่วนตลาดส่งออกคิดเป็นร้อยละ 10.6 รองจากตลาดส่งออกไปสหรัฐที่มีสัดส่วนร้อยละ 10.9

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง