เนื้อหาวันที่ : 2010-02-02 10:31:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 591 views

สรุปภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 25-29 ม.ค. 2553

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ธ.ค. 52 เบิกจ่ายได้จำนวน 172.2 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 18.4 ต่อปี โดยเป็นผลจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำปีงบประมาณจำนวน 149.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.3ต่อปี และรายจ่ายลงทุนจำนวน 37.6 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 297.2 ต่อปี

.

โดยการเบิกจ่ายที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายอุดหนุนให้กับกรมส่งเสริมการปกครองฯ จำนวน 30.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 53 เบิกจ่ายได้จำนวน 451.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.6 ต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าผลการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 53 จะเป็นไปตามเป้าที่ร้อยละ 94.0

.

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ธ.ค. 52  ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -53.6 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -8.2 พันล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด (ก่อนกู้) จำนวน -61.9 พันล้านบาท 

.

ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 53 ขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน       -98.8 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -76.3 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด (ก่อนกู้) จำนวน -175.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนธ.ค. 53 มีจำนวน 170.3 พันล้านบาท ซึ่งการการขาดดังกล่าวสะท้อนถึงการทำนโยบายขาดดุลของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

.

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค. 52  สูงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 194.7 ซึ่งเป็นการขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 30.7 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยการขยายตัวนี้เกิดจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

.

โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ยานยนต์ น้ำตาล โลหะ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ของต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว สอดคล้องกับการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวในแทบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดใหม่และตลาดภูมิภาค

.

ขณะเดียวกันการผลิตหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดภายในประเทศ อาทิ การปั่นการทอ และอุตสาหกรรมกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเช่นกัน ที่ร้อยละ 12.1 และ 25.5 ต่อปี ทำให้ทั้งปี 52 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวที่ร้อยละ -7.2 ต่อปี

.

อัตราการใช้กำลังการผลิต เดือน ธ.ค. 52 อยู่ที่ร้อยละ 61.8 ของกำลังการผลิต สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 60.6 ของกำลังการผลิต สะท้อนระดับการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวใกล้เคียงกับระดับก่อนวิกฤต ทำให้เฉลี่ยทั้งปี 52 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 56.3

.

อัตราการว่างงานเดือน พ.ย. 52 ลดลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนคนเท่ากับ 3.9 แสนคน โดยปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม เนื่องจากการว่างงานของภาคเกษตรและภาคบริการลดลง

.

ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานเดือน พ.ย. 52 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ต่อปี หรือคิดเป็นจำนวนคนเท่ากับ 9.7 แสนคน จากเดือนก่อนหน้า โดยการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ -2.0 ต่อปี หรือคิดเป็นจำนวนคนที่ลดลง 1.1 แสนคน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง