เนื้อหาวันที่ : 2010-02-02 10:27:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 627 views

สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 2 ก.พ. 2553

1. ก.พาณิชย์ฯ เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 53 อยู่ที่ 4.1% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

-  กระทรวงพาณิชย์เผย ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ หรือดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ม.ค. 53 อยู่ที่ 106.29 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 52 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานเดือน ม.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 103.03 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

.

เนื่องจากการส่งออกที่ฟื้นตัวและรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อ ปี 53  จะอยู่ระหว่างร้อยละ 3.0 - 3.5 โดยไตรมาสแรกคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.7 และจะค่อยๆปรับลดลง ภายใต้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ 70 - 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล  และอัตราแลกเปลี่ยน 31 -33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนนี้มีสาเหตุหลักหลายประการ ได้แก่ ฐานการคำนวณในปีที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับต่ำมาก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่นำเข้ามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศปรับตัวขึ้นสูงมาก

.

ราคาข้าวในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น ผลของมาตรการประกันรายได้เกษตรกร การปรับลดมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ 5 มาตรการ 6 เดือนประเภทน้ำประปาของรัฐบาล และการปรับภาษีสรรพสามิตในกลุ่มสุราและยาสูบเพิ่มขึ้น  

.

2. ธปท.ผ่อนปรนกฎนิติบุคคลทำธุรกรรมต่างชาติ

-  รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวผ่อนคลายระเบียบของนิติบุคคลในการทำธุรกรรมในต่างประเทศ โดยมีสาระหลักคือ 1) ขยายวงเงินลงทุนในต่างประเทศแก่นิติบุคคลให้ไม่จำกัดจำนวน และขยายวงเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศแก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)

.

2) การทำอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยผ่อนผันให้ผู้นำเข้าส่งออกสามารถยกเลิกธุรกรรมอนุพันธ์ที่ทำขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ทุกกรณี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการบริหารความเสี่ยง และ 3) ผ่อนคลายคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของผู้ขอจัดตั้งศูนย์บริหารเงินเพื่อบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศในเครือ 

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ธปท. ไม่จำกัดจำนวนวงเงินลงทุนในต่างประเทศของนิติบุคคลไทย จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องได้ เนื่องจากปี 52 ดุลบัญชีเงินสะพัดของไทยเกินดุลถึง 20.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทจึงแข็งค่าต่อเนื่อง

.

อีกทั้งการผ่อนคลายคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของผู้ขอจัดตั้งศูนย์บริหารเงินเพื่อบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศในเครือจะทำให้บริษัทไทยที่มีสาขาอยู่ต่างประเทศสามารถบริหารเงินตราต่างประเทศได้คล่องตัวขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงิน อย่างไรก็ตาม การผ่อนผันให้ผู้นำเข้าส่งออกสามารถยกเลิกธุรกรรมอนุพันธ์ได้อาจเพิ่มความคล่องตัวให้แก่ผู้ประกอบการได้

.

แต่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่สถาบันการเงินจากความเสี่ยงของคู่สัญญาที่เพิ่มขึ้น และทำให้ Value-at-Risk ของสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้สถาบันการเงินเพิ่มค่าธรรมเนียมในการทำอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และทำให้ผู้ประกอบการไม่มีแรงจูงใจในการทำอนุพันธ์เพื่อบริหารความเสี่ยงค่าเงินได้

.
3. นีลเส็นเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวไทยแตะจุดสูงสุดในรอบปี

-  นีลเส็น บริษัทวิจัยทางการตลาดและข้อมูลชั้นนำของโลก เปิดเผยผลการสำรวจออนไลน์ของผู้บริโภคทั่วโลกล่าสุด พบว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไทยไตรมาส 4 ปี 52 ขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 51 ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในสถานะภาพทางการเงิน และมุมมองในด้านการจ้างงานที่ดีขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจก็ยังคงเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคชาวไทยกังวลมากเป็นอันดับหนึ่งประกอบกับผู้บริโภคชาวไทยยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินมากขึ้น

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปี 52 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.2 จากไตรมาสแล้วที่ระดับ 67.4 สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ปรับตัวดีขึ้นโดยขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 7.8 และ 8.7 ต่อปี ในเดือนพ.ย.และธ.ค. 52 จากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ติดลบมาตลอดซึ่งบ่งบอกว่าเศรษฐกิจกลับมามีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

.

นอกจากนี้รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นในไตรมาส 4 ที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -19.6 ต่อปี ซึ่งสะท้อนว่ากำลังซื้อของคนภูมิภาคปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ทั้งปี 52 การบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงจะหดตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี ลดลงจากปี 51 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี และในปี 53 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 – 3.8 ต่อปี) ประมาณการ ณ เดือน ธ.ค. 52

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง