1. ธุรกิจ SME 9 แสนรายมีแนวโน้มปิดกิจการ |
- อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า หลังการเข้ามาของธุรกิจข้ามชาติภายใต้การเปิดเสรีทางการค้าได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) ในไทยให้มีแนวโน้มปิดกิจการมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 9 แสนราย หรือ 1 ใน 3 ของ SMEs ทั่วประเทศ ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจให้ทันต่อสถานการณ์การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร สิ่งทอ รองเท้า เสื้อผ้า และร้านค้าขายของ เป็นต้น |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภายใต้การแข่งขันทางการค้าในปัจจุบัน ธุรกิจ SMEs ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.5 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด 2.25 ล้านราย จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องสนับสนุนธุรกิจดังกล่าวเพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขัน และดูแลการแข่งขันให้มีความเป็นธรรม |
. |
ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจ SMEs ผ่านการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) โดยในปี 52 ธพว. อนุมัติสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีจำนวน 4,699 ราย คิดเป็นวงเงิน 3.37 หมื่นล้านบาทโดยเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท |
. |
2. จีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาสสุดท้ายของปี 52 ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 6 ปี |
- ทางการสหรัฐฯ แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เบื้องต้น ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ที่ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 6 ปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.7 (%qoq at annual rate) หรือขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี (%yoy) โดยมีสาเหตุสำคัญจากการสะสมสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นเมือเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า |
. |
โดยหากไม่รวมการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง จีดีพีไตรมาสที่ 4 ปี 52 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 (%qoq at annual rate) นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสสุดท้ายของปี |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวในอัตราที่สูงในไตรมาสสุดท้ายของปี 52 แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวยังไม่ส่งผลต่อการจ้างงานภายในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานรวม |
. |
เนื่องจากภาคเอกชนเลือกที่จะเพิ่มชั่วโมงการทำงานของพนักงานเพื่อตอบสนองต่อการผลิตที่เพิ่มขึ้น แทนการจ้างพนักงานเพิ่ม ซึ่งปัญหาด้านแรงงานยังคงเป็นปัญหาหลักที่สหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญและดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป |
. |
3. ไทม์ชูเศรษฐกิจอินเดียโตมีคุณภาพ แกร่งเกินจีน |
- ไทม์นำเสนอความเห็นพร้อมงานวิจัยของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจเอเชีย ทั้งจากยูบีเอส เอดีบี เอเชียโนมิคส์ เปรียบเทียบศักยภาพการบริหารและพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศระหว่างจีนกับอินเดีย ต่างเห็นตรงกันว่าอินเดียน่าจะฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ดีและมีคุณภาพมากกว่าจีน |
. |
เพราะพึ่งพาตลาดส่งออกน้อย ใช้นโยบายการคลังรอบคอบ ภาคธนาคารไม่ปล่อยกู้หละหลวม หรือก่อความเสี่ยงจนเกิดหนี้เสีย ซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจอินเดียในระยะยาวให้แข็งแกร่ง และจีดีพีขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่จีน ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีหนี้เสียมากถึงร้อยละ 8 ของจีดีพี |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำในปีที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศหลักที่ช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงในหลายด้าน ซึ่งได้แก่ การชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ การปล่อยสินเชื่อจำนวนมากและภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน |
. |
รวมถึงหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงของประเทศกรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ และสเปน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย 14 ประเทศ ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5 - 3.5 ต่อปี |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |