เนื้อหาวันที่ : 2010-02-01 10:36:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2500 views

ภาคประชาชนอัดเละโครงการพัฒนาเหมืองแร่ละเมิดสิทธิร้ายแรง

ภาคประชาชน จวกการตีความเหมืองแร่ไม่เข้าข่ายโครงการพัฒนารุนแรงไร้ความเป็นธรรม ชี้ รธน.เปิดช่องนายทุนกอบโกยทรัพยากร ละเมิดสิทธิชุมชนรุนแรงอย่างซึ่งหน้า

ภาคประชาชน จวกการตีความเหมืองแร่ไม่เข้าข่ายโครงการพัฒนารุนแรงไร้ความเป็นธรรม ชี้ รธน.เปิดช่องนายทุนกอบโกยทรัพยากร ละเมิดสิทธิชุมชนรุนแรงอย่างซึ่งหน้า

.

.

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 53 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานเสวนาเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2550 กับมาตรา 67 วรรคสอง และกรณีเหมืองแร่ประเทศไทย ณ ห้องประชุมคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากพื้นที่ซึ่งประชาชนได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ละเมิดสิทธิชุมชน

.

และตีวิเคราะห์การตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยหยิบยกกรณีเหมืองแร่และร่างการแก้ไขกฎหมาย พรบ.เหมืองแร่ ซึ่งมีการประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมให้ยกเว้นเหมืองแร่ไม่เข้าข่ายโครงการพัฒนาที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง อันจะเป็นการสร้างช่องโหว่ในข้อกฎหมายและเปิดทางให้นายทุนจับมือผู้มีอำนาจในรัฐเข้ามาขุดทรัพยากรใต้ดินและละเมิดสิทธิชุมชนได้ง่ายขึ้น

.

ในงานเสวนาดังกล่าว มีเครือชาวบ้านหลายกลุ่มเข้าร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์โครงการพัฒนาในพื้นที่ ความเห็นต่อการแก้ไข พรบ.เหมืองแร่ และทางแก้ไขปัญหาจากโครงการพัฒนาที่อาจก่อให้เกิดการทำลายล้างทรัพยากรและวิถีชีวิต 

.

อาทิ มาบตาพุด, โรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี, พื้นที่สำรวจเหมืองโปแตช จ.มหาสารคาม, เหมืองเกลือ จ.นครราชสีมา, เหมืองแร่เหล็ก จ.แพร่, เหมืองแร่ทองคำและทองแดง จ.เลย, เหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร, น้ำลำพะเนียง จ.อำนาจเจริญ, โครงการโขงชีมูน, แนวสายส่งไฟฟ้า และเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี

.

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญคือความชอบธรรมของการต่อสู้ของการเมืองภาคพลเมืองของประชาชน อำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งไม่ใช่อยู่แค่ในกระดาษ แต่ประชาชนมีความชอบธรรมที่จะสามารถดำเนินการมีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษาทรัพยากรที่อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษโดยที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทให้การรับรองไว้  

.

ดังนั้น ประชาชนต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ว่ากฎหมายลูกต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อเข้าใจว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิปกปองทรัพยากรในผืนแผ่นดินตน ก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิ่งที่เป็นสมบัติของตน

.

กรณีการจะจัดทำ พรบ.เหมืองแร่ แล้วประชาชนลุกขึ้นมาเสนอความเห็นต่อสู้ ก็เพราะพยายามทำเรื่องนโยบายในการจัดการทรัพยากรเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะแร่คือทรัพยากรของประชาชน ไม่ใช่จะให้ใครเข้ามากอบโกยได้เงินเป็นหมื่นแสนล้าน ดังนั้น มาตร 67 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ก็เป็นการบอกให้ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ  

.

โดยต้องทำการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชุมชน ในขณะที่ที่ผ่านมามีการทำการศึกษาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ปลอมหลอกชาวบ้านโดยนักวิชาการที่ขายตัว ดังนั้น ประชาชนต้องตื่นตัว รับรู้ว่าเขาทำแล้วออกมาเป็นอย่างไร ต้องมีนักวิชาการที่รักประชาชนและเป็นกลางเพื่อทำให้เกิดความชอบธรรมในการศึกษาผลกระทบด้วย

.

นายแพทย์นิรันด์ แสดงความเห็นต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการพัฒนาว่า เป็นการสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองด้วย ทั้งนี้ เสนอแนะว่า ประชาชนต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ต้องมีสื่อสารภาคประชาชนทำให้เราเข้าใจกัน  

.

ต่อมา ต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แล้วสรุปความเห็นภาคประชาชน และต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเชิงนโยบายสาธารณะเชิงภาคประชาชน หาไม่แล้วคนอื่นจะมาตัดสินใจแทน ฉะนั้น เราต้องดูแลสินทรัพย์ของเรา มีวิธีคิดในการจัดการที่ต้องช่วยกันเสนอ ต้องลบอคติที่รัฐบาลชอบคิดว่าประชาชนโง่ คิดไม่เป็น 

.

“เมื่อประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายแล้ว ต้องเข้าไปจัดการเพื่อประโยชน์ของเราด้วย ต้องทำให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาปฏิบัติตามกฎหมายในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของเรา หากเขาไม่ทำ เราต้องลุกขึ้นมาทวง” นายแพทย์ นิรันด์ กล่าว 

.

นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าปัจจุบันมีการแก้ไข พรบ.เหมืองแร่ 2510 อยู่ ซึ่งนำเสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่าง พรบ.ว่าด้วยแร่ แล้วและได้ส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเพื่อจะนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปีงบประมาณต่อไป  

.

โดยให้สอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2550 และเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการจัดการบริการแร่อย่างยั่งยืนและมีเอกภาพ ให้สอดคล้องกับดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

.

อย่างไรก็ตาม นางสาวสุภาภรณ์ กล่าวว่า แต่ประเด็นหลักคณะทำงานติดตามว่าด้วยร่าง พรบ.แร่ ฉบับนี้ พบคือ ในเบื้องต้นหลักการทั่วไปในการนิยามคำว่าแร่เป็นของรัฐ ในขณะที่ พรบ.แร่ฉบับปัจจุบันไม่ได้มีการนิยามคำนี้ เราเห็นว่าการนิยามแบบนี้จะนำไปสู่การตีความว่าแร่เป็นการบริหารจัดการและตัดสินใจโดยรัฐ และอำนาจการตัดสินใจและการบริหารจัดการทุกอย่างอยู่ที่รัฐ  

.

ซึ่งเราเห็นการสอดแทรกหลายมาตรา เช่น มาตรา 87 คือการไม่เคารพสิทธิของเจ้าของที่ดินใน ซึ่งระบุว่า ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปรังวัดที่ดิน ปักหลักหมุดหลักฐานในที่ดินซึ่งผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองกำหนดว่า ต้องแจ้งให้ผู้มีสิทธิ์ทราบเสียก่อน  

.

ซึ่งตรงนี้เป็นการแจ้งให้ทราบเท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินหรือไม่ ทั้งๆ ที่จริงแล้วแร่น่าจะเป็นของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตามหลักการหากจะนิยามคำว่าแร่ ควรจะนิยามว่าแร่เป็นของประชาชนทุกคนโดยมีรัฐเป็นผู้บริหารจัดการแทน แบบนี้จะเป็นเจตนารมณ์ที่สอดคล้องมากกว่า 

.

“เรายังพบว่า การให้อำนาจนารัฐมากเกินสมควรและไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายในบางเรื่อง ในหลายมาตราในร่างพรบ.แร่ ฉบับนี้ โดยมีการบัญญัติให้อำนาจแก่รัฐมนตรีรวมถึงเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ ให้สามารถพิจารณาขยายหรือยกเว้นข้อบังคับกฎหมายฉบับนี้บางมาตรการในการควบคุมเรื่องการประกอบกิจการแร่ ไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม มีการสอดแทรกคำว่าคือ ยกเว้น หรือ เว้นแต่” นางสาวสุภาภรณ์ กล่าว 

.

ผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการเปิดช่องให้ขออนุญาตไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้ได้ เช่น การไม่ทำเหมืองแร่ใกล้ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะ ห้ามปิดกั้นหรือทำลายด้วยประการใดๆ เพื่อเป็นการเสื่อมประโยชน์ต่อทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะ ห้ามทดน้ำ หรือชักน้ำจากทางน้ำสาธารณะ ห้ามปล่อยน้ำขุ่นข้น หรือน้ำมูลดินทรายหรือดินแร่อันเกิดจากทำเหมืองนอกเขตเหมืองแร่ 

.

แต่ปรากฏว่าสิ่งที่ห้ามไว้ในตอนนี้ กลับมีการระบุไว้ในตอนท้ายว่า ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร เหตุที่มิอาจปฏิบัติตามเรื่องนี้ได้ ให้ผู้ถือประทานบัตรยื่นขออนุญาตไม่ปฏิบัติตามต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องถิ่นได้ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว มาตรการต่างๆ ไม่ควรจะมีอยู่แล้วว่าไม่ควรจะทำเหมืองในบริเวณต่างๆ ที่กำหนดไว้แล้ว

.

สำหรับการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ปรากฏว่าการบริหารจัดการแร่ที่พูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในพรบ. ฉบับนี้ กลายเป็นว่าในมาตรา 7 วรรค 1 ให้มีการบริหารจัดการแร่ตามวรรคหนึ่ง โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  

.

แต่เท่าที่เราพบมาคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางที่อาจจะเป็นตัวแทนของชุมชนจริง มีการแจ้งและดำเนินการเรื่องการมีส่วนร่วม แต่ในขณะที่อีกหลายท้องถิ่น ควรจะมีการพูดถึงประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในชุมชน ที่รัฐธรรมนูญ 2550 ก็นิยามการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นไว้

.

“ร่างพรบ. ฉบับนี้ ระบุการมีส่วนร่วมที่มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเรามองว่า พรบ. นี้ ยังขาดไปคือ การกำหนดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งแต่การอนุญาต รวมทั้ง การให้ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนที่ไม่มีในร่าง พรบ.ฉบับนี้ อีกทั้ง เรื่องการติดประกาศที่ควรจะเข้าถึงชุมชนก็ไม่มี  

.

ดังนั้น ควรให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกอนุญาต แล้วก็ควรมีบทบัญญัติที่กำหนดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบการ” นางสาวสุภาภรณ์ กล่าว 

.

นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมว่า ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ปัจจุบันทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ ของเราถูกทำลายไปเยอะมาก เหลือแต่ทรัพยากรแร่ แต่ในร่าง พรบ.ฉบับนี้ มีเจตนาเปิดโอกาสให้รุกเข้าไปทำเหมืองแร่ในพื้นที่อนุรักษ์มากขึ้น กล่าวคือ ในมาตรา 72 บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์แก่การบริหาจัดการแร่ด้านเศรษฐกิจของประเทศ และการได้มาซึ่งทรัพยากรแร่อันมีค่า 

.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตแหล่งแร่ เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรก ก่อนการสงวนหวงห้ามหรือใช้เพื่อการประโยชน์อย่างอื่น  นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ในปัจจุบันพื้นที่ในการทำเหมืองอาจจะลดน้อยลง จึงมีเจตนาเปิดโอกาสให้รุกเข้าไปทำเหมืองแร่ในเขตป่าสงวน หรือเขตอนุรักษ์ได้

.

“ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องการรับผิดและการกำหนดโทษ ซึ่งมีในหลายมาตรา เราเห็นว่าการทำเหมืองแล้วจะมาฟื้นฟูให้เหมือนเดิมคงยาก และเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก แต่การกำหนดเรื่องการรับผิดของ พรบ.ฉบับนี้มีแค่มาตราเดียว แล้วก็พูดในวงแคบ คือกรณีเกิดความเสียหายในเขตที่ได้รับอนุญาต  

.

ในขณะที่สิ่งที่เราพบกันในหลายพื้นที่คือ แม้เราจะอยู่นอกเขต หรืออยู่บริเวณใกล้ที่ทำเหมือง ปัญหาก็มาถึงได้ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าจะมารับผิดชอบเฉพาะในเจตเหมืองเท่านั้น แต่รอบๆ เขตเหมือง และบริเวณใกล้เคียงที่อาจจะได้รับผลกระทบก็ย่อมต้องได้รับความรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นด้วย” นางสาวสุภาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย 

.

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานคณะทำงานติดตามนโยบายเหมืองแร่ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันร่างกฎหมายเหมืองแร่อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยให้ความสำคัญในการระบุการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าไปมากนัก นอกจากนี้ การออกประกาศอุตสาหกรรมก่อน ที่ระบุว่าเหมืองไม่อยู่ในโครงการรุนแรงนั้น เป็นช่องโหว่ว่างขนาดใหญ่ 

.

กรณีการทำเหมืองทองคำที่พิจิตและเลย เป็นการระเบิดหินก่อน และเอาไปบดละเอียด เอาไซยาไนด์ไปละลายให้ได้แน่ออกมา ไม่ต้องทำอีไอเอ เพราะไม่ได้มีการขุดเจาะ ทั้งที่จริงมีเรื่องสารไซยาไนด์ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย กลับไม่พูดถึงการใช้ไซยาไนด์ สารเคมีเป็นจำนวนมาก การทำเหมืองที่ไม่ต้องผ่านการทำอีไอเอแบบนี้ ที่บอกว่าไม่ใช่โครงการรุนแรง จึงเป็นเรื่องตลก ทุเรศที่สุด

.

นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับสีเขียวที่มีผลทางปฏิบัติอีกอันหนึ่ง กรณีมาบตาพุดเป็นตัวอย่าง ผมคิดว่าประชาชนเอามาตราที่เราได้ใช้ประโยชน์เป็นตัวตั้งดีกว่า 

.

กรณีร่าง พรบ.เหมืองแร่ ซึ่งแค่เขียนว่าแร่เป็นของรัฐ ผมก็คิดว่าแย่แล้ว นั่นเหมือนกับว่าเหมืองแร่โปแตชเป็นของรัฐ ส่วนคุณ (ประชาชน) แค่นั่งเฝ้าเฉยๆ เดี๋ยวรัฐจะมาเอา และอีกหลายเรื่องที่รัฐพยายามผลักดันจะมาเอาทรัพยากรไปจากประชาชน เช่น เรื่องน้ำจะเป็นของรัฐ หมายถึง เดี๋ยวน้ำฝนตกลงมาก็จะมาเก็บภาษี เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เขาพายามผลักดัน 

.

นายสันติภาพ กล่าวอีกว่า ในเวทีหลายแห่งมีการพูดเรื่องเดียวกัน คือ สิทธิที่จะจัดการทรัพยากรชุมชนบนฐานนิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยชุมชนต้องเป็นฐานในการสร้างทางเลือกพาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญระบุเรื่องสิ่งแวดล้อมเอาไว้ เพราะเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจ อาหาร วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน 

.

“เมื่อพูดเรื่องสิทธิของตามรธน ไม่ใช่แค่มาตรา 67 อย่างเดียว แต่ยังมีมาตราอื่นๆ ทั้งเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนเข้ามีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง สิทธิชุมชน สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ นี่คือสิทธิของเรา ประชาชนต้องเรียนรู้ที่จะใช้ให้เป็นและพยายามใช้มันเยอะๆ เพราะนี่คือสิทธิของประชาชน” นายสันติภาพ กล่าว

.

นางใหม่ รามศิริ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่า ปัจจุบันชุมชนเราได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำของบริษัทเอกชน เดี๋ยวนี้เราใกล้จะตายแล้ว น้ำ อาหารก็กินไม่ได้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง เป็นห่วงลูกหลนว่าจะอยู่ได้อย่างไร เหม็นมาก ชาวบ้านบางคนก็ว่าจะย้าย ฉันก็บอกว่าจะย้ายทำไม เพราะบ้านเราอยู่นี้ 

.

“ไม่มีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเหมืองทองคำนี้เลย รัฐบาลไม่มีตาหรืออย่างไร ประชาชนเดือดร้อนก็ไม่เคยเหลียวแล ที่ผ่านมารัฐบาลบอกว่าประชาชนต้องมาก่อน แต่พอแล้วเกิดผลกระทบขึ้นมาก็ไม่เคยข้าวมาดูแล เราปลูกข้าวข้าวก็ตาย เราไม่รู้ว่าจะย้ายไปไหน ที่นี่เราทำนา เรามีที่ทำกิน แต่ที่ทำมาหากินของเรามีสารหนูปนเปื้อน เราไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปหาใคร เราไม่รู้ว่าจะตายวันตายพรุ่ง” นางใหม่ กล่าว

.

นางสุวนา ศรีจันทร์ ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมามีการเข้ามาขอเจาะสำรวจในพื้นที่ป่า ทำให้พื้นที่ป่าหายไปหมดเลย จากที่บริษัทขอทำ 48 หลุม กลับกลายเป็น 100 หลุม จากที่ขอทำเหมือง 100 ไร่ กลับกลายเป็น 1,000 ไร่ เขาโกหกเรา พอเขาเข้ามาทำเหมืองทองอีก เราก็ตื่นตัวมากขึ้น ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก 

.

“ตอนนี้ชาวบ้านบางคนยังไม่รู้ หาว่าเราเป็นกระต่ายตื่นตูม บางคนบอกว่าจะได้ทำงานในเหมือง แต่ภาพรวมทั้งหมู่บ้านในอดีตที่ผ่านมาคือ เคยมีชาวบ้านได้ทำงานในเหมืองทองคำแค่ 15 คน และได้เงินเดือนแค่ 5,000 พันบาท  

.

แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือการเสียพื้นที่หาอาหาร เห็ด ผักต่างๆ ของพวกเรากลายเป็นพื้นที่เหลือแต่หลุมเจาะ หาอาหารก็ไม่ได้ วันดีคืนดีมีดินถล่มด้วย ฉะนั้น จึงไม่อยากให้มีเหมืองเข้ามาอีก เราต้องการให้ชาวบ้านรู้เรื่องนี้มากขึ้น และตระหนักสิทธิของตนเองตามกฎหมายเพื่อปกป้องทรัพยากรของพวกเรา” นางสุวนา กล่าว 

.

นอกจากนี้ นางมณี บุญรอด ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดร กล่าวว่า กลุ่มชาวบ้านคัดค้านโครงการเหมืองโปแตชมา 9 ปี ทั้งนี้ ตนเห็นว่า นโยบายของรัฐที่พูดมามีแนวเดียวกันหมดว่าโครงการพัฒนาต่างๆ และเรื่องเหมืองโปแตชจะทำให้บ้านเมืองเจริญ แต่คงไม่ใช่ เพราะทุกโครงการที่พูดมาบริษัททุนข้ามชาติร่วมกับรัฐบาลจะได้ตักตวงผลประโยชน์ 

.

“ฉันเป็นประชาชนตาดำๆ เคยอยู่ทำมาหากินด้วยตนเอง ทำนามีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์น้ำไหล ไฟสว่าง แต่อยู่ๆ ก็มีเรื่องโปแตชเข้ามาบอกว่าจะทำให้บ้านเมืองเจริญ แต่ที่จริงนายทุนที่รวมกับรัฐบาลจะได้ประโยชน์ พี่น้องต้องร่วมใจปกป้องต่อสู้เพื่อบ้านเกิดปกป้องบ้านของเรารวมกัน

.

ฉันสู้มาตลอด เดี๋ยวนี้ฉันก็สู้ ตามรัฐธรรมนูญพี่น้องทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมทั้งหญิงและชาย และทรัพยากรเป็นของเรา ของปู่ย่าตายายของเรา เราต้องสู้ อย่าไปหลงประเด็นรัฐบาลและนายทุนเรื่องโครงการพัฒนาเพื่อความเจริญ” นางมณี กล่าว

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท