เนื้อหาวันที่ : 2010-01-29 12:03:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1182 views

ก.อุตฯ เผยอีก 6 โครงการมาบตาพุดมีสิทธิเดินหน้าต่อ

ผู้ช่วย รมต.อุตสาหกรรม เผยลุ้นอีก 6 โครงการเดินหน้าต่อ รอ สผ.ยืนยันไม่ต้องทำอีไอเอ ขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่นขู่ย้ายฐาน หากไม่จบใน 6 เดือน

ผู้ช่วย รมต.อุตสาหกรรม เผยลุ้นอีก 6 โครงการเดินหน้าต่อ รอ สผ.ยืนยันไม่ต้องทำอีไอเอ ขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่นขู่ย้ายฐาน หากไม่จบใน 6 เดือน

.

.

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานกลาง เพื่อหาข้อสรุปแนวทางดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 กล่าวว่า  หลังจากที่ศาลปกครองกลางยกคำร้อง 30 บริษัท ที่ยื่นขอทบทวนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไปแล้วนั้น โดยได้ชี้ถึงประเด็นการไม่รับคำร้องมี 3 กลุ่ม

.

โดยกลุ่มแรกตามที่โครงการอ้างว่าไม่อยู่ใน 34 กิจการที่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งไม่อยู่ในคำสั่งคุ้มครองของศาล จึงไม่รับพิจารณา โดยกลุ่มนี้หากมีความมั่นใจก็ขอให้ดำเนินการตรวจสอบกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อให้ยืนยันว่าไม่ต้องทำอีไอเอ จริง หลังจากนั้นแจ้งต่อศาลปกครองกลาง 

.

ซึ่งกลุ่มแรกนี้กระทรวงพลังงานได้แจ้งที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 26  มกราคมที่ผ่านมาว่า มี 4 โครงการ และมีอีก 2 โครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ในส่วน 4 โครงการแรกกระทรวงพลังงานยังไม่สามารถระบุได้ว่าโครงการอะไรบ้าง  สำหรับ 6 โครงการแรกนี้หากสามารถให้ สผ.ยืนยันว่าไม่ต้องทำอีไอเอ ก็สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ จากจำนวนโครงการที่ถูกสั่งระงับ 64 โครงการ  

.

สำหรับกลุ่มที่ 2 ที่ศาลยกคำร้องคือ กลุ่มที่อ้างว่าเกิดขึ้นก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2550 กลุ่มนี้ศาลมองว่าจะต้องเป็นโครงการที่ได้รับใบอนุญาตใช้ที่ดินและใบอนุญาตประกอบการเท่านั้น ส่วนโครงการที่ยื่นขอให้พิจารณาทบทวนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่เข้าตามเหตุผลนี้

.

กลุ่มที่ 3 ที่ศาลยกคำร้องคือ กลุ่มที่ยื่นข้อมูลเพิ่มเติมโดยเทียบกับ 11 โครงการที่อนุญาตให้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นโครงการไม่ก่อมลพิษ และลงทุนโดยดำเนินการลดมลพิษลงก่อนแล้วจึงก่อสร้างตามสัดส่วน 80 : 20 ซึ่งกลุ่มนี้ศาลเห็นว่าไม่มีข้อมูลใหม่ ดังนั้น วันที่ 29 ม.ค. เวลา 14.30 น. คณะทำงานกลางฯ จะประชุมครั้งแรกที่ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน หรือ OSOS

.

โดยจะเชิญ 30 โครงการที่ถูกศาลปกครองกลางยกคำร้องขอทบทวนสั่งระงับกิจการมาประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณารายละเอียด โดยจะเชิญอัยการสูงสุดช่วยดูเนื้อหาด้านกฎหมายด้วย อย่างไรก็ตาม โครงการที่ไม่เคยยื่นคำร้องขอทบทวนคำสั่งคุ้มครองระงับโครงการก็สามารถเข้าร่วมได้ แต่หากพิจารณาถึงความพร้อมของข้อมูลแล้ว 30 โครงการดังกล่าวจะมีความพร้อมมากกว่า

.

ประธานคณะทำงานกลางฯ กล่าวว่า ขณะนี้สั่งให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดกลุ่มเบื้องต้นว่าทั้ง 30  โครงการน่าจะอยู่ในกลุ่มใดบ้างและหากได้รับข้อมูลแล้ว คณะทำงานฯ เชื่อว่าจะสามารถระบุได้ชัดเจนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์  หลังจากนั้นวันที่ 3 กุมภาพันธ์คณะทำงานฯ จะประชุมร่วมกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตทั้งหมด

.

เพื่อให้มีความชัดเจนของกระบวนการออกใบอนุญาตทั้งหมด รวมถึงกรอบเวลาการทำงานด้วย ส่วนกรอบการทำงานที่ตั้งไว้ 6 เดือนนั้น จะนับจากวันที่ข้อมูลพร้อมในแต่ละโครงการ หากไม่พร้อมก็อาจจะใช้เวลาเกินกว่านี้ อย่างไรก็ตาม  ส่วนราชการจะไม่เป็นสาเหตุทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้า

.
ที่มา : สำนักข่าวไทย, เว็บไซต์รัฐบาลไทย