เนื้อหาวันที่ : 2010-01-29 09:44:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 611 views

พาณิชย์ปลื้มผู้ประกอบการตอบรับศูนย์ AFTA Hotline 1385 คึกคัก

ศูนย์ปฏิบัติการ AFTA Hotline 1385 ของกระทรวงพาณิชย์ เปิดให้บริการ 20 วัน ยังได้รับความไว้วางใจ ผู้ประกอบการมั่นใจโทรสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก สินค้าเกษตรยังครองแชมป์เหมือนเดิม

.

นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการAFTA เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 นั้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ AFTA Hotline 1385 ขึ้น

.

และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2553 โดยปฏิบัติงานในลักษณะของศูนย์เบ็ดเสร็จครบวงจร ปฏิบัติงานทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มสายด่วนAFTA (Q & A Unit) ตอบคำถามและรับฟังปัญหา ข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับ AFTA และการเปิดตลาด

.

กลุ่มติดตามและประเมินสถานการณ์ (Monitoring Unit) ติดตามสถานการณ์การนำเข้า – ส่งออก เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันกับเหตุการณ์ กลุ่มให้คำปรึกษาสัญจร (AFTA Mobile Unit) เป็นหน่วยเคลื่อนที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มมาตรการช่วยเหลือ (Remedy Unit) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความตกลง ตลอดจนการเยียวยาผลกระทบและใช้มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ 

.

ปรากฎว่าหลังจากเปิดศูนย์ฯ ได้ 20 วัน มีผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไปโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม และติดต่อด้วยตนเองกว่า 700 ราย โดยแยกเป็นกลุ่มสินค้าดังนี้

.
- กลุ่มสินค้าเกษตรภายใต้ AFTA , WTO มากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 13.8
- รองลงมาได้แก่ สินค้าข้าวร้อยละ 9.3
- ปาล์ม น้ำมันปาล์ม ร้อยละ 5.1
- กาแฟ ร้อยละ 4.6
- น้ำตาล ร้อยละ 3.4 
- สินค้ากลุ่ม Sensitive list ร้อยละ 3.0 
- กาแฟสำเร็จรูป ร้อยละ 2.3
- มะพร้าว ร้อยละ 2.3
- มันสำปะหลัง ร้อยละ 2.3
- ยางพารา ร้อยละ 2.1
- อื่น ๆ ร้อยละ 51.8
.

สำหรับผู้ที่สอบถามเข้ามาแยกเป็นกลุ่มอาชีพ คือ ผู้นำเข้า - ส่งออก ร้อยละ 69.3 ผู้ผลิต ร้อยละ 12.7 และอื่น ๆ อาทิ นักวิชาการ นิสิต/นักศึกษา ร้อยละ 18.0 ประเด็นที่สอบถามเข้ามาเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องอัตราภาษี ร้อยละ 31.9 กระบวนการนำเข้า – ส่งออก ร้อยละ 25.2 การออกหนังสือ/เอกสาร ร้อยละ 17.7 ข้อมูลการตลาด ร้อยละ 11.2 และอื่น ๆ ร้อยละ 14.0 ส่วนการประเมินความพอใจของผู้สอบถาม ร้อยละ 80 ยังได้รับความพอใจมากถึงมากที่สุด

.

ตั้งแต่วันที่ 1 – 25 มกราคม 2553 มีผู้มายื่นขอใช้สิทธิในการส่งออกไปอาเซียน 9 ประเทศ มีมูลค่าทั้งหมด 264.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแยกเป็นประเทศที่มีการขอใช้สิทธิมากที่สุด 4 อันดับแรก ดังนี้ (อัตราเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552)

.

1. เวียดนาม มูลค่า 95.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.70
2. อินโดนีเซีย มูลค่า 64.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 143.57
3. มาเลเซีย มูลค่า 59.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 96.02
4. ฟิลิปปินส์ 31.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 144.75

.

ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ คือ ข้าวและมันสำปะหลัง ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า ปริมาณการขอใช้สิทธิโดยรวมในปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.42

.

นายวิจักรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะผู้บริหารเดินทางไปประชุมหารือและทำความเข้าใจกับหน่วยปฏิบัติที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก และจุดผ่อนปรนบ้านหนองปรือ จังหวัดสระแก้ว ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่มีความพร้อมและมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการรองรับการเปิดตลาด AFTA เป็นอย่างดี

.

และยังได้กำชับฝ่ายความมั่นคงให้ช่วยกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรให้เข้มงวดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์มีโครงการที่จะเดินทางไปยังจังหวัดชายแดนสำคัญอื่น ๆ อีกด้วย จึงขอให้ผู้นำเข้ามีความมั่นใจว่า จะได้รับการอำนวยความสะดวก หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ อันจะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนของไทยต่อไป