เนื้อหาวันที่ : 2010-01-28 08:54:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 620 views

สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 27 ม.ค. 2553

1. มูดีส์เพิ่มแนวโน้มเครดิตธนาคารของไทยเป็น"มีเสถียรภาพ" จาก "เชิงลบ"

- สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศเพิ่มแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือธนาคารของไทยจาก "เชิงลบ" เป็น "มีเสถียรภาพ" โดยระบุว่าสภาวะด้านความน่าเชื่อถือโดยรวมของไทยดีขึ้นแม้ว่าสถานการณ์การเมืองที่เปราะบางของไทยอาจส่งผลบั่นทอนความยืดหยุ่นและความสามารถของภาคการธนาคารในการรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินโลกแต่ภาคการธนาคารของไทยจะได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลมุ่งมั่นสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการใช้งบประมาณเพิ่มเติมและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

.

โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 3-5 ต่อปีจากปี 52 ที่คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 3 ต่อปี และคาดว่าในปี 53 อัตราการขยายตัวด้านสินเชื่อของธนาคารในประเทศไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 5-10 ต่อปี หลังจากในปี 52 หดตัวที่ร้อยละ -2.0 ต่อปี

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานแข็งแกร่งโดยเฉพาะเสถียรภาพภายนอกทั้งจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลโดยข้อมูลล่าสุด 11 เดือนแรกปี 52 มีการเกินดุลที่  19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับเกินกว่า 5 เท่า

.

ประกอบกับสถาบันการเงินของไทยอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งวัดจากอัตราดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ร้อยละ 16.2 สูงกว่าเกณฑ์มาตราฐานร้อยละ 8.5 และธนาคารพาณิชย์ไทยมีการลงทุนในตราสารหนี้ประเภท CDO ของต่างประเทศที่มีปัญหามีในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.4 ของสินทรัพย์รวม

.

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอาจจะเป็นปัจจัยบวกให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตด้วย

.
2. ส.อ.ท. เผยเอกชนต่างชาติกังวลปัญหามาบตาพุด

- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติมีความกังวลมากขึ้นหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้อง 30 โครงการ เพื่อออกจากมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากทำให้การลงทุนต่างๆต้องชะลอลง อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังคงเดินหน้ายื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังต้องการเดินหน้าโครงการต่อไปเพราะไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุน

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหามาบตาพุดที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนและกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม รวมถึงกระทบการจ้างงานที่อาจลดลงได้ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะทำให้  GDP ลดลงร้อยละ -0.2 ถึง -0.5 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีฐาน น

.

อย่างไรก็ดี รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการหาแนวทางแก้ไขปัญหา และคาดว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนในเร็ววันนี้ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลวิกฤตมาบตาพุด เพื่อพิจารณาว่าโครงการในมาบตาพุดอีก 65 โครงการ จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และด้านสุขภาพ (HIA) อย่างไร พร้อมทั้งเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลกับนักลงทุนใหม่ที่ต้องการลงทุ

.
3. วอลมาร์ทปลด 1.2 หมื่นคน อีริคสันปลดด้วย 1500 คน

- วอลมาร์ท บริษัทห้างค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐได้ประกาศแผนเตรียมลดพนักงานครั้งใหญ่อีกราว 1.15 หมื่นอัตรา เพื่อหวังปรับปรุงยอดขายของห้างให้ดีขึ้น และในสัปดาเดียวกัน บริษัทอิริคสันในสวีเดน ได้ประกาศตัดลดพนักงานลงอีก 1,500 อัตราหลักจากผลกำไรสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 หดตัวลงกว่าร้อยละ 92 ต่อปี

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการบริโภคภายในประเทศของสหรัฐและยุโรปยังคงมีความเปราะบาง สะท้อนจากยอดขายปลีกที่ยังหดตัว ส่งผลให้เกิดการปลดกำลังแรงงาน โดยที่ปริมาณค้าปลีกในสหรัฐ ในเดือนธ.ค. 52 ที่หดตัวร้อยละ -0.3 ต่อเดือน (%m-o-m)

.

ในขณะเดียวกันปริมาณขายสินค้าปลีกในยุโรป ในเดือนพ.ย. 52 หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -1.1 ต่อเดือน (%m-o-m) สอดคล้องกับการจ้างงานในภาพรวมที่ยังมีความเปราะบางสูง โดยที่อัตราการว่างงานของสหรัฐและยุโรปยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 10 ต่อกำลังแรงงานทั้งหมด ดังนั้น รัฐบาลต่างๆ จะต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังและการเงินต่อไป

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง