เนื้อหาวันที่ : 2010-01-25 09:27:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3995 views

พลังงาน โชว์เครื่องสกัดน้ำมันปาล์มต้นแบบ พร้อมต่อยอดผลิตไบโอดีเซล

กระทรวงพลังงาน จับมือ มช. โชว์เครื่องสกัดปาล์มน้ำมันต้นแบบ Dry Process ขนาดเล็ก ต้นทุนต่ำ กำลังการผลิต 2.5 ตันต่อชั่วโมง รองรับผลผลิตจากสวนปาล์มได้ตั้งแต่ขนาด 3,000 ไร่

กระทรวงพลังงาน จับมือ มช. โชว์เครื่องสกัดปาล์มน้ำมันต้นแบบ Dry Process ขนาดเล็ก ต้นทุนต่ำ กำลังการผลิต 2.5 ตันต่อชั่วโมง รองรับผลผลิตจากสวนปาล์มได้ตั้งแต่ขนาด 3,000 ไร่

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวีระพล   จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เยี่ยมชมต้นแบบเครื่องสกัดน้ำมันปาล์ม Dry Process ที่อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ พร้อมคณะสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2553

.

โดยมี รศ.ดร.พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ หัวหน้าโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการปลูกและพัฒนารูปแบบการผลิตพลังงานของพืชน้ำมัน และพัฒนารูปแบบการผลิตพลังงานจากพืชแบบครบวงจร ในพื้นที่ตัวอย่างเขตภาคเหนือ และนายสมชาย   สิทธิโชค ประธานกรรมการ บริษัท เกษตรสิทธี จำกัด ให้การต้อนรับ พร้อมพาชมเครื่องฯ  

.

ซึ่งเป็นเครื่องแรกในประเทศไทย ที่คิดค้นและพัฒนาจากระบบสกัดน้ำมันปาล์มแบบเก่า โดยไม่ก่อให้เกิดน้ำเสียจากกระบวนจากกระบวนการผลิต ซึ่งแตกต่างจากระบบเดิมที่ต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตอัตราส่วน 1:1 เหมาะที่จะนำไปใช้งานได้จริงระดับชุมชนตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ 

.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมัน ในช่วงนี้มีความผันผวนมาก และยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2552 มีการใช้เอทานอลในแก๊สโซฮอล 1.24 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 33% จาก 0.94 ล้านลิตร/วัน ปี 2551 และยอดมีการใช้ไบโอดีเซลสูงถึง 1.68 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 37% จาก 1.23 ล้านลิตร/วัน ปี 2551

.

และกระทรวงพลังงานก็ยังคงให้ความสำคัญและส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงให้แก่ประชาชน และได้ตั้งเป้าหมายให้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน ในปี 2554 แบ่งเป็น   เอทานอล 3 ล้านลิตร/วัน และไบโอดีเซล 3 ล้านลิตร/วัน

.

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ยังได้สนับสนุน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการปลูกพืชน้ำมันและพัฒนารูปแบบการผลิตพลังงานจากพืชแบบครบวงจรในพื้นที่ตัวอย่างเขตภาคเหนือทำการศึกษาวิจัยออกแบบพัฒนาระบบสกัดน้ำมันปาล์มให้มีประสิทธิภาพสูง

.

เพื่อใช้เป็นเครื่องจักรต้นแบบสำหรับการใช้งานของการผลิตปาล์มน้ำมันนอกพื้นที่ ตลอดจนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นด้วย

.

.

รศ.ดร.พรชัย  เหลืองอาภาพงศ์ หัวหน้าโครงการ ศึกษาความเป็นไปได้ของการปลูกและพัฒนารูปแบบการผลิตพลังงานของพืชน้ำมัน และพัฒนารูปแบบการผลิตพลังงานจากพืชแบบครบวงจร ในพื้นที่ตัวอย่างเขตภาคเหนือ กล่าวว่า เครื่องสกัดน้ำมันปาล์มระบบแห้งหีบรวม (Dry Process) เป็นการพัฒนาของเครื่องสกัดน้ำมันปาล์มจากแบบเดิม ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องสกัดน้ำมันปาล์มเครื่องแรกของประเทศไทย

.

โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการคิดค้นและพัฒนาร่วมกัน ระหว่างศูนย์วิจัยพลังงานชีวมวล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัทเกษตรสิทธี จำกัด  อ.ปลายพระยา จ.กระบี่  โดยได้เลือกพี้นที่ภาคใต้ในการทำการศึกษาวิจัยทดลองและพัฒนาระบบ 

.

ทั้งนี้เนื่องจากภาคใต้เป็นแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มมากที่สุดในประเทศไทยประกอบกับมีปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันมากเพียงพอสำหรับการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบสกัดน้ำมันปาล์มดังกล่าว และเมื่อผลงานวิจัยเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะนำไปติดตั้ง และทดลองการใช้ระบบเพื่อรองรับผลผลิตปาล์มน้ำมันจากแปลงวิจัยในพื้นที่ภาคเหนือ ต่อไป

.

“ระบบสกัดน้ำมันปาล์มแบบดั้งเดิม เป็นแบบใช้ไอน้ำ (Stream Process) ซึ่งพบว่าหลังกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มจะเกิดปัญหาน้ำเสียขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง  ดังนั้น การสร้างเครื่องสกัดน้ำมันปาล์มระบบ Dry Process เป็นระบบที่มีขนาดเล็ก ใช้พื้นที่น้อย

.

ใช้งบลงทุนต่ำ และใช้ระบบ Gasifier จากเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบที่ทำจากเศษเหลือทะลายปาล์ม กะลาปาล์ม เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน ที่ไม่ก่อให้เกิดน้ำเสียจากกระบวนการผลิต ซึ่งมีกำลังการผลิตเท่ากับ 2.5 ตันต่อชั่วโมง

.

โดยสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 5 ตัน ต่อชั่วโมง และมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม  ที่หีบได้มากกว่า 22% ขึ้นไป ซึ่งมีศักยภาพสูงกว่าระบบเดิม ที่ผลิตได้เพียง 17% ทั้งนี้ระบบดังกล่าวสามารถรองรับผลผลิตจากสวนปาล์มน้ำมันได้ตั้งแต่ขนาด 3,000 ไร่ ขึ้นไป และยังนำไปพัฒนาและต่อยอดในกระบวนผลิตพลังงานทดแทนไบโอดีเซลชุมชนได้อีกด้วย” รศ.ดร.พรชัย กล่าว 

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน