แม้ก๊าซธรรมชาติที่ไทยสามารถผลิตได้เองจะได้รับการยอมรับว่าเป็นพลังงานที่สะอาด และกลายเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีสัดส่วนการใช้สูงถึง 70% ทำให้ต้องกลับมาคิดว่าเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงเกินไปหรือไม่
อาจารย์ เทียนไชย จงพีร์เพียร |
. |
. |
สำหรับประเทศไทยทางเลือกชนิดพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้า จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ต่างจากแนวทางของประเทศอื่นๆ นัก โดยมีนโยบายให้พึ่งพาทรัพยากรพลังงานของประเทศเป็นหลักก่อน ซึ่งในอดีตก็มีการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ และลิกไนท์เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันเตาที่ต้องนำเข้า ต่อมาก็ได้เพิ่มบทบาทของก๊าซธรรมชาติที่มีการค้นพบในอ่าวไทย ซึ่งในปี 2530 แหล่งพลังงานในประเทศทั้ง 3 ชนิด |
. |
สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้กว่าร้อยละ 90 ของการผลิตทั้งหมดและลดการพึ่งพาน้ำมันลงเป็นอย่างมาก และอาจเป็นจุดต่ำสุดของการพึ่งพาพลังงานนำเข้าในการผลิตไฟฟ้าก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการผลิตก๊าซธรรมชาติซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นพลังงานที่สะอาดเป็นไปอย่างต่อเนื่องในขณะที่การใช้ลิกไนท์และการขยายไฟฟ้าพลังน้ำ ชะงักงันจากการคัดค้านของประชาชนด้วยเหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อม |
. |
ส่งผลให้สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และสูงถึงร้อยละ 70 ในปัจจุบันและนำไปสู่คำถามว่าเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงเกินไปแล้วหรือไม่ และสัดส่วนที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด |
. |
คำตอบในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับปัจจัยและนโยบายพลังงานในหลายด้าน ซึ่งก๊าซธรรมชาติมีส่วนดีหลายๆ ประการ โดยเฉพาะเป็นพลังงานที่สะอาด มีก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่ต่ำกว่าน้ำมันและถ่านหิน และเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่ถ้าดูในเบื้องต้นแล้ว การพึ่งพาก๊าซในสัดส่วนที่สูงมากอาจต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องด้วย คือ |
. |
1. ความเสี่ยงด้านความมั่นคงของแหล่งพลังงานในระยะยาว ซึ่งชัดเจนว่าแหล่งก๊าซในประเทศมีอยู่อย่างจำกัด และอาจรักษาระดับการผลิตปัจจุบันไว้ได้ประมาณ 15-20 ปี ดังนั้น ความต้องการก๊าซที่เพิ่มขึ้นจะต้องมาจากการนำเข้า |
. |
ซึ่งในปัจจุบันเราได้นำเข้าก๊าซจากพม่าแล้วถึงร้อยละ 23 ของก๊าซที่ใช้ และสัดส่วนการนำเข้าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากพม่าหรือโดยอาจเป็นในรูปของ LNG หรือท่อที่เชื่อมต่อกับแหล่งก๊าซจากประเทศอื่นๆ ในเขตอาเซียน ดังนั้น การใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงขึ้นจากนี้ไปจะทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานชนิดนี้มากขึ้น |
. |
2. ความเสี่ยงทางด้านความผันผวนของราคา ในปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันมากขึ้น และราคาก๊าซธรรมชาติของไทยก็ผูกพันกับราคาน้ำมันเตา ดังนั้นการใช้ก๊าซธรรมชาติจึงมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาอันเป็นผลมาจากความผันผวนของราคาน้ำมัน |
. |
3. ความเสี่ยงทางเทคนิค อันเกิดจากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงและเกิดปัญหาทางเทคนิคกับพลังงานชนิดนั้นอาจส่งผลต่อระบบการผลิตไฟฟ้าอย่างรุนแรง เช่น ทำให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ต้องหลุดออกจากระบบพร้อมๆ กันหลายโรงเป็นความเสี่ยงที่ควรได้รับการพิจารณา ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ที่มีปัญหาในด้านการจัดหาก๊าซธรรมชาติ 2 ครั้งในปี 2551 ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน |
. |
โดยครั้งแรกเป็นความล่าช้าของการส่งก๊าซเข้าระบบจากแหล่งอาทิตย์และแหล่ง เจ ดี เอ และครั้งที่สองเป็นเหตุขัดข้องของระบบส่งก๊าซจากแหล่งเยตากุนฝั่งพม่าและอีก 3 ครั้ง ในปี 2552 ในเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม |
. |
โดยครั้งแรกเป็นปัญหาจากระบบส่งก๊าซจากแหล่งยาดานา และการรั่วของท่อก๊าซจากแหล่งบงกชซึ่งเผอิญเกิดขึ้นในช่วงหยุดซ่อมบำรุงตามปกติของก๊าซจากแหล่งอื่นๆ และครั้งที่สองเกิดจากการหยุดจ่ายก๊าซของแหล่งเจดีเอ และแหล่งเยตากุน และครั้งที่สามเกิดจากปัญหาวาล์วมีการสึกกร่อนของระบบท่อส่งก๊าซแหล่งบงกช ปัญหาทางเทคนิคดังกล่าวถึงแม้ที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย |
. |
แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าการจัดหาก๊าซซึ่งเป็นการขนส่งทางระบบท่อ และถึงแม้จะมีมาตรการควบคุมอย่างรอบคอบแล้วก็ยังเป็นระบบที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะถ้าเกิดปัญหาขึ้นกับระบบผลิตหรือท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ที่ส่งก๊าซให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายๆ โรง อาจทำให้ต้องหยุดเดินเครื่องพร้อมๆ กันได้ |
. |
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งดูแลการสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าได้เตรียมแผนในระยะสั้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดดังกล่าว โดยทำการสำรองน้ำมันไว้เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่อาจเกิดปัญหาหรือมีแผนเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานรูปแบบอื่น แต่ทางเลือกนี้ก็ยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก |
. |
เช่น การปล่อยน้ำจากเขื่อนมากเกินไปก็อาจส่งผลต่อประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อนได้หรือการใช้น้ำมันเตามากขึ้นก็ส่งผลต่อต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน |
. |
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในภาพรวมแล้ว การใช้พลังงานรูปแบบอื่นๆ ก็มีความเสี่ยง เช่นเดียวกัน แต่จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของพลังงานชนิดนั้นๆ อาทิ เช่น |
. |
• การใช้น้ำมันเตา ถือว่าเป็นพลังงานที่ค่อนข้างมั่นคงในแง่การจัดหา เพราะประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันเตาจากโรงกลั่นในประเทศได้เกินความต้องการใช้ และต้องส่งออก นอกจากนี้น้ำมันเตายังมีความสะดวกในแง่การขนส่งและการจัดเก็บ เนื่องจากประเทศไทยมีระบบการขนส่งน้ำมันที่ดีและมีประสิทธิภาพสูง |
. |
รวมถึงความพร้อมในด้านการจัดเก็บ อย่างไรก็ตามน้ำมันเตามีความเสี่ยงสูงในด้านราคา เนื่องจากราคามีการปรับตัวขึ้นลงตลอดเวลาตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และความจำเป็นที่จะต้องปรับค่า Ft อย่างรุนแรงได้ |
. |
นอกจากนี้น้ำมันเตาเมื่อคิดตามค่าความร้อนแล้วจะมีราคาสูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินค่อนข้างมาก และยังส่งผลต่อสภาวะแวดล้อม เนื่องจากน้ำมันเตายังมีค่ากำมะถันค่อนข้างสูง ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการลดค่ากำมะถันสำหรับการใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในบางพื้นที่ลงแล้วก็ตาม |
. |
• ลิกไนท์และถ่านหินนำเข้า ถือว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีความมั่นคงในการจัดหาสูงกว่าเชื้อเพลิงหลักชนิดอื่นๆ เนื่องจากสามารถจัดหาได้ง่ายในตลาดโลก และเป็นเชื้อเพลิงที่มีระบบการขนส่งที่ดี การจัดเก็บมีต้นทุนต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ และที่สำคัญคือ มีราคาเชื้อเพลิงที่ต่ำกว่าเชื้อเพลิงหลักชนิดอื่นๆ และราคามีความมั่นคงสูงไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรุนแรงเหมือนน้ำมัน ถึงแม้ว่าราคาถ่านหินในปัจจุบันจะผูกพันกับราคาน้ำมันมากขึ้นก็ตาม |
. |
แต่ข้อจำกัดที่สำคัญของถ่านหินคือ ทางด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทางด้านก๊าซเรือนกระจก (ปัญหาฝุ่นควันและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานโดยใช้ถ่านหินนำเข้าคุณภาพดี และการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมมลพิษที่โรงไฟฟ้า) |
. |
เนื่องจากเป็นพลังงานที่มีสัดส่วนของคาร์บอนสูงกว่าเชื้อเพลิงหลักชนิดอื่นๆ และอาจกระทบต่อมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศไทยอาจจะต้องเข้าร่วมกับประชาคมโลกในอนาคต ซึ่งอาจทำให้ต้องลดหรือจำกัดการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงลง |
. |
• นิวเคลียร์ จากปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการใช้พลังงานฟอสซิลในรูปแบบต่างๆ ข้างต้น ทำให้หลายๆ ประเทศในโลกได้หันมาให้ความสนใจที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์กันมากขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ที่มีแผนจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ในประมาณ 15 ปีข้างหน้า ตามแผน PDP ฉบับปัจจุบัน |
. |
ซึ่งจริงๆ แล้วในกรณีของไทยอาจไม่ได้มีที่มาจากนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกทีเดียวนัก แต่มาจากนโยบายการกระจายชนิดเชื้อเพลิงให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และลดการพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติในอัตราที่สูง ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลหลัก คือเป็นเหตุผลทางด้านความมั่นคงของพลังงานของประเทศ และผลดีต่อการลดก๊าซเรือนกระจกของนิวเคลียร์จะเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และเป็นเหตุผลเดียวกันกับหลายๆ ประเทศที่สนใจลงทุนในโรงไฟฟ้าประเภทนี้ |
. |
โดยที่ปัจจุบันการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทยยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้อยู่ เนื่องจากยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่เคยมีการดำเนินการในเชิงพาณิชย์มาก่อน ซึ่งประเด็นความเสี่ยงในด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ คือจากอุบัติเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิค จากความประมาทหรือขาดประสบการณ์ของบุคลากร และจากภัยธรรมชาติต่างๆ |
. |
เช่น แผ่นดินไหว ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีออกสู่บรรยากาศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงได้ รวมถึงประเด็นการขจัดกากของเสียจากขบวนการผลิตต่างๆ และการรื้อถอนโรงไฟฟ้าเมื่อหมดอายุ |
. |
ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงที่จะต้องมีการศึกษา และดำเนินมาตรการป้องกันอย่างรอบคอบก่อนที่จะมีการเริ่มการก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงการทำความเข้าใจและอธิบายถึงประโยชน์และความจำเป็นของการก่อสร้างไรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อประชาชนในพื้นที่ก่อสร้าง รวมถึงสาธารณะชนทั่วไปให้มีความเข้าใจและยอมรับเสียก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน |
. |
• พลังงานหมุนเวียน เป็นรูปแบบของพลังงานที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ในประชาคมโลกรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่จะมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เช่น ในรูปแบบของพลังงานลมและแสงอาทิตย์) หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่ต่ำกว่าพลังงานฟอสซิล (เช่น ในรูปแบบของพลังงานชีวมวล |
. |
เช่น แกลบ ชานอ้อย ไบโอดีเซล เอทานอล) แต่สำหรับในการผลิตไฟฟ้าแล้ว พลังงานหมุนเวียนที่ได้รับความนิยมจากผู้สนใจลงทุน ในกรณีของประเทศไทย คือพลังงานชีวมวล ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งถึงประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ของโครงการที่มีการซื้อขายไฟแล้ว |
. |
และที่กำลังจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในอนาคต คือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งแล้วประมาณ 6 เมกะวัตต์ และมีผู้สนใจจะลงทุนอีกถึงกว่า 2,000 เมกะวัตต์ และพลังงานลมซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้งสูงถึง 60 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ ที่สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้คือ ไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กและก๊าซชีวภาพ เป็นต้น |
. |
ซึ่งทั้งหมดนี้ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในหลายรูปแบบโดยเฉพาะการกำหนดราคารับซื้อที่สูงกว่าจากพลังงานหลักเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามพลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบก็มีความเสี่ยงในด้านการพัฒนา ซึ่งเป็นความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงของพลังงาน โดยในกรณีของพลังงานชีวมวลซึ่งสามารถใช้ผลิตไฟฟ้าในลักษณะ base load ได้ |
. |
แต่มีขีดจำกัดในด้านการจัดหาวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรมาให้เพียงพอ เพราะวัสดุเหล่านี้มีปริมาณจำกัดตามปริมาณการผลิตในแต่ละปี เช่น แกลบ และชานอ้อย ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตข้าวและอ้อย และยังมีต้นทุนการเก็บรวบรวมและขนส่งที่ค่อนข้างสูง และปัจจุบันก็เริ่มมีปัญหาในการจัดหาพลังงานรูปแบบนี้แล้ว และส่งผลให้ราคาวัตถุดิบเหล่านี้แพงขึ้นมาก |
. |
ในกรณีของพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และไฟฟ้าพลังน้ำ ก็มีข้อจำกัดในด้านความไม่แน่นอนของลมฟ้าอากาศที่แปรปรวนในแต่ละวันหรือฤดูกาล ซึ่งทำให้การผลิตไฟฟ้าทำไม่ได้เต็มที่ตามกำลังการผลิตติดตั้ง นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ยังต้องมีการลงทุนในระบบไฟฟ้าสำรองรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ช่วงที่ไม่มีแสงอาทิตย์หรือลมหรือน้ำจากแหล่งธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นความเสี่ยงของการใช้พลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ |
. |
• การนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ในอนาคตประเทศไทยจะพึ่งพาการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งในปี 2564 จะมีการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศลาวและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ 5,377 เมกะวัตต์ เทียบกับปัจจุบันที่นำเข้าจากลาวประมาณ 340 เมกะวัตต์ |
. |
การนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงก็อาจมีความเสี่ยงในด้านความมั่นคงของพลังงาน ทั้งในด้านเทคนิค เนื่องจากเป็นการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน หรือไฟฟ้าพลังน้ำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีความไม่แน่นอนเรื่องปริมาณการผลิต ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ผันแปรไป |
. |
นอกจากนี้ยังอาจเกิดปัญหาจากระบบส่งที่ไกลและการจัดการด้านความพร้อมการจ่ายไฟและการจ่ายไฟเข้าสู่ระบบของ กฟผ. (dispatch) ซึ่งยังไม่รวมถึงปัญหาด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การต่อต้านของประชาชนของประเทศเหล่านั้น เป็นต้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อความมั่งคงของระบบได้ ถ้ามีการนำเข้าในสัดส่วนที่สูง |
. |
ดังนั้น พลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทุกรูปแบบจึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การเลือกใช้พลังงานแต่ละชนิดจึงจะต้องนำทั้งข้อดีและข้อเสียเหล่านี้มาพิจารณาประกอบกันและเลือกชนิดพลังงานที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการจัดหาไฟฟ้าของประเทศ |
. |
บทวิเคราะห์ตามความคิดเห็นของผู้เขียน อ. เทียนไชย จงพีร์เพียร |
. |
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน |