MILL หวังปีนี้ธุรกิจเหล็กกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐเร่งอัดงบฯ ขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ทั้งเมกะโปรเจ็กและโครงการไทยเข้มแข็ง ตั้งเป้าปี 53 รายได้โต 10%
MILL หวังปีนี้ธุรกิจเหล็กกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐเร่งอัดงบฯ ขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ทั้งเมกะโปรเจ็กและโครงการไทยเข้มแข็ง แถมแนวโน้มราคาเหล็กยังเป็นทิศทางขาขึ้น ร่างแผนรุกพร้อมกันทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก หวังปั๊มรายได้ปีนี้โตได้ 7-10% เป็น 2 เท่าของ GDP |
. |
นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) |
. |
นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ MILL กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจเหล็กในปี 2553 ว่า เชื่อว่าจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าปี 2552 โดยปัจจัยหลักจะมาจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนให้ความต้องการใช้เหล็ก (Demand ) มีมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาล มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ |
. |
โดยมุ่งกระจายงบประมาณลงสู่ภาคก่อสร้าง ผ่านโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ อาทิ โครงการเมกกะโปรเจ็ก และโครงการไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้อุตสาหกรรมการก่อสร้างเริ่มขยายตัวขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสทางธุรกิจดังกล่าวในปี 2553 นี้ "มิลล์คอนสตีล" มีแผนจะขยายตลาดทั้งในประเทศ และตลาดส่งออกควบคู่กันไป |
. |
รวมทั้งการเพิ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High-Value Added) ลงสู่ตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง และการขยายตลาดเหล็ก one bar (เหล็กเส้นที่มีการพัฒนารูปร่างโดยบั้งข้ออ้อยให้มีลักษณะเป็นเกลียวและสามารถใส่ coupler หมุนผ่านได้ตลอดทั้งเส้น) ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อกลางปี 2551 ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น |
. |
"ปี 2553 ถือว่าตลาดเหล็กเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2552 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐทั้งเมกะโปรเจ็กและไทยเข้มแข็ง ซึ่งในส่วนของ"มิลล์คอนสตีล" ก็คงเดินหน้าขยายตลาดอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ไปพร้อมๆกับพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มี value Added และตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด |
. |
นอกจากนั้นก็ยังมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุม ด้วยการลดต้นทุนในการผลิตให้ต่ำที่สุด เพิ่มมาตรการป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมุ่งสร้างสรรค์กิจกรรม และความสัมพันธ์อันดีเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และสังคมโดยรวมด้วย เพื่อให้ทั้งธุรกิจและสังคมเติบโตและพัฒนาควบคู่ไปด้วยกัน" |
. |
นายสิทธิชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน "มิลล์คอนสตีล" และบริษัท บี อาร์ พี สตีล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้แบ่งสายการผลิตแยกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อให้การผลิตและการบริหารงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดย "มิลล์คอนสตีล" เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กเส้นขนาดเล็ก 6 mm. – 12 mm. และเหล็กรูปพรรณ เช่น เหล็กแผ่น ตัวC เหล็กท่อ เป็นต้น |
. |
ในขณะที่ บี อาร์ พี สตีล ผลิตเหล็กเส้นขนาด 16 mm. – 40 mm. ผลิตเหล็กเกลียวขนาด 20 mm. – 40 mm. ผลิตเหล็กเพลา , เหล็กเหลี่ยม เหล็ก SPEC ต่างประเทศ เช่น ASTM JIS AUS และ MEWZ ซึ่งนโยบายของทั้ง "มิลล์คอนสตีล" และ บี อาร์ พี สตีล เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Value Added และลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีมากขึ้น |
. |
ส่งผลดีทั้งในด้านกำไร และยอดขาย ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตเหล็กเส้นอยู่ที่ 5.5 แสนตัน และเหล็กรูปพรรณอยู่ที่ 2.8 แสนตันต่อปี แต่ใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 50-60% และคาดว่าจากการขยายในปีนี้คาดว่ากำลังการผลิตจะปรับเพิ่มขึ้นเต็ม 100% |
. |
เขากล่าวต่อถึงแนวโน้มราคาเหล็กในปีนี้ที่ทางสถาบันเหล็กคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 17 % จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความต้องการใช้ (Demand ) ที่มีมากขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจอย่างชัดเจน โดยจะช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้น |
. |
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังยึดนโยบายไม่มีการเก็งกำไรจากราคาเหล็ก แต่จะปฏิบัติบนพื้นฐานของคำสั่งซื้อที่แท้จริง มีนโยบายการขายและนโยบายสินค้าคงคลังที่ชัดเจน ดังนั้นในสภาวะที่ราคาเหล็กผันผวน ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือลดลงก็ตาม บริษัทยังคงรักษาการทำกำไร และรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ในที่สุด |
. |
ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ มีเป้าหมายจะผลักดันให้รายได้เติบโตประมาณ 7-10% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2 เท่าของการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ส่วนอัตรากำไรขั้นต้น (margin) มีเกณฑ์การปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ ผ่านมาเช่นเดียวกัน |
. |
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และรวมถึงตลาดเหล็กมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ประกอบกับ "มิลล์คอนสตีล" มีการหาตลาดใหม่ควบคู่กับการขยายฐานตลาดเดิม พร้อมกับการพัฒนาเพื่อขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ที่มี Value added และนโยบายลดต้นทุนต่อหน่วยให้ต่ำที่สุด จึงสะท้อนให้ทั้งรายได้และอัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นดังกล่าว |