เนื้อหาวันที่ : 2010-01-20 09:09:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1705 views

พพ. เตรียมปั้นเกาะพลังงานสะอาดแห่งแรกของไทย

กระทรวงพลังงานเล็งยึดเกาะ Samso เป็นต้นแบบปั้นเกาะพลังงานสะอาดแห่งแรกของประเทศไทย ดึงชุมชนมีส่วนร่วมวางแผนพลังงาน

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เตรียมจัดทำโครงการเกาะพลังงานสะอาด(Green Island) โดยศึกษาต้นแบบจากเกาะ Samso ประเทศเดนมาร์ค ซึ่งใช้พลังงานทดแทน 100% มาปรับใช้กับเกาะในประเทศไทย

.

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า “จากการเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กเมื่อไม่นานมานี้   ได้เยี่ยมชมเกาะ Samso และรับทราบนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลเดนมาร์คที่ทำให้เกาะ Samso ประสบความสำเร็จในการเป็นเกาะที่ใช้พลังงานทดแทน 100 % จึงเตรียมจัดตั้งเกาะพลังงานสะอาดแห่งแรกของประเทศไทย โดยใช้เกาะ Samso เป็นต้นแบบ”

.

เกาะSamso มีขนาด114 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 4,100 คน เดิมรายได้หลักมาจากเกษตรกรรม ก่อนเป็นเกาะพลังงานสะอาด100% เกาะแห่งนี้ต้องพึ่งพาไฟฟ้าที่ผลิตด้วยเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์จากเกาะข้างเคียง และใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ขนส่งมาทางเรือ ในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) เกาะSamso ชนะการแข่งขันแผนพัฒนาพลังงานทดแทนที่รัฐบาลเดนมาร์คจัดขึ้น

.

โดยตั้งเป้าหมายให้เกาะSamsoใช้พลังงานทดแทน100%ภายในปีค.ศ.2008 หลังจาการดำเนินงานตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ตลอดระยะเวลา10 ปี ตั้งแค่ คศ.1998 จนถึง คศ. 2008  ชาวเกาะ Samso ได้เปลี่ยนอุปกรณ์และปรับพฤติกรรมการใช้พลังงาน  

.

โดยเริ่มผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากกังหันลมตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 จากนั้นจึงเริ่มผลิตความร้อนและไฟฟ้าโดยใช้เศษไม้และฟางที่มีอยู่บนเกาะเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ในปี ค.ศ. 2003 เกาะ Samso สามารถลดการพึ่งพาพลังงานเชิงพาณิชย์ลงมากกว่า 50% และยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเงินปันผลของสหกรณ์เพื่อการลงทุนผลิตพลังงานจากพลังงานทดแทน รวมทั้งการจำหน่ายไฟฟ้าที่เหลือใช้ไปยังเกาะข้างเคียง

.

ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์คให้เงินสนับสนุนราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอัตราที่สูงกว่าปกติ  โดยในช่วง 5 ปีแรก สนับสนุนในอัตรา 0.6 โครน หรือประมาณ 4 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และ 5 ปีต่อไป สนับสนุนในอัตรา 0.43 โครน หรือประมาณ 3 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง การบริหารจัดการด้านพลังงานบนเกาะ Samso มีลักษณะเป็นสภาชุมชนด้านพลังงาน

.

โดยผู้แทนจากองค์กรเอกชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาครัฐ และเอกชนในท้องถิ่น ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกาะ Samso ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเป็นเกาะพลังงานสะอาด คือ ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของการวางแผนพลังงาน และสามารถระดมทุนจากภาคประชาชนในการลงทุนระบบผลิตพลังงานที่ใช้ในชุมชนเอง

.

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย พบว่า ประเทศไทยมีเกาะที่มีผู้อยู่อาศัยและจัดตั้งเป็นหมู่บ้านประมาณ 60 เกาะ โดยเป็นเกาะที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้จำนวน 36 เกาะ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะเหล่านี้ต้องจัดหาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในราคาที่แพงกว่าปกติและยังไม่ได้มาตรฐาน

.

ในด้านประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง พพ. จึงเตรียมคัดเลือกเกาะที่ที่มีความเหมาะสม เพื่อเป็นเกาะต้นแบบพลังงานสะอาด (Green Island) ซึ่งมีการบริหารจัดการแหล่งพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพ แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้ชุมชนที่สนใจสามารถนำไปวางแผนพลังงานชุมชน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

.

ตอบสนองความต้องการของประชาชน และส่งเสริมศักยภาพของชุมชน   รวมทั้งสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนบนเกาะต่างๆ โดย พพ.จะประสานความร่วมมือกับรัฐบาลเดนมาร์คในการนำรูปแบบของเกาะ Samso มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับประเทศไทย และร่วมมือเป็นเครือข่าย Renewable Energy Island ต่อไป”

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน