เนื้อหาวันที่ : 2010-01-15 09:44:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 614 views

สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 15 ม.ค. 2552

1.  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค. ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 70.4

-  ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค.52 อยู่ที่ 70.4 ปรับตัวดีขึ้นจาก 69.1 ในเดือน พ.ย.2552 จากปัจจัยบวกที่กระทรวงการคลังปรับเพิ่มตัวเลขการคาดการณ์ GDP ปี 53 จากระดับร้อยละ 3.0 มาเป็นร้อยละ 3.5

.

และการที่ครม.มีมติต่ออายุ 5 มาตรการเพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนและการอนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงและเม็ดเงินงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเริ่มหมุนเวียนในระบบ

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นนั้นสอดคล้องกับตัวเลขการใช้จ่ายภาคการบริโภคอื่นๆ เช่น อัตราการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ธ.ค. ที่ขยายตัวร้อยละ 24.4 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 ต่อปีมาก บ่งชี้ว่าภาคการบริโภคมีการฟื้นตัวขึ้นทั้งในภาคชุมชนเมืองและภาคชนบท เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น

.
2.  ธปท. ย้ำเอกชนรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น-ความผันผวนตลาดการเงินปี 2553

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในงานสัมมนาเรื่องทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายการเงินปี 2553 ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีอย่างต่อเนื่องและมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามไปด้วย ขณะเดียวกันจะสร้างแรงกดดันทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ดังนั้น ความจำเป็นที่ ธปท. จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำก็จะน้อยลง

.

เพราะที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยต่ำมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่ง ธปท. และ กนง. จะต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน หรือจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะต้องพิจารณาทั้งเรื่องการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ในกรอบร้อยละ 0.5-3 ให้อยู่ในภาวะที่สมดุลกัน

.

-  สศค. คาดการณ์ ณ เดือนธันวาคม 2552 ว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่อัตราเติบโตเป็นบวกในปี 2553 ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี สาเหตุหลักจากประสิทธิผลของมาตรการภาครัฐ และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนรวมถึงเศรษฐกิจโลก

.

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0-4.0 ต่อปี) จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

.
3. บีโอไอสรุปยอดขอส่งเสริมลงทุนจากต่างชาติปี 2552 มี 788 โครงการ

-  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ในปี 2552 มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 788 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 350,754 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าเงินลงทุนของการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2551 ร้อยละ 18 แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างดี

.

ทั้งนี้ นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังเป็นกลุ่มที่ต้องการเข้ามาลงทุนเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 266 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 77,380 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการลงทุนจากหลายประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่าตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยตัวเลขล่าสุดไตรมาสที่ 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ -70.8 ต่อปี ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -26.6 ต่อปี ทั้งนี้ ทางสศค. ประมาณการณ์ว่าการลงทุนภาคเอกชนของไทยในปี 2553 จะขยายตัวร้อยละ 8 ต่อปี ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 7.0-9.0 ต่อปี