บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ต่างๆ ชื่นชมความพยายามต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปี 2552 ที่ผ่านมา และขอให้เดินหน้าต่อในปี 2553
ปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่การดำเนินงานเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์คืบหน้าไปมาก บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ต่างๆ ทั่วประเทศมีความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของตนได้รับการคุ้มครองจากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ |
. |
เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาเมื่อสมาชิกกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เข้าเยี่ยมคารวะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภาครัฐ ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา |
. |
“เราขอแสดงความขอบคุณและชื่นชมเจ้าหน้าที่ภาครัฐ สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงานป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปี 2552” นางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ที่ปรึกษาของบีเอสเอประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้นำคณะในครั้งนี้กล่าว |
. |
“เราเชื่อว่าในปี 2552 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีผลการดำเนินงานคืบหน้าเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการปลูกจิตสำนึกให้ผู้บริโภคตระหนักและเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)” |
. |
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มาสู่ด้านบวกได้ ในครึ่งทศวรรษแรก อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยทรงตัวอยู่ที่ระดับ 80% อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ทั้งภาครัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง จนเป็นผลให้อัตราการละเมิดลดลงมาอยู่ที่ 76% ในปี 2550 |
. |
บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นสมาชิกของบีเอสเอต่างชื่นชมความพยายามป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปี 2552 ที่ผ่านมาและหวังว่าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในปีหน้าจะช่วยลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้อีก |
. |
นายสมพร มณีรัตนะกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด คือหนึ่งในผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยที่ได้รับผลกระทบหนักจากการละเมิดลิขสิทธิ์ ซอฟต์แวร์แปลภาษาของบริษัทฯ ถูกละเมิดและวางขายควบรวมไปกับซอฟต์แวร์อื่นๆ ตามห้างไอที |
. |
นายสมพร ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของบีเอสเอ เข้าร่วมคารวะและพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภาครัฐในครั้งนี้เพื่อแสดงความชื่นชมการดำเนินงานในปี 2552 |
. |
โดยกล่าวขอบคุณความพยายามลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่าภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความคิดและความเชื่อเดิมในเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ |
. |
“เชื่อกันทั่วไปว่าราคาซอฟต์แวร์ที่สูงเกินไปคือปัจจัยที่ก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย” นายสมพรกล่าว “ผลิตภัณฑ์ของเราบางตัว เช่น โปรแกรมพจนานุกรมและแปลภาษา ตั้งราคาขายไว้เพียง180 บาท แต่ก็ยังถูกละเมิด |
. |
บริษัทของเราต้องจ้างโปรแกรมเมอร์และวิศวกรคอมพิวเตอร์ประจำ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้และเราจ่ายภาษีให้แก่รัฐ การลดราคาผลิตภัณฑ์ลงไม่ใช่คำตอบ เพราะไม่ว่าเราจะลดราคาลงเท่าไร เราก็ยังไม่สามารถแข่งขันกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งเสนอซอฟต์แวร์ของเราให้แก่ผู้บริโภคฟรีๆ โดยแถมไปกับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ตัวอื่นๆ” |
. |
ทางด้านตำรวจบก. ปอศ. นั้นมีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ไทย ในเดือนตุลาคม 2552 เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศสืบสวนคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กว่า 1,000 คดี และจะเดินหน้าต่อในปี 2553 |
. |
“เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ไทย” พ.ต.อ.ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการบก. ปอศ. กล่าว “การดำเนินงานป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปี 2552 เป็นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ นับว่าเป็นปีที่ดีสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย |
. |
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตลอดจนบก. ปอศ. ต่างมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในปีที่ผ่านมาและเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะร่วมมือกันต่อเพื่อความสำเร็จที่ยิ่งขึ้นไปในปี 2553 การตื่นตัวในเรื่องนี้ทำให้มีแนวโน้มว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จะลดลง เราจึงต้องเดินหน้าทำงานต่อไป” |
. |
หลายฝ่ายในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานเพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในทศวรรษหน้ามีแนวโน้มสดใส |