ทอท. เผยมีความเป็นไปได้ที่จะมีการย้ายเส้นทางการบินภายในประเทศทั้งหมดกลับมาเปิดให้บริการที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ ขณะที่ผู้บริหารสายการบินออกมาขานรับ
สำนักข่าวไทยรายงานข่าวที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. วานนี้ (11 ม.ค.) เตรียมหารือวาระการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานกรุงเทพ และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการย้ายเส้นทางการบินภายในประเทศทั้งหมดกลับมาเปิดให้บริการที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ ขณะที่ผู้บริหารสายการบินออกมาขานรับ |
. |
นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ ในฐานะกรรมการ ทอท. กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท.วานนี้ (11 ม.ค.) จะมีการหาข้อสรุปการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานกรุงเทพ หลังจากช่วงที่ผ่านมา มีการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปแล้ว แต่มีสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) บางรายเรียกร้องขอกลับไปใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ ซึ่งประเด็นดังกล่าว กระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางอากาศ ได้ศึกษารายละเอียดและระดมความเห็นจากสายการบิน ผู้บริหารท่าอากาศยาน ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกัน เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวยังต้องการใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแห่งเดียว แต่โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ยังมีความประสงค์กลับไปใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท. วันนี้ จะมีการระดมความเห็น และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีข้อสรุปในการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานกรุงเทพ โดยอาจจะเปิดกว้างให้สายการบินที่บินในประเทศสามารถเลือกกลับมาใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ ได้ตามความสมัครใจ โดยไม่มีการบังคับ |
. |
ด้าน เรืออากาศโทอภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวทางที่จะกลับมาใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ รองรับเที่ยวบินภายในประเทศนั้น ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยในเบื้องต้น จะทำให้ประชาชนที่มาใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ใช้เส้นทางการบินภายในประเทศได้รับความสะดวกมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการเดินไปขึ้นเครื่องเป็นระยะทางไกล และไม่ต้องมีการรอคอยกระเป๋าสัมภาระเป็นเวลานาน เนื่องจากสภาพความใหญ่โตของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปัจจุบัน ขณะที่ผู้ประกอบการสายการบินจะมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำลง เนื่องจากหากเป็นเที่ยวบินปกติที่นำมาลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็จะต้องใช้ระยะเวลาในลานจอดไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อรองรับการจัดส่งผู้โดยสารเข้าสู่อาคารที่พักผู้โดยสารขนาดใหญ่ ขั้นตอนการนำกระเป๋าสัมภาระเข้าสู่ระบบ ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ผู้ประกอบการสายการบินเสียค่าธรรมเนียมการจอดมากกว่าที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ ขณะที่มองในแง่ของการจัดการพื้นที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การย้ายเส้นทางการบินภายในประเทศกลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ จะทำให้ช่วยลดความคับคั่งของผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะนี้ เนื่องจากมีอาคารที่พักผู้โดยสารที่ผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศต้องใช้ร่วมกัน และเกิดการกระจุกตัวมีลักษณะเหมือนคอขวด |
. |
การบินไทยเห็นด้วยกับแนวทางที่จะกลับมาใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ เพื่อรองรับเที่ยวบินในประเทศ เนื่องจากทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งผู้โดยสาร ผู้ประกอบการ และความสะดวกในการจัดการพื้นที่ของ ทอท.เอง เรืออากาศโทอภินันทน์ กล่าว |
. |
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินไทย ยืนยันว่า การแยกสายการบินภายในประเทศกลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ จะไม่ส่งผลยุ่งยากต่อการจัดตารางการบินแน่นอน ส่วนการดำเนินการของการบินไทยในอนาคต หากมีการใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ การบินไทยจะกลับมาพิจารณาแผนจัดตั้งบริษัทลูก ซึ่งการบินไทยเคยถือหุ้นร้อยละ 100 เพื่อเข้ามาให้บริการเส้นทางการบินภายในประเทศโดยเฉพาะ แต่ขณะนี้จะไม่มีการกลับไปใช้ชื่อสายการบินเอื้องหลวง ตามที่เคยมีการจัดทำแผนก่อนหน้านี้ |
. |
ด้านนายอุดม ตันติประสงค์ชัย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินโอเรียนท์ไทย กล่าวว่า โอเรียนท์ไทยเห็นด้วยกับแนวทางกลับมาใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ เพื่อรองรับเที่ยวบินภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการกำหนดการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานกรุงเทพ ที่ ทอท. มีแผนจะรองรับเที่ยวบินในลักษณะจุดบินต่อจุดบิน หรือพอยท์ทูพอยท์ เนื่องจากแนวทางดังกล่าวจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการจัดตารางการบินและการตีความเพื่อพิจารณาว่าจะมีสายการบินใดเหมาะสมที่จะกลับไปใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ |
. |
นายทัศพล แบเลเว็ลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย แอร์ เอเชีย กล่าวว่า ในส่วนของไทย แอร์ เอเชีย หากภาครัฐจะให้อยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็ยินดี แต่ในระหว่างนี้ที่เห็นว่ายังมีปัญหาเกิดขึ้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ และ ทอท. ยังไม่สามารถแก้ไขปัญาหาที่เกิดให้เสร็จสิ้นได้ จึงอยากให้สายการบินโลว์คอสต์ ย้ายกลับไปใช้ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพเป็นการชั่วคราว แต่หาก ทอท. ปรับปรุงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเรียบร้อยแล้ว จะให้สายการบินต้นทุนต่ำย้ายกลับมาอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็ยินดี พร้อมกันนี้ เห็นว่า หาก ทอท. มีแผนที่จะให้สายการบินต้นทุนต่ำทั้งหมด ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ อยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็เห็นว่า ทอท. คารจะต้องลงทุนก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร (โลว์คอสต์ เทอร์มินอล) เพิ่มขึ้น เพื่อให้สายการบินต้นทุนต่ำโดยเฉพาะ เพื่อจะได้สะดวกต่อการให้บริการกับผู้โดยสาร และไม่ไปปะปนกับสายการบินปกติ |
. |
นอกจากนี้ ทอท. ควรรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นอีกไม่กี่เดือนต่อไปนี้ จะมีผู้มาใช้บริการมากขึ้น รวมถึงปี 2550 เฉพาะลูกค้าผู้โดยสารที่มาใช้บริการของไทย แอร์ เอเชีย เพียงรายเดียว ก็จะมีจำนวนมากถึง 3 ล้าน คน ซึ่งหากยังไม่มีการขยาย หรือสร้าง โลว์คอสต์ เทอร์มินอล เพิ่ม จะส่งผลให้ ทอท. มีปัญหาในการให้บริการกับผู้โดยสารทั้งสายการบินปกติ และสายการบินโลว์คอสต์ รวมถึงอุปกรณ์ที่ให้บริการก็จะไม่พอ และจะทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าของเที่ยวบิน ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในการให้บริการ |
. |
ขณะที่ นายพาที สารสิน ซีอีโอสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ในส่วนตัวแล้วเห็นว่า รัฐบาล หรือ ทอท. ไม่ควรจะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อมาลงทุนอาคารผู้โดยสารให้สายกาบินต้นทุนต่ำ ซึ่งการก่อสร้างอาจจะต้องลงทุนสูงถึง 1,400 ล้านบาท ซึ่งนกแอร์ เห็นว่า ทอท. ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนขนาดนั้น และเงินจำนวนนี้ก็ควรจะนำไปทำอย่างอื่นมากกว่า ทั้งนี้ เห็นว่าควรให้สายการบินต้นทุนต่ำทั้งหมดกลับไปใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพเป็นการถาวร เพราะศักยภาพของดอนเมือง ก็ยังเป็นสนามบินที่มีคุณภาพดีอยู่ และคิดว่าสายการบินโลว์คอสต์ต่าง ๆ จะเห็นด้วยกับนกแอร์ ส่วนเรื่องความลำบากในการเดินทางของผู้โดยสารในการต่อเครื่องนั้น คิดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะมีแท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะ และอนาคตก็จะมีรถไฟฟ้าด่วนเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือแอร์ พอร์ต ลิงค์ ไว้ให้บริการอยู่แล้ว |