ประเทศไทยยังเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและน้ำท่วม ดร.พิจิตต ระบุตัวเลขการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเผยหากเขื่อน 2 แห่งจังหวัดกาญจนบุรีแตกจากแผ่นดินไหวเพราะรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์เมืองกาญฯจมน้ำใน 5 ชั่วโมงสูงถึง 25 เมตร |
. |
ส่วนกรุงเทพน้ำจะท่วมสูง 2 เมตรภายใน 35 ชั่วโมงมิหนำซ้ำถ้าเจอน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเดียวกันน้ำอาจสูงเท่าตึก 2 ชั้น เดินหน้าแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งชาติในเชิงยุทธศาสตร์ ปี 2553 – 2562 ตามที่ครม.อนุมัติ |
. |
ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้อำนวยการองค์กรศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย(adpc) กล่าวถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรง แผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ว่าเรื่องนี้เป็นอุธาหรณ์สำคัญสำหรับประเทศไทยในเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาแผ่นดินไหว จากการหารือกับหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องล่าสุดมีการแสดงความเป็นห่วงเรื่องปัญหาแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง |
. |
เพราะจังหวัดกาญจนบุรีเป็นที่ตั้งของเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ซึ่งตั้งอยู่บนแนวแขนงรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์ที่แยกจากแนวรอยเลื่อนสะแกงในประเทศพม่า หากเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงแล้วทำให้เขื่อนศรีนครินทร์แตก จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง |
. |
ผอ.องค์กรศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย กล่าวถึงผลที่จะตามมาว่าจะมีปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลไหลลงสู่ด้านล่างภายในระยะเวลา 5 ชั่วโมงน้ำจะไปถึงตัวอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีในระดับความสูง 25 เมตร ภายใน 11 ชั่วโมง น้ำจะไปถึง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในระดับ 7.5 เมตร |
. |
ภายใน 23 ชั่วโมง น้ำจะไปถึง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครปฐม ในระดับ 2 เมตร และภายใน 35 ชั่วโมง น้ำจะมาถึงกรุงเทพมหานครในระดับความสูง 2 เมตร ซึ่งข้อมูลดังกล่าวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้คำนวณและสร้างแบบจำลองขึ้นมา |
. |
เพราะฉะนั้นจังหวัดต่างๆตามเส้นทางน้ำหลากที่กล่าวมาจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านการให้ความรู้กับประชาชน การวางแผนป้องกันทั้ง แผนอพยพประชาชน แผนดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะใน กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่หลายล้านคน มีปัญหารถติดจะต้องหาเส้นทาง |
. |
อพยพที่ไม่สวนกระแสน้ำ เพราะน้ำจะไหลมาตามถนนสายหลัก อย่างถนนเพชรเกษมแน่นอน และหากในช่วงดังกล่าวมีน้ำทะเลหนุนสูงพอดีระดับน้ำอาจจะสูงเกิน 2 เมตร หรือตึกสองชั้นก็ได้ |
. |
“สำหรับประเทศไทย เราได้ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนระดับชาติซึ่ง ครม. ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 ให้ประกาศใช้ แผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งชาติในเชิงยุทธศาสตร์ ปี 2553 – 2562 โดยมีแผนป้องกันภัยพิบัติแผ่นดินไหวรวมอยู่ด้วย” ดร.พิจิตต กล่าว |
. |
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่ารอยเลื่อนสำคัญที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยมีทั้งหมด 9 รอยเลื่อน คือ 1. รอยเลื่อนเชียงแสน ความยาว 130 กิโลเมตร เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3 ริคเตอร์มาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง 2.รอยเลื่อนแพร่ ความยาว 115 กิโลเมตร เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3-4 ริคเตอร์ ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง 3. รอยเลื่อนแม่ทา ความยาว 55 กิโลเมตร มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดขึ้นบ่อยครั้ง |
. |
4. รอยเลื่อนเถิน ความยาว 90 กิโลเมตรเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.7 ริกเตอร์เมื่อปี 2521 5. รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี ความยาว 250 กิโลเมตร เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริคเตอร์เมื่อปี 2518 6. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ความยาว 500 กิโลเมตร มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กไม่น้อยกว่า 100 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2526 มีขนาดสูงถึง 5.6 ริคเตอร์ 7. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ความยาว 250 กิโลเมตร เกิดแผ่นดินไหวเล็กน้อยหลายพันครั้ง |
. |
8. รอยเลื่อนระนอง ความยาว 270 กิโลเมตร เกิดแผ่นดินไหว 1 ครั้งเมื่อปี 2521 ขนาด 5.6 ริคเตอร์ 9. รอยเลื่อนคลองมะรุย เคยเกิดแผ่นดินไหวเล็กน้อยที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงในปี 2476 , 2519 และ 2542 ทั้งนี้แผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนทั้งสองแห่ง เคยเกิดแผ่นดินไหวในเดือนเมษายน 2526 ถึง 3 ครั้ง สูงสุดขนาด 5.99 ริคเตอร์ |