แม้ก๊าซธรรมชาติ จะถือว่าเป็นพลังงานสะอาดและถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากที่สุด แต่การพึ่งพิงพลังงานชนิดใดชนิดหนึ่งในสัดส่วนที่สูง จะเกิดผลกระทบอย่างไร ทางเลือกชนิดพลังงานของไทยมีมากน้อยเพียงใด ทางเลือกด้านพลังงานใดจะเหมาะสมกับประเทศไทย
อาจารย์ เทียนไชย จงพีร์เพียร |
. |
. |
ในระยะที่ผ่านมามีเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันบ่อยครั้ง คือ ประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ เช่น ถ่านหินหรือน้ำมันเตา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในเชิงนโยบายว่า การใช้ก๊าซธรรมชาติของเราควรมีข้อจำกัดหรือไม่ |
. |
ถึงแม้ว่าจะเป็นพลังงานที่สะอาด และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าพลังงานรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะน้ำมันและถ่านหิน และจริงๆแล้วทางเลือกที่เหมาะสมของการใช้พลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศควรจะเป็นเช่นไร และการใช้เชื้อเพลิงแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียอย่างไร |
. |
สำหรับพลังงานที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้านั้นได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “พลังงานขั้นต้น” หรือ Primary Energy คือ เป็นพลังงานที่ถูกใช้เพื่อแปรรูปเป็นพลังงานขั้นปลายที่พร้อมใช้งานสำหรับผู้ใช้ที่เป็น end-user ดังนั้นพลังงานขั้นต้นจึงถือเป็นพลังงานโดยรวมที่ประเทศของเราจะต้องจัดหามา |
. |
ในกรณีของไฟฟ้านั้น พลังงานขั้นต้นของไทยจะประกอบด้วยก๊าซธรรมชาติ ลิกไนท์ ถ่านหินนำเข้า น้ำมันเตา และยังรวมถึงไฟฟ้าจากเขื่อน พลังงานหมุนเวียน และจากการนำเข้าไฟฟ้าด้วย ซึ่งถือเป็นการจัดหาโดยรวม ส่วนพลังงานไฟฟ้านั้นถือว่าเป็นพลังงานขั้นปลายที่เกิดจากการแปรรูปแล้ว และพร้อมจะใช้โดยผู้บริโภค |
. |
ในกรณีของประเทศไทยนั้นในปี 2551 ได้มีการจัดหาพลังงานขั้นต้นเชิงพาณิชย์ทั้งสิ้นประมาณ 89.6 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 33 หรือประมาณ 29 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และส่วนที่เหลือถูกนำไปใช้แปรรูปเป็นพลังงานขั้นสุดท้ายรูปแบบอื่นๆ |
. |
อาทิเช่น น้ำมันเชื้อเพลิงโดยผ่านขบวนการกลั่นน้ำมันที่โรงกลั่น หรือแปลงเป็นก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าสาขาการผลิตไฟฟ้าถือว่าเป็นสาขาที่สำคัญทางด้านพลังงานของประเทศเนื่องจากใช้พลังงานถึงหนึ่งในสามของพลังงานที่ประเทศต้องจัดหาในแต่ละปี |
. |
ถ้าจะดูถึงพลังงานแต่ละชนิดที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า พบว่า ร้อยละ 59 ของลิกไนท์และถ่านหินนำเข้าที่ประเทศต้องจัดหามาถูกนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ส่วนก๊าซธรรมชาติที่จัดหามาได้ร้อยละ 41 ถูกนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นถูกนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าเพียงเล็กน้อย คือ เพียงร้อยละ 1.0 และอยู่ในรูปของน้ำมันเตาเป็นส่วนใหญ่ |
. |
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าในกรณีของประเทศไทยได้มีการใช้พลังงานขั้นต้นในการผลิตไฟฟ้าอยู่ 2 รูปแบบหลักๆ คือ ก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิงแข็ง ซึ่งได้แก่ ลิกไนท์และถ่านหินนำเข้า โดยใช้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานขั้นต้นที่จัดหาทั้งหมดทั้งสองรูปแบบส่วนที่เหลือเป็นการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และยังมีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำและเชื้อเพลิงหมุนเวียน |
. |
การวิเคราะห์ความสำคัญของเชื้อเพลิงแต่ละชนิดเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า อาจจะมองได้อีกลักษณะหนึ่ง คือ จากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากการใช้เชื้อเพลิงแต่ละชนิด ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการดูว่าเราพึ่งพาพลังงานชนิดใดมากหรือน้อยในการผลิตกระแสไฟฟ้า |
. |
ซึ่งพบว่าจากระบบการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และรายเล็ก (SPP) กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดในปี 2551 ร้อยละ 70 มาจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง รองลงมาคือ ลิกไนท์และถ่านหินนำเข้าที่ใช้สูงถึงร้อยละ 20.8 ดังนั้นเชื้อเพลิงทั้งสองรูปแบบจึงใช้เพื่อผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 90 ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ |
. |
ส่วนเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ มีการใช้ค่อนข้างน้อย ได้แก่ ไฟฟ้าจากเขื่อนร้อยละ 4.7 จากน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 1 จากพลังงานหมุนเวียน เช่น แกลบ ชานอ้อย และไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กต่างๆ มีสัดส่วนรวมกันเพียงร้อยละ 1.4 และยังมีการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ ลาวและมาเลเซีย อีกประมาณร้อยละ 1.9 |
. |
. |
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าระบบผลิตไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงมาก และ คำถามที่มักจะถูกถามอยู่บ่อยครั้ง คือ การพึ่งพิงพลังงานชนิดหนึ่งชนิดใด ในสัดส่วนที่สูงมากนั้น มีข้อควรพิจารณาอย่างไรและมีผลอย่างไรต่อระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งคำตอบนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพแวดล้อมหลายๆ ประการ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ |
. |
สิ่งที่มักจะถูกนำมาพิจารณาประการแรกๆ คือ ควรเป็นทรัพยากรพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และดูจะเป็นเหตุผลหลักในหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อาฟริกาใต้ และจีน ซึ่งมีทรัพยากร ถ่านหินอยู่เป็นจำนวนมาก |
. |
. |
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศเหล่านี้ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า หรือในกรณีของแคนาดา บราซิลที่มีแหล่งน้ำเป็นจำนวนมากก็ใช้น้ำเป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าหรือฝรั่งเศสซึ่งถึงแม้จะไม่มีแหล่งยูเรเนียมแต่ก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านนี้เอง จึงเลือกที่จะผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เป็นหลัก |
. |
ในทางตรงข้าม ประเทศที่ไม่มีแหล่งทรัพยากรพลังงานของตนเอง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี มักเลือกที่จะกระจายชนิดพลังงานที่จะต้องนำเข้าให้หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพลังงานชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป |
. |
. |
ปัจจัยอื่นๆ ที่ถูกนำมาพิจารณาในการเลือกชนิดพลังงานคือ ต้นทุนและความผันผวนของราคา ความมั่นคงของการจัดหาและปัจจัยที่กำลังมีผลต่อชนิดพลังงานเป็นอย่างมากคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะทางด้านก๊าซเรือนกระจกที่อาจส่งผลต่อทางเลือกชนิดพลังงานของโลกอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ |
. |
. |
ในกรณีของการวางแผนการผลิตไฟฟ้าของไทยในระยะเวลาที่ผ่านมานั้นได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกด้าน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงชนิดเชื้อเพลิงที่จะใช้ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ที่ถูกหยิบยกมาพิจารณาได้แก่ |
. |
1. ปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าต้องมีการขยายเพิ่มในแต่ละปี ขึ้นกับความต้องการไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยคำนึงถึงมาตรการอนุรักษ์พลังงานและการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานด้วย |
. |
2. ประเภทของโรงไฟฟ้าที่เหมาะสมกับความต้องการไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาของวัน เช่น โรงไฟฟ้าที่เหมาะสมที่จะเดินเครื่องอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าพื้นฐานในลักษณะ Base Load Plant หรือที่เหมาะสมสำหรับช่วงความต้องการไฟฟ้าปานกลาง |
. |
ในลักษณะกึ่ง peak หรือ intermediate Load Plant และที่เหมาะสมสำหรับช่วง Peaking Load Plant ที่มีการเดินเครื่องเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ของแต่ละวัน โดยดูถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่ ต้นทุนค่าก่อสร้าง ระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้าง เป็นต้น |
. |
3. ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภท โดยคำนึงถึงความมั่นคงของแหล่งพลังงาน ราคา แนวนโยบายของภาครัฐในด้านการจัดหาพลังงานและความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของแต่ละชนิดพลังงาน |
. |
4. สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งขึ้นกับแหล่งพลังงานแต่ละประเภท เนื่องจากจะต้องมีการขนส่งพลังงานมาใช้ผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก และยังต้องคำนึงถึงระบบสายส่งไฟฟ้า และพื้นที่ที่จะให้บริการ |
. |
5. สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าคือ ผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อม รวมถึงแหล่งน้ำ และการขจัดกากและของเสียและมลพิษต่างๆ จากการผลิตไฟฟ้า |
. |
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงและมีต้นทุนต่ำภายใต้กรอบโครงสร้างราคาที่กำหนดโดยภาครัฐ ซึ่งจะเห็นได้ว่าชนิดของเชื้อเพลิงที่จะใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่ถูกหยิบยกมาพิจารณาในการสร้างโรงไฟฟ้า |
. |
บทวิเคราะห์ตามความคิดเห็นของผู้เขียน อ. เทียนไชย จงพีร์เพียร |
. |
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน |