เนื้อหาวันที่ : 2010-01-08 12:21:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1160 views

ก.พลังงานเล็งใช้กองทุนน้ำมันรับมือราคาน้ำมันแพง

พพ. เผยกระทรวงพลังงานเตรียมใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกรับมือกับสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง หลังราคาน้ำมันดิบถีบตัวแตะ 83 ดอลลาร์/บาร์เรล คาดมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก

พพ. เผยกระทรวงพลังงานเตรียมใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกรับมือกับสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง หลังราคาน้ำมันดิบถีบตัวแตะ 83 ดอลลาร์/บาร์เรล คาดมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก

.

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)

.

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกรับมือกับสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง

.

โดยขณะนี้ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด ซึ่งล่าสุดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปิดตลาดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2553 สูงกว่า 83 ดอลลาร์/บาร์เรล นับเป็นระดับราคาสูงสุดในรอบ 14 เดือน โดยมีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชน

.

ดังนั้นจึงได้เตรียมความพร้อมในการดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นส่วนช่วยในการลดผลกระทบ รวมทั้งการเตรียมพร้อมด้านพลังงานทดแทน ทั้งเอทานอล ไบโอดีเซล ก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอและมีราคาที่เหมาะสม

.

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ประกอบกับผลผลิตปาล์มน้ำมันออกมาสู่ตลาดในปริมาณต่ำ ทำให้ราคาไบโอดีเซลให้สูงขึ้นตามไปด้วย โดยราคาประกาศล่าสุดราคาไบโอดีเซลบี 100 อยู่ที่ 31 บาท/ลิตร สูงกว่าเดือน ธันวาคม 2552 ประมาณ 4 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกร เพราะราคาผลปาล์มดิบมาอยู่ที่ 4.64 บาท/กิโลกรัม

.

ส่วนราคาเอทานอลประกาศล่าสุดไตรมาสแรกปีนี้ ราคาลดลงมาอยู่ที่ 24.33 บาท/ลิตร  จากเดือน ธันวาคม 2552 อยู่ที่ 25 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ราคาตามต้นทุนอ้างอิงย้อนหลัง 2 เดือน อย่างไรก็ตามยังเป็นห่วงราคาเอทานอลในปีนี้จะมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากวัตถุดิบ ทั้งอ้อยและมันสำปะหลังมีราคาสูงขึ้นมาก โดยล่าสุดราคามันสำปะหลัง หัวมันดิบ ราคาอยู่ที่ประมาณ 2.05 บาท/กิโลกรัม

.

อย่างไรก็ตามในปีนี้จะเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนในทุกรูปแบบให้เป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนระยะ 15 ปี  ที่มีกรอบการดำเนินการตั้งแต่ปี 2551-2565 ซึ่งแผนดังกล่าววางเป้าหมายเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ที่เน้นส่งเสริมพลังงานทดแทนให้ไทย 15.6% ในปี 2554 จากปัจุบันอยู่ที่ 6.4%

.

และยังตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกด้านพลังงานทดแทนในอาเซียนและเอเชียในปี 2560-2565 เนื่องจากเห็นว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตอุปกรณ์และพลังงานทดแทน โดยเฉพาะเอทานอล พลังงานด้านแสงอาทิตย์ โซลาเซลล์

.

ส่วนการส่งเสริมใช้เอทานอลในปีนี้จะมีโรงงานผลิตเพิ่มอีก 6 โรง กำลังการผลิต 1.97  ล้านลิตร/วัน จากเดิมที่มีโรงงาน 17 โรง กำลังการผลิต 2.58 ล้านลิตร/วัน

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน