2 เยาวชนคนเก่งไทย เผยประสบการณ์ความรู้ จาก "โครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี" สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน พร้อมนำความรู้มาพัฒนาศักยภาพของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนไทย
2 เยาวชนคนเก่งไทย เผยประสบการณ์ความรู้ จาก "โครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี" สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน พร้อมนำความรู้มาพัฒนาศักยภาพของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนไทย |
. |
. |
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมมือกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) คัดเลือกนักศึกษาที่มีศักยภาพและคุณสมบัติเหมาะสมในขั้นต้น แล้วนำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย ให้นักศึกษาเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมหลักในห้องปฏิบัติการของสถาบันเดซี ณ เมืองแฮมบวร์ก หรือเมืองซอยเธย์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน |
. |
สถาบันเดซี (Deutsches Electronen Synchotron: DESY) เป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการชั้นนำของโลก ด้านฟิสิกส์ของอนุภาคมูลฐาน และงานวิจัยที่ใช้แสงซินโครตรอน ในแต่ละปีจะมีนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจำนวนกว่า 3,400 คน เข้ามาปฏิบัติการทดลอง ณ สถาบันเดซี โดยมีการทำวิจัยทางด้านอนุภาคมูลฐานที่เน้นการใช้เครื่องเร่งอนุภาค เพื่อที่จะค้นหาอนุภาคมูลฐาน ที่เกิดจากการชนกันของอนุภาคอิเล็กตรอนและอนุภาคโปรตรอน และงานวิจัยทางด้านแสงซินโครตรอน |
. |
ซึ่งเป็นการนำเอาแสงซินโครตรอนที่ผลิตจากวงแหวนกักเก็บอนุภาค พลังงานสูง ไปใช้ประโยชน์ในงานวิจัยพื้นฐาน และงานวิจัยประยุกต์ในสาขาฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี วัสดุศาสตร์ธรณีวิทยาและแพทยศาสตร์ โดยตัวแทนเยาวชนไทยจะต้องเข้าศึกษาดูงานเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีซินโครตรอนเบื้องต้น ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จังหวัดนครราชสีก่อนเดินทางไปเข้าร่วมโครงการฯ |
. |
2 เยาวชนคนเก่งไทยที่ได้ทุนและมีโอกาสเดินทางไปเข้าร่วมโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซีใน ปี 2552 ที่ผ่านมาได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง |
. |
นายสุทธิพงษ์ วรรณไพบูลย์ หรือ น้องเบียร์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 (GPA 4.00) จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทราบข่าวการรับสมัครนักศึกษาในโครงการภาคฤดูร้อนเดซีจากทางเว็บไซต์ของโครงการฯ ประกอบกับได้รับเอกสารใบสมัครและการประชาสัมพันธ์ผ่านทางโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) |
. |
จากนั้นจึงตัดสินใจส่งใบสมัคร รายละเอียด และงานวิจัยที่มีความสนใจเข้ามา และได้รับการนำรายชื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงคัดเลือกเป็นลำดับสุดท้าย โดยได้มีโอกาสเป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการฯ นี้ ณ เมืองแฮมบวร์ก |
. |
“เนื่องจากสถาบันเดซี เป็นสถาบันวิจัยชั้นนำแห่งหนึ่งของโลกในด้านฟิสิกส์อนุภาคมูลฐาน เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค และการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการวิเคราะห์ทดสอบ ซึ่งนับเป็นสถาบันที่มีความพร้อมทุกด้านทั้งนักวิจัยและบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญ ระบบจัดการ ระบบบริหารองค์กรและสถานที่ ดังนั้นผมจึงสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี เพื่อสร้างโอกาสในการได้เข้าไปสัมผัส และเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการและพัฒนาศัยภาพในการทำงานวิจัยในเชิงลึกต่อไปได้” |
. |
การได้รับโอกาสให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อน ประจำปี 2552 ระยะเวลา 2 เดือน นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า “ทำให้ผมได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าต่างๆ มากมาย อาทิ การได้เรียนรู้และเปิดโลกทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์ผ่านทางการฟัง การบรรยายโดยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญสูง |
. |
. |
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับฟิสิกส์อนุภาคมูลฐาน เครื่องเร่ง และการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนในการวิเคราห์, การกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัยต่อไปในอนาคต, |
. |
การได้ฝึกทักษะและประสบการณ์ในการทำงานวิจัย ที่ได้รับการดูแลและความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากนักวิจัยที่ปรึกษา และการสัมผัสกับบรรยากาศการทำวิจัยอย่างจริงจัง, การเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ในต่างแดน ตลอดจนการได้รับมิตรภาพที่แสนอบอุ่นนและการเปิดกว้างให้การต้อนรับ และความช่วยเหลือ และการแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตจากเพื่อนๆ ในโครงการฯ” |
. |
นางสาวเพียรเพ็ญ สีมา หรือ นกเอี้ยง เป็นอีกหนึ่งท่านที่ได้รับทุนและเดินทางไปเข้าร่วมโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาโท ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) |
. |
“สถาบันเดซีที่เดินทางไปทำวิจัยตั้งอยู่ในเมืองซอยเธย์ (Zeuthen) มีนักศึกษาทางทั่วโลกเข้าร่วมทำวิจัยระยะสั้นทั้งหมด 15 คน จาก 10 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน ออสเตรเลีย อิสราเอล จอเจียร์ อังกฤษ และไทย |
. |
ซึ่งกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันนั้น แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงเช้าจะเน้นภาคทฤษฎี ฟังการบรรยายในเรื่องของ particle physic, accelerators & cosmology และช่วงบ่าย เน้นภาคปฏิบัติโดยทำงานวิจัยที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งงานวิจัยที่ทำเป็นการศึกษาเกี่ยวกับฟิสิกส์ของ ‘ท็อปควาร์ก’ (Top Quark)” |
. |
จากการเข้าร่วมโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี ทำให้ 2 เยาวชนคนเก่งไทยนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับการจากเข้าร่วมกิจกรรมไปต่อยอดในการพัฒนางานวิจัยของตัวเองต่อไปในอนาคต และวางแผนศึกษาต่อไปจนถึงระดับปริญญาเอก พร้อมทั้งนำความรู้ที่ได้รับกลับมาใช้ประโยชน์และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพเทคนิคการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนของประเทศไทยต่อไปให้สามารถแข่งขันกับสถาบันวิจัยในต่างประเทศได้ |