เนื้อหาวันที่ : 2010-01-07 10:24:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 615 views

แอร์เอเชีย ผนึก เจ็ทสตาร์ พลิกโฉมวงการบินต้นทุนต่ำ

สายการบินแอร์เอเชียและเจ็ทสตาร์ 2 เสือผู้นำการบินราคาประหยัดชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จับมือเป็นพันธมิตร ประกาศกลยุทธ์ลดราคาตั๋วเดินทางให้ถูกและคุ้มค่ากว่าเดิม                

.

.

ซึ่งเป็นผลจากการวางแผนร่วมกันกำหนดเครื่องบินที่มีคุณสมบัติเฉพาะให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เดินทางกับสายการบินราคาประหยัด แต่เพิ่มศักยภาพและนวตกรรมการให้บริการอันสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยมี “อลัน จอยซ์” ซีอีโอสายการบินแควนตัส ”บรู๊ซ บูชานัน” ซีอีโอสายการบินเจ็ทสตาร์ และ “โทนี่ เฟอร์นันเดรส” ซีอีโอกลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย ร่วมแถลงข่าวข้อตกลงที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

.

โทนี่ เฟอร์นันเดรส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย กล่าวว่า ความร่วมมือและการลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการรักษาความเป็นผู้นำสายการบินราคาประหยัดที่ดีที่สุดในโลกของแอร์เอเชีย แม้ว่าจะต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก แต่เราก็เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมกันดำเนินงาน เพื่อบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุด และเป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการ ที่จะสามารถบินได้ในราคาตั๋วที่ถูกลงกว่าเดิม

.

บรู๊ซ บูชานัน ซีอีโอสายการบินเจ็ทสตาร์ กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า ถือเป็นการสร้างความเข้มแข้งในการควบคุมต้นทุนต่างๆ ของสายการบินราคาประหยัดให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ลดต้นทุนได้สูงถึงปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้เจ็ทสตาร์และแอร์เอเชียจะพุ่งเป้าร่วมกันพัฒนาฝูงบินที่ทันสมัยและมีศักยภาพ ตอบสนองผู้ใช้บริการสายการบินราคาประหยัด จึงมั่นใจได้ถึงผลสำเร็จครั้งนี้แน่นอน

.

มร.อลัน จอยซ์ ซีอีโอสายการบินแควนตัส กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ส่งผลดีกับทั้งสองสายการบินในการแข่งขันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีภาวะการแข่งขันเติบโตสูงที่สุดในโลก โดยจะทำให้สามารถเจาะกลุ่มตลาดได้ง่ายขึ้น จากจุดเด่นที่มีเที่ยวบินมากกว่า และราคาค่าโดยสารที่ประหยัดกว่าสายการบินอื่นๆ

.

“แอร์เอเชียและเจ็ทสตาร์ถือผู้บุกเบิกพัฒนาการบินระยะไกลราคาประหยัด ซึ่งการเป็นพันธมิตรครั้งนี้เป็นการพลิกโฉมรูปแบบพันธมิตรแบบเดิมสู่แบบใหม่ ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่ดียิ่งขึ้น”

.

ทั้งนี้ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาครั้งนี้มีขอบเขตที่น่าสนใจต่างๆ ทั้งการร่วมกันกำหนดลักษณะฝูงบินที่มีศักยภาพและออกแบบตอบสนองกับความต้องการของโลว์คอสมากที่สุด การพัฒนาระบบการบริหารลานจอดและขนส่งสัมภาระ ระบบบริหารด้านวิศวกรรมและการซ่อมบำรุงต่างๆ การใช้คลังอุปกรณ์เครื่องบินร่วมกัน รวมทั้งระบบจัดการดูแลและถ่ายโอนผู้โดยสารของทั้งสองสายการบิน เป็นต้น