เนื้อหาวันที่ : 2010-01-05 16:23:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1185 views

สสว. แนะผู้ส่งออกปรับตัวรับเวียดนามลดค่าเงินด่อง

สสว.แนะผู้ประกอบการ SMEs ส่งออกปรับตัวรับการแข่งขันด้านต้นทุน หลังเวียดนามประกาศลดค่าเงินด่อง จี้รัฐดูแลค่าเงินบาทรับสถานการณ์แข่งขันดุเดือดในภูมิภมค

สสว.แนะผู้ประกอบการ SMEs ส่งออกกลุ่มเกษตรแปรรูป สัตว์น้ำแปรรูป เนื้อสัตว์แปรรูป พืชทุกชนิด รวมถึงแฟชั่น ปรับตัวรับการแข่งขันด้านต้นทุน หลังเวียดนามประกาศลดค่าเงินด่อง แนะรัฐบาลดูแลค่าเงินให้สอดรับสถานการณ์การแข่งขันในภูมิภาค

.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.)

.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยว่า การลดค่าเงินด่องของเวียดนามลงมา 5% ปัจจุบันยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ของไทยมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs ได้มีการส่งสินค้าที่เกิดขึ้นจากคำสั่งซื้อก่อนหน้านี้ไปหมดแล้ว

.

แต่ในอนาคตภาคการส่งออกของผู้ประกอบการ SMEs ย่อมต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยกับเวียดนามเป็นคู่ค้าและคู่แข่งกัน ซึ่งจะทำให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องของต้นทุนสินค้า

.

จากการศึกษาวิเคราะห์ของ สสว. พบว่า สินค้าที่จะได้รับผลกระทบในอนาคต ได้แก่ สินค้าประเภทเกษตรแปรรูป สัตว์น้ำแปรรูป โดยเฉพาะสัตว์น้ำแปรรูป อย่าง ปลากระป๋อง ผลิตภัณฑ์จากปลา ไม่ว่าจะเป็น ปลาทู ปลาเค็ม ปลาแห้ง น้ำปลา ฯลฯ เนื้อสัตว์แปรรูป พืชทุกชนิด (ธัญพืช) แฟชั่นต่างๆ

.

เช่น สิ่งทอ เครื่องหนัง และอัญมณี โดยมีมูลค่าในการส่งออกรวมกันกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสินค้าเหล่านี้แม้ในสายตาของต่างประเทศจะมองว่า ไทยมีคุณภาพ แต่ปัจจุบันเวียดนามก็สามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าเหล่านี้ขึ้นมา ขณะที่สินค้าบางอย่างของไทย รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ยังตามหลังเวียดนามอยู่

.

“แม้เวียดนามจะทำการลดค่าเงิน แต่จากภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Warming) ทำให้ในปีหน้า ความต้องการของตลาดโลกในเรื่องของผลิตภัณฑ์เกษตรยังคงสูงอยู่ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถพยุงตัวอยู่ได้จากคำสั่งซื้อที่เข้ามา แต่ก็ไม่สามารถประมาทได้

.

เนื่องจากปัจจัยบวกที่เข้ามา เป็นปัจจัยบวกที่มาจากธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจะมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่”

.

นายยุทธศักดิ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจในปีหน้า แม้หลายประเทศจากออกมาบอกว่า เศรษฐกิจโลกจะดีดตัวกลับมา ซึ่งตนมองว่า จะเป็นการกลับมาแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มทรงตัว  ขณะเดียวกัน ยังมีความเปราะบางในด้านอื่นให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของการแข่งขันที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งในปีหน้าแต่ละประเทศคงจะมีกลยุทธ์ต่างๆ ออกมาให้ได้เห็นกัน

.

ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ของไทย ต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน การส่งออกที่มีเรื่องความสมดุลของค่าเงินบาทต่อสถานการณ์ในภูมิภาค

.

อย่างไรก็ตามปี 2553 มูลค่าตลาดของ SMEs ในระบบวัดจากรายได้สุทธิ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 6 -7  ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปี 2552 ร้อยละ 3-4 โดยเป็นการส่งออก 1.6 -1.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4 - 5 (รวมการส่งออกทั้งหมด); กำไรปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 6 โดยมี ผลิตภาพแรงงานประมาณ 80,000 บาท:คน:ปี ปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 และ ผลิตภาพทุน 0.23 เท่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.52 ตามลำดับ

.

“แรงบีบคั้นเหล่านี้ นอกจากผู้ประกอบการ SMEs ของไทย จะต้องรองรับแล้ว รัฐบาลเองก็ต้องรองรับด้วย โดยเฉพาะการหาแนวทางเกี่ยวกับการความสมดุลของค่าเงินบาทกับสถานการณ์ปัจจุบันในภูมิภาค และสถานภาพการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งถ้าเรามีการดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ต่อให้เวียดนามหรือจีนลดค่าเงิน เราก็จะไม่กระทบเท่าไหร่

.

เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา ไทยมีจุดแข็งกว่าจีนที่เห็นภาพได้ชัดก็คือ ความมีธรรมาภิบาล คุณภาพสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง ไทยยังมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าจีนในตลาดโลก” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

.
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม