เนื้อหาวันที่ : 2010-01-05 12:20:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1586 views

เศรษฐกิจไทย...เมื่อเครื่องยนต์ส่งออกเริ่มขับเคลื่อน

หลังสัญญาณเศรษฐกิจคู่ค้ามีแนวโน้มฟื้นตัว ภาคส่งออกและภาคการผลิตของไทยต่างทยอยปรับตัวดีขึ้น ทำให้สศค.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2553 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกหลังหดตัวในปี 2552

บทวิเคราะห์เรื่อง เศรษฐกิจไทย...เมื่อเครื่องยนต์ส่งออกเริ่มขับเคลื่อน1

.

.
บทสรุปผุ้บริหาร

-  เดือนพฤศจิกายน 2552 มูลค่าสินค้าส่งออกขยายตัวครั้งแรกในรอบ 13 เดือนที่ร้อยละ 17.2 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าหดตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ -2.2 ต่อปี ส่งผลให้ดูลการค้าเกินดุล 1,058 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากไม่นับรวมถึงการส่งออกทองคำแล้ว มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี

.

- ปริมาณการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 4 ปี 2552 เริ่มกลับมามีทิศทางขยายตัวชัดเจนขึ้น โดยขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี จากไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -15.9 ต่อปี จากการที่เครื่องยนต์ใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ GDP ในไตรมาส 4 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ สศค.คาดว่า GDP ของประเทศไทยในไตรมาส 4 จะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี

.

- จากสัญญาณเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จะทำให้ภาคส่งออกและภาคการผลิตของไทยปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553 รวมถึงปัจจัยเกื้อหนุนจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ทำให้สศค.คาดว่าในปี 2553 นี้ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ หลังจากที่หดตัวในปี 2552

.
1. ส่งออก-นำเข้าไทยในเดือนพฤศจิกายน 2522 ก้าวเข้าสู่ทิศทางการขยายตัว

.

- มูลค่าสินค้าส่งออกอยู่ที่ 13,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 17.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 13 เดือน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552  มูลค่าสินค้าส่งออกหดตัวร้อยละ -17.0 ต่อปี  

.

ขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าอยู่ที่ 12,782 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี หดตัวชะลอลงมาจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -17.5 ต่อปี โดยหดตัวร้อยละ -28.9 ต่อปีในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัว ทำให้ดุลการค้าเดือนพฤศจิกายน 2552 เกินดุลที่ 1,058 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรวมทั้งหมด 11 เดือนของปี 2552 ดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

- สำหรับการส่งออกที่หักทองคำในเดือนพฤศจิกายน 2552 ขยายตัวร้อยละ 16.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.4 ต่อปี ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือนเช่นกัน ขณะที่ปริมาณการส่งออกและราคาสินค้าส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.1 และ 7.4 ต่อปี ตามลำดับ

.

นอกจากนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกที่หักทองและขจัดผลทางฤดูกาล (Seasonally Adjusted) แล้วพบว่า การส่งออกที่หักทองในเดือนพฤศจิกายนขยายตัวจากเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 0.2 ต่อเดือน ซึ่งนับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึงเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทย

.

.

- ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2552 ขยายตัว ได้แก่ 1) เศรษฐกิจคู่ค้าหลักได้กลับสู่ภาวะฟื้นตัวหลังจากที่หดตัวมากในช่วงไตรมาสแรก ทำให้มีคำสั่งซื้อกลับมาในช่วงไตรมาส 2 และ 3 และส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 และ 4

.

2) ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี จากผลของราคาสินค้าเกษตรและเชื้อเพลิง ที่ขยายตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 20.2 และ 29.9 ต่อปี ตามลำดับ เป็นอีกแรงผลักดันทำให้การส่งออกไทยขยายตัว 3) ปัจจัยฐานต่ำ โดยวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ ส่งผลกระทบทำให้การส่งออกของไทยหดตัวครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2551 จังเป็นปัจจัยฐานต่ำ ส่งผลดีต่อการคำนวณอัตราการขยายตัว

.

- ปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2552 หดตัวชะลอลงมาก ได้แก่ 1) การนำเข้าสินค้าทุน หักเครื่องบิน เรือ และรถไฟกลับมาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้มีการนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มขึ้น 2) อุปสงค์ภายในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 18.8 ต่อปี ขณะที่การนำเข้ายานพาหนะขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 29.9 ต่อปี

.

- เมื่อพิจารณารายสินค้าและรายประเทศ จะพบว่า สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ รถยนต์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ส่งออกได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักกลับมาขยายตัวในเดือนนี้ ยกเว้นญี่ปุ่นที่ยังคงหดตัวอยู่เล็กน้อย

.

โดยการส่งออกไปยังประเทศจีนในเดือนพฤศจิกายน 2552 ขยายตัวถึงร้อยละ 77.1 ต่อปี ทำให้ประเทศจีนมีบทบาทต่อการส่งออกของไทยมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นมีปัญหา ทั้งนี้ สามารถสรุปสินค้าส่งออกสำคัญ 7 รายการ (มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 33.4 ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมดของไทย) ที่มีการขยายตัวไปยังในแต่ละประเทศได้ ดังนี้  

.

.
2. คาดการณ์ส่งออกจากสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

การคาดการณ์การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 นั้น มีสมมุติฐานคือเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ ซึ่งหากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น การส่งออกไทยย่อมปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยประเทศคู่ค้าที่จะพิจารณาประกอบไปด้วย กลุ่มยูโรโซน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งมีสัดส่วนรวมร้อยละ 43.8 ของการส่งออกไทยในปี 2551 

.

สำหรับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณา ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ยอดค้าปลีก การนำเข้าของประเทศจีน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

.

- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) เป็นดัชนีที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ใช้เป็นดัชนีชี้นำ (Leading indicator) ของสภาพเศรษฐกิจนั้น ๆ  โดยดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ดัชนีที่ต่ำกว่า 50  บ่งชี้ถึงการหดตัว โดย ดัชนี้ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยล้วนแล้วแต่กลับมาอยู่ในระดับที่บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมทั้งสิ้น

.

อย่างไรก็ตาม ระดับดัชนี้ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในปี 51 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยตัวเลขล่าสุด ณ เดือน พฤศจิกายน 2552 อยู่ที่ระดับ 52.3 จากระดับ 54.3 ในเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่เริ่มขยายตัวชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับปกติก่อนวิกฤตได้ 

.

.

- ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการบริโภคเอกชนที่สำคัญ ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศที่เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากจากอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งหากดูทิศทางแล้ว พบว่านอกจากยูโรโซนแล้ว ยอดค้าปลีกของคู่ค้าหลักของไทยล้วนแล้วแต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งจะบ่งชี้ถึงความสามารถในการส่งออก ทั้งสินค้าขั้นกลางและสินค้าสำเร็จของไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น

.

.

- ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อรายได้ของผู้บริโภค ทั้งนี้ หากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้การบริโภคโดยรวมจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้

.

ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางและสินค้าสำเร็จ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าคงทุน โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของประเทศคู่ค้าหลักของไทยนั้น ล้วนแล้วแต่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

.

- การนำเข้าที่เร่งขึ้นของประเทศจีน  จีนเป็นประเทศที่ช่วยฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกไม่ให้หดตัวตามที่ควรจะเป็น ผ่านช่องทางการนำเข้าที่ได้รับแรงสนับสนุนจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากจีนส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในภูมิภาคที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ รวมถึงไทยด้วย

.

ซึ่งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2552 การนำเข้าของจีนขยายตัวถึงร้อยละ 26.7 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.4 ต่อปีซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบัน เราสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่า ในอนาคต จีนจะมีบทบาทที่มากขึ้นในวงการการค้าโลก

.

.

แม้ยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราการว่างงาน โดยเฉพาะสหรัฐฯและยูโรโซนที่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับที่สูง แต่สศค. คาดว่า สถานการณ์การว่างงานจะมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงสัญญาณทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ทำให้สศค. คาดว่า การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 ปี 2552 ต่อเนื่องไปถึงปี 2553 จะมีทิศทางที่สดใส

.
3. วิพากย์ GDP ในไตรมาส 4 ผ่านช่องทางการส่งออก 

ที่มา : สศช., สศอ., คำนวณโดยสศค.
.

- ปริมาณการส่งออกของไทยใน 2 เดือนแรกของไตรมาส 4 ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การส่งออกในเดือนธันวาคม 2552 จะขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกในไตรมาส 4 จะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 0.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -15.8 ต่อปี เป็นที่ชัดเจนว่าภาคการส่งออกของไทยหลุดพ้นจากการหดตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

.

- ปริมาณการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนทำให้เกิดกิจกรรมการผลิตเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมใน 2 เดือนแรกของไตรมาส 4 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.5 ต่อปี รวมทั้งส่งผลให้การว่างงานในเดือนตุลาคม 2552อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และจะเป็นแรงผลักดันให้การบริโภคกลับมาขยายตัวอีกครั้ง  

.

รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่อยู่ที่ร้อยละ 60.3 ของกำลังการผลิต ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ โดยจะส่งผลให้การลงทุนปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

.

- สำหรับประเทศไทย การส่งออกมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ด้านอุปสงค์ ขณะที่ด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนสูงเช่นกันที่ร้อยละ 40.2 ของ GDP ดังนั้น การส่งออกและดัชนีภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้ในไตรมาส 4 รวมถึงมีปัจจัยเกื้อหนุนจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GDP ในไตรมาส 4 ของไทยกลับมาขยายตัวได้

.

ทั้งนี้ สศค.คาดว่า GDP ของประเทศไทยในไตรมาส 4 จะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2552

.

1ผู้เขียน นายก่อพงษ์ บุญยการ เศรษฐกรตรี และดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ เศรษฐกรระดับปฏิบัติการ ส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ขอขอบคุณ ดร.สิริกมล อุดมผล สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่น
ขอขอบคุณ คุณพงศ์นคร โภชากรณ์ สำหรับคำแนะนำ

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง