โครงสร้างสังคมเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 เป็นที่สนใจของนักคิดหลายคน และได้เกิดแนวคิดหาวิธีการจัดการต่าง ๆ ขึ้น กระทั่งกระแสโลกาภิวัฒน์ เกิดขึ้นทำให้โลกถึงกาลเปลี่ยนแปลงด้วยแรงขับเคลื่อนจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
The 21st Century Economy |
. |
วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ |
. |
. |
คอลัมน์ Macroeconomic Outlook ฉบับต้อนรับปีใหม่ 2553 นี้ ผู้เขียนขอเริ่มต้นศักราชใหม่ด้วยซีรีส์เศรษฐกิจชุด “The 21st Century Economy” ครับ |
. |
ความหมายของคำว่า The 21st Century Economy นั้นถ้าแปลตรงตัวก็หมายถึง “เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21” นั่นเองครับ อย่างไรก็ตามความพิเศษของเศรษฐกิจในศตวรรษนี้อยู่ที่โครงสร้างสังคมเศรษฐกิจของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป |
. |
จะว่าไปแล้วมีนักคิดชาวตะวันตกหลายคนที่สนใจการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ซึ่งหนึ่งในนักคิดคนสำคัญที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เห็นภาพพจน์มากที่สุด คือ อัลวิน ทอฟเลอร์ (Alvin Toffler) นักอนาคตศาสตร์ (The Futurist) ชาวอเมริกันครับ |
. |
ทอฟเลอร์เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจโลกอยู่หลายเล่มโดยหนึ่งในหนังสือเล่มดังของเขาก็คือ The Third Wave ซึ่งตีพิมพ์เมื่อสามสิบปีที่แล้วครับ |
. |
The Third Wave ของทอฟเลอร์ได้กลายเป็นหนังสือคลาสสิคที่บอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตโดยทอฟเลอร์เชื่อว่าสังคมเศรษฐกิจโลกนั้นมีพัฒนาการเป็นพลวัตเปลี่ยนแปลงคล้ายลูกคลื่น (Wave) ครับ |
. |
โดยคลื่นลูกที่หนึ่งนั้นเป็นคลื่นของการปฏิวัติเกษตรกรรม (Agricultural Revolution) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐาน เริ่มทำการเพาะปลูกและพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับการทำมาหากิน อย่างไรก็ตามคลื่นลูกแรกถูกแทนที่ด้วยคลื่นลูกที่สองในศตวรรษที่ 18 เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ขึ้นในยุโรป ซึ่งคลื่นลูกที่สองนี้กินระยะเวลามาจนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 20 |
. |
การเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจในช่วงคลื่นลูกที่สองนั้น ทอฟเลอร์ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกตั้งอยู่บนพื้นฐานของการผลิตและการบริโภคมวลรวม (Mass Production and Mass Consumption) พูดง่าย ๆ ก็คือทุกอย่างเป็น Mass หมดครับ |
. |
ด้วยเหตุนี้เองสังคมจึงจำเป็นต้องหาวิธีการจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดตั้งแต่การยึดระบบตลาดเสรีหรือกลไกตลาดในการจัดสรรทรัพยากร เกิดแนวคิดเรื่องการแบ่งงานกันทำเพื่อสร้างความชำนาญในการผลิต ไปจนกระทั่งการสร้างรัฐราชการสมัยใหม่รวมถึงการบริหารจัดการองค์กรรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อมาตอบสนองการเปลี่ยนแปลงไปของสังคม |
. |
ทั้งนี้องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เราศึกษากันในตำราเรียนนั้นล้วนมาจากการค้นพบในคลื่นลูกที่สองทั้งสิ้นครับอย่างไรก็ตามทอฟเลอร์เชื่อว่าคลื่นลูกที่สองมาหยุดลงในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาสังคมเศรษฐกิจโลกได้ก้าวเข้าสู่คลื่นลูกที่สามหรือ The Third Wave ครับ |
. |
The Third Wave หนังสือคลาสสิคของ อัลวิน ทอฟเลอร์ |
. |
พลังสำคัญที่ทำให้คลื่นลูกที่สามนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ คือ พลังของโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสาร |
. |
อย่างไรก็ตามคลื่นลูกที่สามเป็นคลื่นที่มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของสังคมเศรษฐกิจท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ความไร้ระเบียบ” เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ครับ |
. |
ความไร้ระเบียบ (Chaos) ดังกล่าวถูกสะท้อนผ่านการแย่งชิงทรัพยากรที่นับวันจะมีแต่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เกิดการเก็งกำไรในตลาดเงินตลาดทุนจนทำให้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้ง เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการถลุงใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างไม่บันยะบันยัง เกิดปัญหาการต่อต้านองค์กรโลกบาลต่าง ๆ อย่าง WTO หรือ IMF เนื่องจากคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับวิถีทางการพัฒนาของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ เป็นต้น |
. |
หนังสือเรื่อง The Third Wave ของทอฟเลอร์ได้กลายเป็นหมุดหมายเริ่มต้นของการศึกษาวิชาอนาคตศาสตร์ (ที่ไม่ใช่การทำนายดวงชะตา) อย่างจริงจังเนื่องจากทอฟเลอร์ได้ใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์สังคมเศรษฐกิจมาร้อยเรียงอธิบายการเปลี่ยนแปลงของโลกในแต่ละยุคสมัยจนมีคนขนานนามแนวคิดของเขาว่าเป็น Toffler Wave Theory ครับ |
. |
หลังจากทอฟเลอร์โด่งดังจาก The Third Wave แล้ว เขาได้เขียนหนังสือที่เป็นภาคต่อออกมาอย่างน้อยสองเล่มที่น่าสนใจ คือ Powershift: Knowledge, Wealth and Violence at the Edge of the 21st Century ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1993 และ Revolutionary Wealth ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2006 โดยหนังสือทั้งสองเล่มเปรียบเสมือนภาคขยาย The Third Wave ที่ทำให้เราเข้าใจโลกในศตวรรษที่ 21 ได้ชัดเจนมากที่สุด |
. |
อัลวิน ทอฟเลอร์ (Alvin Toffler) |
. |
หนังสือแนวอนาคตศาสตร์ที่โด่งดังอีกเล่มหนึ่งที่กล่าวถึงสังคมเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 คือ หนังสือเรื่อง The World Is Flat: A Brief History of the Twenty-First Century ของโทมัส แอล ฟรีดแมน (Thomas L Friedman) นักเขียนและคอลัมน์นิสต์ชื่อดังชาวอเมริกัน |
. |
The World is Flat ว่าด้วยเรื่องราวที่เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 ครับ โดยฟรีดแมนตั้งข้อสังเกตในเรื่องโลกาภิวัฒน์ไว้ว่ามันได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 อย่างไร |
. |
ฟรีดแมนเห็นว่าการที่โลกเราทุกวันนี้ดู “แบน” ลงเหตุผลหนึ่งมาจากการขยายตัวของอัตราการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลตลอดจนการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตมากยิ่งขึ้นซึ่งฟรีดแมนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Globalization 3.0 ครับ |
. |
The World is Flat หนังสือสร้างชื่อของโทมัส ฟรีดแมน |
. |
Globalization 3.0 มีพัฒนาการมาจาก Globalization 1.0 และ 2.0 ภายใต้การนำเอาเทคโนโลยีเครือข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Micro) มาใช้ โดยในช่วงเริ่มต้น Globalization 1.0 เป็นการเชื่อมโยงติดต่อกันในระดับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์ในเรื่องความมั่งคงของชาติเป็นหลัก |
. |
ขณะที่ Globalization 2.0 เป็นการขยายตัวการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมาสู่ภาคเอกชนซึ่งเน้นประโยชน์ทางด้านการค้าการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และท้ายที่สุด Globalization 3.0 นั้นเทคโนโลยีดังกล่าวได้ทำให้ประชากรของโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยไม่มีอุปสรรคเรื่องระยะทางอีกต่อไป |
. |
โทมัส แอล ฟรีดแมน (Thomas L. Friedman) |
. |
ในหนังสือเล่มนี้ ฟรีดแมนได้พูดถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้โลกใบนี้ดูแบนลงในศตวรรษที่ 21 |
. |
เหตุการณ์ที่ว่านี้เริ่มต้นตั้งแต่การทุบกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์, การถือกำเนิดขึ้นของ Netscape จุดเริ่มต้นของ Web Browser ที่ทำให้อินเตอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งจำเป็นในโลกปัจจุบัน, การพัฒนา Workflow Software ที่ช่วยให้เครื่องจักรสามารถสื่อสารกันได้เองโดยไม่ต้องอาศัยมนุษย์, |
. |
การเกิดชุมชนออนไลน์ใหม่ที่เรียกว่า Upload Communities ซึ่งทำให้เกิดวัฒนธรรมการสร้างสารานุกรมเสรีอย่าง Wikipedia หรือ การเขียน Blog ส่วนตัวบนโลกอินเตอร์เน็ตส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ขึ้นครั้งใหญ่, การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อลดต้นทุนในการผลิต เช่น การจ้างงานโดยวิธี Outsource, การค้าปลีกสมัยใหม่ภายใต้แนวคิดเรื่องของ Supply Chain เป็นต้น |
. |
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นจุดเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 ที่ฟรีดแมนเชื่อว่าโลกใบนี้มีลักษณะ “แบน” ในเชิงสังคมเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากวิกฤตการณ์ซับไพร์มในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2008 หรือ วิกฤตดูไบเวิล์ด เมื่อปลายปี 2009 จะส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะโลกใบนี้ล้วนเชื่อมโยง หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ผลประโยชน์ทางการค้าเศรษฐกิจ |
. |
นอกจากนี้ยังเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม จนทำให้เกิดรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาทั้งในแง่ของภาษา การแต่งกายตลอดจนเกิดการเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาจนเป็นที่มาของคำว่า เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ไงล่ะครับ |
. |
พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ…สวัสดีปีใหม่ครับ |
. |
เอกสารประกอบการเขียน |
1. Alvin Toffler, The Third Wave (1980) Bantam Books |