ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จี้รัฐชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์การเสนอขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือของโรงงานน้ำตาล หวั่นโรงงานชะลอขายไฟส่งผลกระทบต่อคนใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ วอนอย่ามองโรงงานน้ำตาลเป็นโรงไฟฟ้า
คณะทำงานด้านเอทานอลและพลังงานชีวมวล บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กระตุ้นภาครัฐมีความชัดเจนเรื่องกฏเกณฑ์การเสนอขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ของโรงงานน้ำตาล หวั่นโรงงานชะลอขายไฟส่งผลกระทบต่อคนใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ |
. |
ย้ำตั้งโรงงานมาเพื่อผลิตน้ำตาล ไม่ได้ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าขาย จึงไม่ใช่โรงไฟฟ้า และมีกรมโรงงานควบคุมอยู่แล้ว ไม่อยากให้คุมซ้ำซ้อน ชี้การนำกากชานอ้อยมาเป็นเชื้อเพลิงคือการนำของเสียมาใช้ประโยชน์ ลดการพึ่งพา น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซ |
. |
. |
รายงานข่าวจากคณะทำงานด้านเอทานอลและพลังงานชีวมวล บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด องค์กรที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมของคณะทำงานด้านเอทานอลและพลังงานชีวมวลได้มีการหารือในประเด็นการผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาล ซึ่งปกติจะผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในโรงงาน และส่วนที่เหลือใช้จะขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยได้ดำเนินการเช่นนี้มากว่า 15 ปีแล้ว |
. |
แต่ในอนาคตอาจประสบปัญหาเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะกำหนดให้ “โรงงานน้ำตาล” ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้นี้ถูกจัดเข้ากลุ่มของ “โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน” โดยทั่วไป ซึ่งอาจทำให้โรงงานน้ำตาลมีปัญหาในการขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฯ ซึ่งจะต้องถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานอื่นที่ถือเป็นการกำกับดูแลที่ซ้ำซ้อนกับที่กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลโรงงานน้ำตาลอยู่แล้ว |
. |
รายงานข่าวระบุว่า ผลกระทบที่จะเกิดตามมาจากเรื่องดังกล่าวก็คือ พลังงานไฟฟ้าที่โรงงานน้ำตาลเคยขายให้กับการไฟฟ้าฯ จะสูญหายไปจำนวนหนึ่ง |
. |
โดยข้อมูลในปี พ.ศ.2552 พบว่าโรงงานน้ำตาลที่ได้รับอนุญาตให้ขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้มีจำนวนทั้งสิ้น 36 โรงงาน เสนอขายไฟฟ้ารวมจำนวน 269.8 เมกะวัตต์ และอยู่ในระหว่างดำเนินการขออนุญาตที่จะเสนอขายอีก 2 โรงงาน อาจจะชะลอดูท่าทีและนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจน และความคุ้มค่าต่อการลงทุนในเรื่องดังกล่าว |
. |
“พลังงานไฟฟ้าที่โรงงานน้ำตาลผลิตได้นี้ เกิดจากเชื้อเพลิงธรรมชาติจำพวกกากชานอ้อย ซึ่งเป็นการนำของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ เมื่อผลิตไฟฟ้าได้แล้ว หากไม่ได้ขายเข้าสู่ระบบเพื่อให้ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ด้วย ก็ถือเป็นการสูญเปล่าที่น่าเสียดาย ในขณะที่เรากำลังต้องการลดการพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนับวันจะหมดไปจากโลก” |
. |
คณะทำงานด้านเอทานอลและพลังงานชีวมวล บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยอีกว่า กลุ่มผู้ประกอบการได้แจ้งความวิตกกังวลในเรื่องนี้ต่อหน่วยงานของรัฐแล้ว เพื่อต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบทุกหน่วยงาน ได้มีความชัดเจนในการดำเนินการทั้งในปัจจุบันและอนาคต ต่อการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานของอุตสาหกรรมน้ำตาล หรืออุตสาหกรรมประเภทอื่นที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในส่วนที่เหลือใช้ |
. |
โดยยึดเกณฑ์มาตรฐานของอุตสาหกรรมหลักเป็นสำคัญ เช่น โรงงานน้ำตาล ที่ใช้กากชานอ้อยมาผลิตไฟฟ้า หรือโรงสีข้าว และโรงงานผลิตข้าวถุง ที่ใช้แกลบผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง และไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน |
. |
ทั้งนี้ ในด้านของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น โรงงานน้ำตาลถูกควบคุมมลพิษภายใต้มาตรฐานที่เข้มงวดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 อยู่แล้ว มีการควบคุมทั้งปริมาณฝุ่นในอากาศ ปริมาณน้ำเสียจากโรงงาน หากมีมลพิษสูงกว่าค่ามาตรฐาน อาจถูกสั่งปิดโรงงานได้ |
. |
นอกจากนี้ จากกระแสโลกร้อน ทำให้โรงงานน้ำตาลทุกแห่งตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น โดยทางกลุ่มโรงงานน้ำตาลยังได้ร่วมกันรณรงค์ให้ชาวไร่อ้อยลดการเผยอ้อย เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย |
. |
ในส่วนการผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาลนั้น ไฟฟ้าไม่ใช่กิจการหลัก เพราะกิจการหลักอยู่ที่การผลิตน้ำตาล และในกระบวนการผลิตก็ต้องอาศัยทั้งพลังงานความร้อนจากไอน้ำและพลังงานไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนเครื่องจักรในการผลิต จึงมีอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นส่วนควบรวมอยู่ด้วย |
. |
ส่วนที่ขายไฟเข้าระบบของการไฟฟ้าฯ ก็เป็นการเชื่อมต่อในเรื่องของสายส่งเท่านั้น ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อมหรือแม้แต่สุขอนามัยของชุมชนในพื้นที่ และที่สำคัญไฟฟ้าที่ผลิตจากกากชานอ้อยก็ถือเป็นการลดภาระด้านมลพิษและเป็นการนำเศษวัสดุที่เหลือจากการผลิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์ถือเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย |