รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแนวคิดกองทุนลูกจ้างต้นแบบขับเคลื่อนแล้ว ชี้แก้ปัญหาสวัสดิการ พร้อมเปิดตัวให้ผู้สนใจร่วมลงทุน ธค. นี้ แนะคนไทยสร้างระบบสวัสดิการเอง อย่าหวังพึ่งรัฐ |
. |
ในเวทีโครงการปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 23 รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอหัวข้อ “ระบบสังคมสวัสดิการ” โดยเห็นว่า สังคมไทยควรใช้ระบบสังคมสวัสดิการแทนระบบรัฐสวัสดิการ ไม่ต้องพึ่งรัฐฝ่ายเดียว ทั้งนี้ยังได้เสนอโมเดลแนวคิดธนาคารลูกจ้าง เป็นตัวอย่างการสร้างสังคมสวัสดิการ |
. |
รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กล่าวถึงระบบรัฐสวัสดิการของไทยว่า ช่วยเหลือประชาชนไม่ทั่วถึง ซึ่งสังคมไทยไม่พร้อมให้รัฐสร้างระบบสวัสดิการ เหตุมีปัญหางบประมาณการจัดเก็บภาษีของรัฐที่ไม่เข้าเป้า มีการแทรกแซงนโยบายโดยนักการเมือง |
. |
ซึ่งทางออกที่จะสร้างสวัสดิการให้ประชาชนอย่างยั่งยืนควรให้สังคมร่วมสร้างระบบสวัสดิการขึ้นเอง ไม่ต้องพึ่งรัฐฝ่ายเดียว ขณะนี้รัฐบาลเห็นด้วยกับแนวทางการสร้างสังคมสวัสดิการ (Welfare Society) เป็นกลไกกระจายรายได้ และกำหนดให้สังคมสวัสดิการ เป็นวาระแห่งชาติแล้วเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2552 |
. |
“ปัญหาความยากจนของคนไทยไม่ได้เกิดจากปัญหารายได้อย่างเดียว เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด ทำให้คนจนทั้งทรัพย์ สิทธิ อำนาจ และศักดิ์ศรี การแก้ปัญหานี้ต้องใช้ระบบสวัสดิการพื้นฐานเป็นตัวกระจายรายได้ ให้ครอบคลุมการบริการทางสังคม ประกันสังคม และการสงเคราะห์สังคม โดยรัฐผิดชอบหลักการให้บริการสังคม ส่วนด้านอื่นให้สังคมร่วมกันสร้างและรับผิดชอบ” รศ.ดร. ณรงค์ กล่าว |
. |
ปัจจุบันประเทศไทยมีคนจน 17 ล้านคน 14 ล้านคนเป็นลูกจ้างในระบบที่เหลือเป็นลูกจ้างนอกระบบ เราสามารถใช้ธนาคารลูกจ้างช่วยการกระจายรายได้แก่แรงงานได้ หลักการ คือ สร้างกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนแรงงานแล้วขยายเป็นธนาคารลูกจ้าง |
. |
ให้สร้างแหล่งสะสมเงินออมและเงินกู้ให้แรงงานสามารถกู้ยืมเงินไปสร้างอาชีพ และใช้กินอยู่ได้ โดยกำหนดดอกเบี้ยฝากเงิน 1% กู้ 8% ไม่ต้องกู้นอกระบบ ให้คนงานรวมกลุ่มคนละ 3 หรือ 5 คน เพื่อเข้าชื่อกู้ยืม |
. |
“เราต้องสร้างแกนนำ 50 คน เพื่อไปสร้างกลุ่มเรียนรู้ให้แรงงานเข้าใจเรื่องธนาคารก่อน เกิด 50 กลุ่มการเรียนรู้ ตั้งเป้าปีแรกจะมี 4 รุ่นก็เกิด 200 กลุ่ม จะมีสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ปีแรก 4,000 คน ปีที่สอง 20,000 คน ปีที่สาม 100,000 คน และภายใน 5 ปีจะมีสมาชิกเป็นล้านคน |
. |
ภายใน 10 ปีก็จะสามารถเข้าถึงแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบจำนวน 37 ล้านคนได้ คาดว่า จะเข้าถึงคนจนได้แน่ ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคมนี้ จะเปิดตัวแนวคิดธนาคารลูกจ้างแก่ผู้สนใจร่วมทุน” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว |
. |
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาได้พยายามเสนอแนวคิดธนาคารลูกจ้าง ต่อภาครัฐแล้ว 2 ครั้ง แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ทั้งมีการเกรงกันว่า ถ้าธนาคารลูกจ้างนี้ขยายตัวขึ้นอาจกระทบกับธนาคารพาณิชย์ได้ ที่สำคัญแนวคิดนี้สร้างกำไรน้อยมากต่อผู้ประกอบการเพราะเป็นการกุศล เพื่อสังคม ขณะนี้กำลังดึงแนวร่วมภาคมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมวิจัยเพื่อหาแนวสร้างที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่นต่างๆ ต่อไป |
. |
“เราจะใช้ธนาคารลูกจ้างสร้างฐานเศรษฐกิจ กระจายรายได้และสร้างสังคมสวัสดิการผลักดันให้เกิด กองทุนเพื่อการเรียนรู้ของกลุ่มแรงงาน กองทุนพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เกิดหอพักคนงาน กลุ่มร้านค้าของ ศูนย์พัฒนาฝีมือและอาชีพ กองทุนสวัสดิการต่าง ฯลฯ ผลจะทำให้แรงงานพึ่งพากันเองได้ เกิดการเกื้อกูลกัน เกิดพลังมวลชน รวมทั้งช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานในชุมชน” รศ.ดร. ณรงค์ กล่าว |