เนื้อหาวันที่ : 2007-01-10 09:13:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1284 views

เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียแบบตรึงฟิล์มประสิทธิภาพเยี่ยมคุ้มค่าต่อการลงทุน

สวทช.จับมือพันธมิตร ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน ล่าสุดหนุน 4 โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังให้หันมาใช้เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์ม มั่นใจประสิทธิภาพดีเหนือกว่าการใช้ระบบบ่อเปิดแบบเดิม

 .

สวทช.จับมือพันธมิตร ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน ล่าสุดหนุน 4 โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังให้หันมาใช้เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์ม มั่นใจประสิทธิภาพดีเหนือกว่าการใช้ระบบบ่อเปิดแบบเดิม ทั้งปรับคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น กลิ่นเหม็นลดน้อยลง คุ้มค่าต่อการลงทุน ขณะเดียวกันยังได้ผลผลิตก๊าซชีวภาพที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน ช่วยลดการแบกภาระราคาเชื้อเพลิง ในสภาวะน้ำมันแพง

.

มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีเกษตรกรทำการเพาะปลูกกว่า 3 ล้านราย ในพื้นที่เก็บเกี่ยวมากถึง 6.5 ล้านไร่ โดยผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังเป็นสินค้าส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท มีโรงงานผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นโรงงานแป้งมันสำปะหลัง โรงงานมันเส้นและมันอัดเม็ด ส่วนประเภทของโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังที่มีของเสียในปริมาณมาก ได้แก่ โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากน้ำทิ้งในกระบวนการผลิตมีปริมาณมากและมีความสกปรกในรูปของสารอินทรีย์สูง

.

จากปัญหาดังกล่าว โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มสำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังขึ้น

.

.

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวในงานสัมมนาโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มสำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังว่า การบริหารจัดการเทคโนโลยีเกิดขึ้นได้หลายแบบ ซึ่งแบบหนึ่งที่เราคุ้นเคยคือมีนักวิจัยเพื่อค้นคว้าหาความรู้ ในกรณีนี้เป็นการวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ของ สวทช. กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งที่ผ่านมานักวิจัยได้ทดลองหลายวิธี หลายเทคนิค ผลที่ได้ก็แตกต่างกันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ในที่สุดพบว่าระบบผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มมีภาพรวมเป็นเทคนิคที่ค่อนข้างเหมาะสมที่สุดกับน้ำเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมประเภทแป้งมันสำปะหลัง

.

งานวิจัยชิ้นนี้เราไม่ต้องการที่จะนำไปขึ้นหิ้งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ต้องการที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปถ่ายทอดเพื่อให้เกิดการใช้จริง จึงเกิดความร่วมมือทำข้อตกลงขึ้นระหว่างหลายหน่วยงานที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่โรงงานนำร่อง 4 แห่ง คือ โรงงานชลเจริญ โรงงานชัยภูมิพืชผล โรงงานแป้งตะวันออกเฉียงเหนือ (1987) จำกัด และบริษัท สีมา อินเตอร์โปรดักส์  ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินโครงการไปแล้วทั้งสิ้น

.

ที่ผ่านมา สวทช.ได้ติดตามผลการดำเนินงาน โดยได้จัดไปเยี่ยมชมโครงการที่โรงงานชลเจริญ พบว่าเทคโนโลยีของคนไทยที่นำมาใช้กับสถานการณ์หรือโรงงานในพื้นบ้านสามารถใช้ได้ผลหลายประการ อาทิ กำจัดกลิ่นเหม็นได้เกือบทั้งหมด อีกทั้งยังได้พลังงานกลับมา และที่สำคัญที่สุดคือลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงนับได้ว่าเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จอย่างมาก ซึ่งในอนาคตจะได้เดินหน้าขยายโครงการออกไปอีกเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วน

.

 

.

ด้านนายอนุวัฒน์ ฤทัยยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแป้งตะวันออกเฉียงเหนือ (1987) จำกัด กล่าวถึงผลจากการใช้เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มในโรงงานว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจผลิตแป้งมันสำปะหลังเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาต้องประสบกับปัญหาในเรื่องของกลิ่นเหม็นจากน้ำทิ้งในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันรัฐบาลจะเข้มงวดมากในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เป็นเจ้าของกิจการจึงต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหาให้ได้ ดังนั้นเราจึงเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ ปรับสภาพให้เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป กระทั่งตัดสินใจลงทุนเม็ดเงินมหาศาลเพื่อจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มโดยได้รับการสนับสนุนและแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของ สวทช. และ มจธ.

.

ส่วนสาเหตุที่เลือกระบบนี้เนื่องจากมีข้อดีเหนือกว่าระบบบ่อเปิดแบบดั้งเดิมที่โรงงานใช้กันอยู่ เช่น ใช้พื้นที่ขนาดเล็ก มีประสิทธิภาพในการบำบัดสูงทั้งในเรื่องของคุณภาพน้ำและเรื่องกลิ่นเหม็น ที่สำคัญกว่านั้นคือมีผลผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนได้ ทำให้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ลดการแบกภาระของราคาเชื้อเพลิง ในสภาวะวิกฤตการณ์น้ำมันมีราคาแพง

.

บริษัทฯ ได้นำระบบดังกล่าวมาใช้ในโรงงาน โดยใช้น้ำทิ้งจากโรงงานแป้งตะวันออกเฉียงเหนือเติมเข้าระบบบำบัด และนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้เป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงก๊าซ LPG ที่ใช้อยู่เดิมในกระบวนการผลิตของโรงงานซี.ไจแกนติคคาร์บอน จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานในเครือที่ดำเนินการผลิตถ่านกัมมันต์ แต่เนื่องจากการก่อสร้างระบบจะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ทางบริษัทฯ จึงได้เสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงิน 23,400,000 บาท จากงบประมาณโครงการรวมทั้งสิ้น 31,886,800 บาท

.

บ่อบำบัดน้ำเสียแบบตริงฟิล์ม

.

ทั้งนี้ หากโครงการสำเร็จ บริษัทฯ จะสามารถนำก๊าซชีวภาพที่ได้มาใช้ทดแทนก๊าซ LPG ที่ใช้ในการผลิตถ่านกัมมันต์ของบริษัทฯ ในเครือซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยมีก๊าซชีวภาพเกิดขึ้นประมาณ 17,000 ลบ.ม. ต่อวัน เทียบเท่ากับก๊าซ LPG 6,900 กก.ต่อวัน ดังนั้นหากประเมินว่าร้อยละ 80 ของก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นทั้งหมด (ที่ระยะเวลาการผลิตของโรงงานแป้งมันสำปะหลัง 200วันต่อปี) ถูกนำไปใช้ทดแทนก๊าซ LPG นั่นคือจะลดการซื้อก๊าซ LPG ได้ 1,104,000 กก.ต่อปี คิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ 14,352,000 บาทต่อปี (ที่ราคาก๊าซ LPG 13 บาทต่อ กก.)

.

นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นที่เกิดจากการย่อยสลายของน้ำเสียที่มีความสกปรกสูงได้ โดยระบบสามารถบำบัดน้ำเสียได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ก่อนปล่อยออกสู่ระบบบำบัดขั้นหลัง ที่อาจเป็นบ่อเปิดหรือระบบในรูปแบบอื่น โดยความสกปรกของน้ำเสียในบ่อเปิดลดลงและพื้นที่ที่ใช้น้อยลงด้วย ช่วยให้ลดผลกระทบต่อน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินลงอย่างมาก รวมทั้งน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทานในการปลูกพืชอีกด้วย ปัจจุบันบริษัทฯ เดินระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะสามารถช่วยให้โรงงานสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 20,000 ลบ.ม.ต่อวัน เทียบเท่าปริมาณน้ำมันเตาประมาณ 9,400 ลิตร หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 120,000 บาท

.

ถังเก็บก๊าซฃีวภาพที่ได้จากบ่อบำบัดนำเสีย

.

ขณะที่ นายประพันธ์ เขียนนอก ผู้จัดการสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังในจังหวัดนครราชสีมาทั้งสิ้น 19 โรงงาน มีทั้งโรงงานขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ซึ่งก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อเปิด ต่อมาแต่ละโรงงานมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้โรงงาน จึงเริ่มมีการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียมากขึ้น โดยเฉพาะการนำน้ำเสียมาผลิตเป็นไบโอแก๊ส หลังจากที่มีเทคโนโลยีตรงนี้มาช่วย ทำให้เสียงสะท้อนจากชุมชนและสังคมดีขึ้น ประกอบกับทางหน่วยงานราชการทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสำคัญและพยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการมาโดยตลอด ส่งผลให้ปัญหาการร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็นลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด

.

ปัจจุบันเทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มที่บางบริษัทฯได้รับการถ่ายทอดมานี้กำลังได้รับความสนใจเพราะพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ช่วยให้โรงงานและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งเท่าที่ศึกษามาพบข้อดีเยอะมาก ทางสมาคมฯ เองก็มีนโยบายในเรื่องของการส่งเสริมองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ให้ความรู้ด้านวิชาการแก่สมาชิกเพื่อนำไปแก้ปัญหา ลดผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยีของคนไทยเอง ส่วนข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนนั้นเท่าที่ดูจากโครงการแล้ว ทุกภาคส่วนพยายามช่วยกันอย่างเต็มที่ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาช่วยเหลือหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้คิดว่าโครงการสามารถเดินต่อไปได้ เท่าที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการหลายท่านโดยเฉพาะผู้บริหารให้ความสำคัญและสนใจอย่างมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อที่จะเข้าไปร่วมดำเนินงานในระยะต่อไป

.

ผู้จัดการสมาคมฯ กล่าวต่อว่า ในอนาคตโครงการดังกล่าวนี้จะสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้อีกโดยเฉพาะน้ำเสียจากโรงงานซึ่งผ่านการบำบัดแล้ว สามารถนำไปสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกรซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงาน ตรงนี้จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ในยามที่เกิดวิกฤตการณ์ภัยแล้งได้เป็นอย่างดี หรือใช้เทคโนโลยีที่ทำให้น้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วเหล่านี้นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก ในกรณีที่บางโรงงานมีพื้นที่กว้างขวางอาจจะทดลองนำน้ำเหล่านี้มาเพาะปลูกมันสำปะหลังด้วยระบบวิธีการต่างๆ เช่น ระบบน้ำหยด โดยทำเป็นแปลงตัวอย่างให้เกษตรกรศึกษาต้นแบบ ซึ่งหากประสบผลสำเร็จแล้วยังจะช่วยให้เกิดภาพพจน์ที่ดีระหว่างโรงงานกับเกษตรกรอีกด้วย

.

สำหรับผู้ประกอบการโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่สนใจเข้าร่วมโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์ม สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน (CD) ศูนย์ลงทุน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทร.0-25647000 ต่อ 1334-1339