2 หน่วยงาน วิทย์-อุตฯ หนุน สกย.4จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย พัฒนาเตาอบฯประหยัดพลังงาน แก้ปัญหาต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควัน
2 หน่วยงาน วิทย์-อุตฯ หนุน สกย.4จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย พัฒนาเตาอบฯประหยัดพลังงาน แก้ปัญหาต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควัน |
. |
. |
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) |
โครงการ iTAP (สวทช.) ผนึกกำลังกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย สนับสนุนงบฯกว่า 6.5 ล้านบาท พัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานแก่สหกรณ์กองทุนสวนยาง (สกย.)เพิ่มอีก 12 แห่งในพื้นที่ 4 จังหวัด(ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและพัทลุง ) |
. |
หวังนำร่องกลุ่มสหกรณ์ พื้นที่อื่นๆ พัฒนาประสิทธิภาพเตาอบที่ใช้มานานกว่า 10 ปี เพื่อลดต้นทุนการผลิต และลดการสูญเสีย พร้อมยกระดับคุณภาพยางแผ่นรมควัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์ฯ ที่เป็นเกษตรกรชาวสวนยางได้ต่อไป |
. |
อุตสาหกรรมยางแผ่นรมควัน นับเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศที่มีผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่วนใหญ่ผลิตโดยสหกรณ์กองทุนสวนยาง (สกย.) หรือ กลุ่มเกษตรกร ซึ่งจัดตั้งขึ้นในช่วงปี 2536–2538 มีสมาชิกคือเกษตรกรชาวสวนยาง ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น |
. |
โดยเฉพาะไม้ยางพารามีราคาสูงส่วนหนึ่งมีผลมาจากการแข่งขันทางด้านการตลาดที่มีความต้องการนำไม้ยางพาราไปใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น |
. |
นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อต้นทุนการผลิตการแปรรูปยางพาราโดยเฉพาะการอบรมควันยางและคุณภาพของยางแผ่นรมควันที่ได้คือ “เตาอบรมควันยางแผ่น” และส่วนมากมักใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง |
. |
โดยเฉพาะไม้ยางพาราขณะที่ราคารับซื้อไม้ยางพาผันผวนตามความต้องการของตลาด ปัจจุบันยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของกลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยาง หรือ สกย.สูงขึ้นตามไปด้วยทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน |
. |
กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน และร่วมแก้ไขปัญหาให้กับโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้ร่วมกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ในสังกัดศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.)และสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย |
. |
จัดทำ “โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน” ขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2552 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสนับสนุนให้สหกรณ์ฯในพื้นที่ 4 จังหวัด( ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง) ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งเป้าขยายการจัดสร้างเตาอบแบบใหม่นี้ เพิ่มขึ้นอีก 12 แห่ง โดยใช้งบฯ สนับสนุนรวมทั้งสิ้น 6.5 ล้านบาท |
. |
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ โครงการดังกล่าว ถือว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ ที่วันนี้ต้องการปรับโครงสร้างการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยการนำนวัตกรรมมาใช้ เพราะปัจจุบันการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างเดียวไม่เพียงพอ |
. |
ผู้ประกอบการจำเป็นต้องนำนวัตกรรมไปใช้ เช่น การพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน ที่โครงการ iTAP และ มจพ.ได้ร่วมกันคิดค้นพัฒนาขึ้น ซึ่งนอกจากเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยังต้องช่วยลดความสูญเสีย ลดต้นทุน และสามารถควบคุมคุณภาพได้มากขึ้น ” |
. |
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (สวทช.) กล่าวว่า หลังจากโครงการ iTAP ได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญจาก มจพ.เข้าไปวินิจฉัยปัญหาให้กับสกย.ตั้งแต่ปี 2549 พบว่าเตาอบยางแผ่นรมควันที่สหกรณ์ฯ ใช้กันอยู่สร้างขึ้นมานานกว่า 10 ปีและยังไม่เคยมีการปรับปรุงเทคโนโลยี ทำให้มีประสิทธิภาพต่ำ สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง(ไม้ยาง) และพลังงาน |
. |
นอกจากนี้คุณภาพของยางแผ่นที่ได้ยังไม่สม่ำเสมอเนื่องจากลมร้อนกระจายไม่ทั่วถึง และความปลอดภัยในการใช้งานต่ำ ทำให้มีโอกาสเกิดเพลิงไหม้ได้สูง ต่อมาได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดทำโครงการพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน และจัดทำเตาต้นแบบขึ้น ณ สหกรณ์กองทุนสวนยาง บ้านหนองแดงสามัคคี อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช |
. |
“ หลังจากการทดลองใช้เมื่องกลางปี 2552 ที่ผ่านมาพบว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถประหยัดพลังงาน ลดการใช้ไม้ฟืนลงได้กว่า 40 % ระยะเวลาในการอบยางสั้นลงจากเดิมที่ต้องใช้เวลาในการอบนาน 4 วัน เหลือเพียง 3 วัน และมีการนำความร้อนกลับมาใช้ใหม่ ปริมาณยางเสียลดลง 10% ทำให้ต้นทุนโดยรวม(เฉพาะในส่วนของการรมยาง) ลดลงได้มากกว่า 30 - 40% ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้มากขึ้น ” |
. |
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ยางแผ่นรมควันที่อบได้ยังมีสีน้ำตาลสวยสม่ำเสมอ และมีกลิ่นหอมของควันฟืน กลายเป็นสินค้าที่แตกต่างจากที่มีอยู่ในตลาดถือเป็นนวัตกรรมและเป็นการยกระดับสินค้าจากยางเกรด 2 เป็นยางเกรด 1 ที่มีราคาสูงกว่า |
. |
รศ.ชาลี ตระการกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ. กล่าวว่า ที่เป็นเช่นนั้นได้เกิดจากเทคนิคการระบายความชื้นที่เหมาะสมในช่วงแรกและเกิดจากการกักและปล่อยควันเข้าไปรมในเตาในสภาวะที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดสะเก็ดลูกไฟเข้าไปสร้างความเสียหายให้กับแผ่นยางเหมือนในอดีต ยางแผ่นรมควันที่อบได้จึงกลายเป็นสินค้าเกรดดีขึ้น ส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น |
. |
รศ.ดร.สมชาย ยังย้ำว่า “การพัฒนาเทคโนโลยีแม้อาจต้องลงทุนเพิ่มบ้างแต่คุ้มค่ากว่าสามารถควบคุมคุณภาพได้ดีขึ้น สินค้าก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และเมื่อมีนวัตกรรมก็จะช่วยยกระดับสินค้าของเราขึ้นอีก แน่นนอว่านวัตกรรมจะทำให้เราแข่งขันได้ในยุคนี้ ” |
. |
นายภิญโญ แสงพงศ์ชวาล อุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง กล่าวเสริมว่า “ หากสามารถยกระดับคุณภาพยางแผ่นรมควันจากยางเกรด 2 เป็นยางเกรด 1 ได้จะได้ราคาที่สูงขึ้น ปัจจุบันราคารับซื้อยางแผ่นรมควันอยู่ที่ประมาณ 88 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการอบรมควันอยู่ที่ 4 – 6 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น หากสามารถลดต้นทุนในการอบได้จะทำให้มูลค่าของยางแผ่นรมควันเพิ่มขึ้นตามลำดับ ” |
. |
ทั้งนี้ เตาอบแบบเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้เกิดการสูญเสียค่อนข้างมาก เมื่อมีการพัฒนาเตาแบบใหม่ที่ประหยัดพลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2553 ทางสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จึงได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 4 ล้านบาท |
. |
และเงินสนับสนุนจากโครงการ iTAP อีก 2.5 ล้านบาท รวม 6.5 ล้านบาท สำหรับขยายผลการดำเนินการจัดสร้างเตาอบยางฯแบบใหม่นี้เพิ่มขึ้นอีก 12 แห่ง เพื่อเป็นการนำร่องแก่สหกรณ์ฯ ในพื้นที่อื่นๆได้พัฒนาประสิทธิภาพเตาอบเพื่อการลดต้นทุนต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรในรูปสหกรณ์อยู่ประมาณ 700 แห่งทั่วประเทศ |
. |
นายจรุง เรืองศรี อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฏร์ธานี เชื่อว่า โครงการนี้จะสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มสหกรณ์ยางแผ่นรมควันของไทยให้มีความแข็งแกร่ง เพราะการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้โดยเน้นการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ ‘ลดต้นทุนการผลิต’ จะทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น |