เนื้อหาวันที่ : 2009-12-25 18:13:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2269 views

เร่งศึกษาตั้งเขตศก.พิเศษชายแดน ผุดโครงการพัฒนาในสงขลา

สภาพัฒน์รุดศึกษาตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย – มาเลย์ ระยะ 2 รองรับอุตสาหกรรม คลังสินค้าและธุรกิจบริการ ที่ปรึกษาโครงการชี้พื้นที่บ้านคลองแงะ และบ้านทับโกบ อ.สะเดา เหมาะสุด

สภาพัฒน์รุดศึกษาตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย – มาเลย์ ระยะ 2 รองรับอุตสาหกรรม คลังสินค้าและธุรกิจบริการ ที่ปรึกษาโครงการชี้พื้นที่บ้านคลองแงะ และบ้านทับโกบ อ.สะเดา เหมาะสุด ยกตัวอย่างอำนาจการบริหารในต่างประเทศ มาจากนายกฯ ตั้งองค์กรดูแล ต่างชาติสามารถเช่าที่ดินสูงสุด 75 ปี คนแบงก์ชาติห่วงผลกระทบสิ่งแวดล้อม นายกฯสำนักขาม ชี้คนต้องการให้ขายด่านมากกกว่า

.

ผังแสดงพื้นที่ที่มีศักยภาพ

1. บ้านคลองแงะ
2. สถานีรถไฟคลองแงะ
3. พื้นที่อุตสาหกรรมเฉพาะกิจสะเดา
4. บ้านทับโกบ
5. นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้
6. พื้นที่พัฒนาบริเวณ อบต.พังลา

.

ภาพจำลองพื้นที่โครงการบริเวณพื้นที่ที่ 1 และ 6

.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน บริเวณอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ประเทศไทย – เมืองบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย (ระยะที่ 2) ขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ที่ห้องประชุมจุติ เอ โรงแรมเจ.บี. หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

.

ในการสัมมนาครั้งนั้นมีนายสมสิชฌน์ บรมธนรัตน์ หัวหน้าโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน บริเวณอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ประเทศไทย – เมืองบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย (ระยะที่ 2) และนายปรีชา เรืองวิชาธร ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและสิทธิประโยชน์ วิทยากรจากบริษัท โซซิโอ – เอคโคโนมิค คอนซัลแตนส์ จำกัดเป็นวิทยากร และนายเมธี ณ นคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดงาน มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน

.

นายสมสิชฌน์ นำเสนอว่า แนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ประเทศไทย – เมืองบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย (ระยะที่ 1) ต้องการให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ให้เป็นฐานการผลิตเพื่อป้อนนิคมอุตสาหกรรม เป็นประตูการค้าให้ไทยติดต่อค้าขายกับซีกโลกตะวันตก อีกทั้งเป็นปัจจัยกระตุ้นการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาและสตูล ให้สามารถแข่งขันกับมาเลเซียได้

.

นายสมสิชฌน์ กล่าวต่อว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ประกอบด้วย อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมยานยนต์ สถานศึกษาและ / หรือศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน

.

เพื่อเพิ่มศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการขนส่ง เช่น สถานีขนส่งสินค้า คลังสินค้า หรือ Inland Container Depot (ICD) ธุรกิจการให้บริการทางการเงินเพื่อการค้าชายแดน และอุตสาหกรรมอาหารและบริการฮาลาล

.

หัวหน้าโครงการศึกษาฯ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรม และการเกษตร ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์การบริการสังคมและชุมชน และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการในการพัฒนา

.

นายสมสิชฌน์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบเศรษฐกิจการค้า อุตสาหกรรม และการเกษตร ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนบริเวณอำเภอสะเดา ได้กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง เพื่ออุตสาหกรรมหนักทั้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย โดยคาดว่าจะมีเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 2 แสนล้านบาท

.

นายสมสิชฌน์ ระบุว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่ามี 6 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่บ้านคลองแงะ พื้นที่สถานีรถไฟคลองแงะ พื้นที่อุตสาหกรรมเฉพาะกิจ ในเขตผังเมืองรวมสะเดา พื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย บ้านทับโกบ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ตำบลฉลุง) และพื้นที่ระหว่างเทศบาลตำบลคลองแงะกับองค์การบริหารส่วนตำบลพังลา

.

“จากการลงพื้นที่จริงไปสำรวจพบว่าพื้นที่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พังลา อำเภอสะเดา และพื้นที่ในเขตปกครองของเทศบาลตำบลคลองแงะ อำเภอสะเดา มีพื้นที่ประมาณ 650 ไร่ และพื้นที่เขตปกครองทศบาลตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา บริเวณบ้านทับโกบ มีพื้นที่ประมาณ 990 ไร่ เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและมีความพร้อมที่สุดในการจัดตั้งที่พักสินค้า” นายสมสิชฌน์ กล่าว

.

นายสมสิชฌน์ นำเสนอต่อว่า ในการเลือกพื้นที่ดังกล่าวเพื่อกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีเกณฑ์ในการพิจารณา 7 ปัจจัย คือ ด้านกายภาพ ด้านการเข้าถึง ความพร้อมด้านสาธารณูปโภค แหล่งน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยขณะนี้กำลังรอสภาพัฒน์ว่า จะตัดสินใจให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวหรือไม่ หากจะให้มีการศึกษาคณะที่ปรึกษาก็จะศึกษาตามแนวทางที่ได้นำเสนอมาทั้งหมด

.

นายปรีชา กล่าวว่า สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ในส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ประกอบด้วย พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 โดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 อนุญาตให้คนต่างด้าวถือครองที่ดินได้ ได้รับยกเว้นอากรขาออก ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตสำหรับของที่นำเข้ามาผลิตแล้วส่งออก และการขายสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์ เป็นต้น

.

ส่วนพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ระบุว่า เช่น จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร และภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี และได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นสำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นระยะเวลา 5 ปี เป็นต้น

.

นายปรีชา นำเสนอต่อว่า ส่วนกรอบการทำงานนั้น มีนโยบายขั้นพื้นฐานทั้งหมด 7 นโยบาย ประกอบด้วย แนวคิดของอาณาเขตพิเศษ (Concept of Extra – Territoriality) สิทธิประโยชน์ (Eligibility for Benefit) การเป็นเจ้าของกิจการ (No Limitation) การพัฒนาเขตพิเศษเอกชน (Private Zone Development)

.

ขายสินค้าให้แก่ตลาดท้องถิ่น (Sale to the Domestic Market) ซื้อสินค้าจากตลาดท้องถิ่น (Purchase from Domestic Market) นโยบายด้านแรงงาน (Labour Policy)

.

โดยสำหรับข้อเสนอในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว ควรเป็นเขตการผลิตเพื่อส่งออกลักษณะพันธ์ทาง (Hybrid Export Processing Zone /EPZ) การบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ควรดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) หรือเอกชน การจัดตั้ง National Single Window และนำการปฏิบัติการระบบตรวจสอบและหยุด ณ จุดเดียว (Single Stop Inspection) มาปรับใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีให้ใช้ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

.

นายปรีชา ยกตัวอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในต่างประเทศ ที่มีการออกกฎหมายเฉพาะ เช่น กฎหมายจัดตั้งเขตพาณิชย์ – เศรษฐกิจพิเศษของประเทศเวียดนาม มีการออกกฎระเบียบของเขตเศรษฐกิจ- พาณิชย์พิเศษลาวบาว จังหวัดกวางตรี ซึ่งองค์กรบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาว แต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 4 ปี ลงเหลือ 50% อีก 9 ปี หลังจากนั้นจะเสียภาษีในอัตรา 10 % เป็นต้น

.

“ส่วนกฎหมายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศลาว มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบบริหารและนโยบายจูงใจในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ซึ่งมีการตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการในเขตพิเศษ สามารถเช่าที่ดินได้สูงสุดถึง 75 ปี หากเช่าที่ดินเป็นเวลา 30 ปีหรือมากกว่าจะได้รับการลดค่าเช่าเป็นเวลา 12 ปี” นายปรีชา กล่าว

.

“ขณะที่กฎหมายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษไห่หนาน ประเทศจีน มีการออกระเบียบการลงทุนของธุรกิจต่างชาติในเขตเศรษฐกิจพิเศษไห่หนาน มีหน่วยงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งมณฑลไห่หนานเป็นองค์กรผู้รับผิดชอบการลงทุนต่างชาติของเขตเศรษฐกิจพิเศษ

.

กิจการลงทุนด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการเกษตรกรรม ชลประทาน ที่ดำเนินการเป็นระยะเวลาสิบห้าปีขึ้นไป เริ่มนับตั้งแต่ปีที่มีผลกำไร ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นต้น” นายปรีชา กล่าว

.

นายเกชา เบ็ญจคาร นายกเทศมนตรีตำบลสำนักขาม กล่าวแสดงความเห็นว่า ขณะนี้คนในพื้นที่ต้องการให้มีการขยายด่านพรมแดนสะเดาโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งต้องการให้เร่งก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่ – สะเดา เพราะเส้นทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบันผ่านเขตพื้นที่ชุมชนทำให้เกิดความแออัด

.

นางพรรณพิศ เลขะกุล จากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า การตั้งเขตอุตสาหกรรมขึ้นนั้นต้องระวังเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพราะหากไม่มีความชัดเจนในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและไม่มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ก็อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาในระยะยาวได้

.

นายเมธี กล่าวว่า วันที่ 10 มกราคม 2553 มีกำหนดการเปิดด่านประกอบ จังหวัดสงขลา แต่ความเป็นจริงแล้วทางประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะเปิดด่านอย่างเป็นทางการ แต่ทางประเทศมาเลเซียต้องการเปิด เนื่องจากได้เตรียมประตูด่านไว้เรียบร้อยเป็นปีแล้ว

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท