เนื้อหาวันที่ : 2009-12-24 11:30:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 611 views

ภาคอุตฯใจชื้นดัชนีเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พ.ย. อยู่ที่ 104.7

สันติ ประธาน ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทยเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. มาอยู่ที่ 104.7 คาดอีก 3 เดือนพุ่งสูง เหตุมีปัจจัยหนุนหลายด้าน

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย(Thai Industries Sentiment Index:TISI) ในเดือน พ.ย.52 อยู่ที่ 104.7 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 104.3 ในเดือน ต.ค.52 ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่เกินระดับ 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แล้ว โดยเป็นผลจากองค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อ และต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้น

.

"ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหรืออาจกล่าวได้ว่าอยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อน มีปัจจัยที่สำคัญจากคำสั่งซื้อรวมที่ปรับตัวสูงขึ้น เชื่อคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าพุ่งสูง เหตุปัจจัยหลายด้านหนุน" นายสันติ กล่าว

.

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า องค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อฟื้นตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ทำให้มีความต้องการซื้อสินค้ามากขึ้น และหากพิจารณาจากองค์ประกอบดัชนีด้านยอดขายรวมในเดือน พ.ย.แล้วพบว่า ยอดขายรวมลดต่ำลง แต่มาจากยอดขายในประเทศเป็นสำคัญ   

.

ขณะที่ยอดขายในต่างประเทศยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคาน้ำมันขายปลีกทุกประเภทที่ทรงตัวทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองปราศจากความรุนแรง

.

ส่วนดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.8 ในเดือน ต.ค.52 อยู่ที่ระดับ 118.3 ในเดือน พ.ย.52 เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดขายรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการจะสูงขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม แม้ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ผลกระทบจากราคาน้ำมัน และสภาวะเศรษฐกิจโลกของผู้ประกอบการจะลดลงจากเดือน ต.ค. แต่ยังมีความกังวลในประเด็นของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

.

ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลมากที่สุด เพราะยังคงมีแรงกดดันต่อสถานการณ์ทางการเมืองจากความขัดแย้งภายในและต่างประเทศซึ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองไม่อยู่ในสภาวะปกติ

.

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ ให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน การแก้ไขปัญหาทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

.

รวมถึงพิจารณาเรื่องการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ดูแลข้อตกลง FTA ต่างๆ ให้อยู่ในสภาวะที่สามารถแข่งขันได้ และเร่งลงทุนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไป