เนื้อหาวันที่ : 2009-12-23 17:05:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1246 views

พาณิชย์เผยส่งออก พ.ย.โต 17.2% เอกชนมั่นใจปีหน้าส่งออกได้ตามเป้า

"พาณิชย์" ระบุส่งออกเดือน พ.ย.ขยายตัว 17.2% เผยฐานส่งออกปีก่อนต่ำดันยอดส่งออกปีนี้เพิ่มสูง "พรทิวา" คาดไตรมาส 4 ขยายตัว 7% เอกชนจี้รัฐดูแลค่าเงินบาทหวั่นกระทบความสามารถในการแข่งขัน

"พาณิชย์" ระบุส่งออกเดือน พ.ย.ขยายตัว 17.2% เผยฐานส่งออกปีก่อนต่ำดันยอดส่งออกปีนี้เพิ่มสูง ตลาดส่งออกกระเตื้องเว้นญี่ปุ่นทรุดต่อเนื่องเหตุเยนแข็ง "พรทิวา" คาดไตรมาส 4 ขยายตัว 7% ทั้งปีนี้ ติดลบ 15% ประเมินปีหน้าส่งออกพุ่ง 14% "เอกชน" ชี้ส่งออกขยายตัวจากปีก่อน มั่นใจปีหน้าส่งออกได้ตามเป้า จี้รัฐดูแลค่าเงินหวั่นกระทบขีดความสามารถแข่งขัน

.

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

.

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนพ.ย.2552 มีมูลค่า13,840 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.2%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2551

.

ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 12,782 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.2% ทำให้เกินดุลการค้า1,058 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนยอดส่งออกรวม 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) มูลค่า137,954 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 17.0%การนำเข้ารวมมูลค่า 119,376 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 28.9% และเกินดุลการค้ารวม 18,578 ล้านเหรียญสหรัฐ

.

ทั้งนี้ การส่งออกเดือน พ.ย.ที่เพิ่มขึ้นเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 28.6% ทั้งข้าว มันสำปะหลัง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลขณะที่ยางพารา ผักผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ก็เป็นบวกเดือนแรกในรอบปี หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่ม13.2%

.

โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สิ่งพิมพ์ผลิตภัณฑ์เภสัช เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มสินค้าที่กลับเป็นบวกเดือนแรก ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อุปกรณ์ส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง เลนส์ ส่วนสินค้าที่ติดลบ ได้แก่เครื่องเดินทาง เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ตกแต่ง และของเล่น

.

สำหรับการนำเข้าเป็นยอดติดลบต่ำสุดในรอบปี โดยกลุ่มเชื้อเพลิงเพิ่ม0.7% สินค้าทุนลดลง 4.1% วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป ลดลง 9.0% อุปโภคบริโภคเพิ่ม18.8% ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งเพิ่ม 29.9% หลังจากภาคการผลิตมีการสั่งนำเข้าสินค้าทุนเพื่อใช้ขยายกำลังการผลิตมากขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์รวมถึงผู้บริโภคได้จับจ่ายใช้สอยมากขึ้นรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ รวมถึงยานยนต์มีการนำเข้าเพื่อจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์

.

ส่วนตลาดส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งตลาดหลัก และตลาดใหม่ โดยตลาดหลักเพิ่ม 5.9% ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 4.6%สหภาพยุโรป 3.2% อาเซียน 16.4% แต่ญี่ปุ่นยังลบ 2.9% ตลาดรองและใหม่เพิ่ม29.9% โดยที่ปรับเพิ่มชัดเจน ได้แก่ ฮ่องกง44.2% ไต้หวัน 14.1% ออสเตรเลีย 58.4%แคนาดา 47.7% อินโดจีน 38.8% แอฟริกา23% อินเดีย 27.1% และจีน 77.1%

.

นางพรทิวากล่าวว่า มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ย.ที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.และต.ค.ที่ผ่านมา ลดลงนั้นเป็นเพราะปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่ปีก่อนอยู่ที่ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ปีนี้แข็งค่าเหลือ 33 บาท ประกอบกับสต๊อก วัตถุดิบผลิตสินค้าเหลือน้อย ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตรองรับการส่งออกได้มาก

.

ส่วนการลดค่าเงินด่งของเวียดนามส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทยบ้าง โดยคู่ค้าชะลอสั่งซื้อเพื่อรอดูราคาสินค้าของเวียดนามหากถูกกว่าไทยก็อาจเปลี่ยนไปซื้อ แต่ถ้าราคาไม่แตกต่างกันก็น่าจะซื้อของไทยเหมือนเดิม

.

"ยอดส่งออก พ.ย.สะท้อนว่าการส่งออกอยู่ช่วงขาขึ้น และคาดว่าจะบวกเพิ่มขึ้นได้อีก โดยหากเดือน ธ.ค.ส่งออกได้ประมาณ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมการส่งออกไตรมาส 4 จะบวก 7% ทำให้ยอดส่งออกทั้งปี 2552 ทำได้ตามเป้าหมาย คือติดลบ 15%

.

ขณะที่การส่งออกปีหน้ามั่นใจว่าบวก 14%มีมูลค่าส่งออกที่ 1.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยเดือนละ 13,000-15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่จะต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มาบตาพุดและปัจจัยการเมืองที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นทางการค้า" นางพรทิวากล่าว

.

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกประจำเดือนพฤศจิกายน 2552 ว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปี ขยายตัวร้อยละ 17.21 ด้วยมูลค่าการส่งออก 13,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฝันเฟื่องเดือนธันวาคมจะพาตัวเลขติดบวก 7% ส่วนสินค้าชายแดนจะเติบโต 1 ล้านล้านบาท

.

สินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตรส่งออกเพิ่มขึ้นทุกหมวด อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และน้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 เช่นเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์เภสัช เครื่องสำอาง

.

ซึ่งสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่กลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบนอกจากนี้ ตลาดส่งออกที่สำคัญทั้งในตลาดหลักกลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก ร้อยละ 5.9 และตลาดใหม่ ขยายตัวถึงร้อยละ 29.9 อาทิ จีนออสเตรเลีย ฮ่องกง พม่า อินเดีย และไต้หวันอย่างไรก็ตาม การส่งออกในระยะ 11 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 137,954 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 17

.

ด้านตัวเลขการนำเข้าเดือนพฤศจิกายน2552 มีมูลค่า 12,782 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 2.2 ซึ่งสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 และกลุ่มสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9

.

ส่วนตัวเลขการนำเข้า 11 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 119,376 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 28.9 ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนพฤศจิกายน 2552 เกินดุลการค้า1,058 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 11 เดือนของปีเกินดุล 18,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ตัวเลขการส่งออกในเดือนธันวาคมจะมีมูลค่าเกินกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าจะทำให้ตัวเลขการส่งออกทั้งปีเป็นไปตามคาดหมายที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ว่าจะติดลบประมาณร้อยละ 13-15 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากว่า18,577 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากดูตัวเลขการส่งออกในรายไตรมาส สามไตรมาสแรกตัวเลขการส่งออกติดลบ แต่ไตรมาสสุดท้ายของปีตัวเลขส่งออกจะกลับมาเป็นบวกร้อยละ 7

.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าจากแนวโน้มการส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าตัวเลขการส่งออกในปี 2553 น่าจะมีอัตราขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10-15 หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยังเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมหลายรายการของไทยยังเป็นที่ต้องการของประเทศคู่ค้า

.

แต่สิ่งที่ผู้ส่งออกหลายกลุ่มเป็นห่วงว่าอาจจะเป็นปัจจัยกระทบต่อภาคการส่งออก ได้แก่ ความไม่ชัดเจนและนโยบายด้านการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการลงทุนในมาบตาพุด ปัญหาการเมือง ซึ่งหากการเมืองไม่เกิดความวุ่นวายจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกมากนัก รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน 

.

โดยผู้ส่งออกไม่อยากให้ค่าเงินบาทสูงกว่าค่าเงินในภูมิภาค โดยเฉลี่ยอยากให้อยู่ในระดับ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และในปีหน้าภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน กรมส่งเสริมการส่งออกประเมินว่า การส่งออกในตลาดอาเซียนจะขยายตัวระหว่างร้อยละ 15-20 โดยเฉพาะการค้าชายแดนที่จะเติบโตถึง 1 ล้านล้านบาท

.
ที่มา : กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์