เนื้อหาวันที่ : 2009-12-22 14:48:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 615 views

สสว.เร่งศึกษา SMEs ทั่วประเทศ หวังสร้างฐานข้อมูล SMEs ที่มีประสิทธิภาพ

สสว. จับมือ 5 สถาบันการศึกษาใน 5 ภูมิภาค เดินหน้าศึกษาสถานภาพ SMEs ในพื้นที่ 14 จังหวัดเป้าหมายทั่วประเทศ เพื่อสะท้อนข้อมูลบทบาททั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มุ่งเปิดมิติใหม่ในการสร้างฐานข้อมูลที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

.

เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนงานและแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน SMEs ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีประสิทธิภาพ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยว่า จากความสำคัญของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

.

เห็นได้จาก SMEs ซึ่ง มีจำนวนประมาณ 2.82 ล้านกิจการ คิดเป็นร้อยละ 99.7 ของจำนวนวิสาหกิจทั่วประเทศ มีการจ้างงานจำนวน 8.9 ล้านคน คิดเป็นน้อยละ 76 ก่อให้เกิดมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 3.44 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.8 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ มูลค่าส่งออก 1.69 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.9 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ

.

ขณะเดียวกันยังเป็นกลไกการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระดับวิสาหกิจ ชุมชน สู่การเป็นสังคมผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมหรือ SMEs ที่มีจำนวนอยู่มากมายทั่วประเทศนั้น บางกลุ่มอาจมีบทบาทสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจ

.

ในขณะที่ SMEs บางกลุ่มอาจมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในพื้นที่ และ SMEs บางกลุ่มก็ดำเนินวิถีทางธุรกิจโดยอิงอยู่กับเอกลักษณ์ หรือวัฒนธรรมของพื้นที่ของตน ทั้งนี้ บางกลุ่มอาจใช้ทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และบางกลุ่มอาจสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตน

.

ซึ่งบทบาทต่างๆ เหล่านี้ของ SMEs คือ สิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน “ดังนั้นเพื่อให้การส่งเสริม SMEs เป็นไปอย่างสอดคล้องกับศักยภาพ และจุดแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ สสว. จึงได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา 5 แห่ง ใน 5 ภูมิภาค ได้แก่

.

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการ “ศึกษาวิเคราะห์สถานภาพ SMEs ประเทศไทย : บทบาทเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม” เพื่อนำไปสู่การสร้างฐานข้อมูล SMEs ที่สามารถบ่งบอกถึงลักษณะหรืออัตลักษณ์ของ SMEs ในแต่ละกลุ่ม ชุมชน และแต่ละพื้นที่” ผอ.สสว. กล่าว

.

การดำเนินงานครั้งนี้จะมุ่งศึกษาวิเคราะห์สถานภาพ SMEs ในแต่ละภูมิภาค ทั้งบทบาททางเศรษฐกิจ เช่น โครงสร้างสถานภาพของธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจ ความเป็นผู้ประกอบการ ขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ ปัจจัยแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ

.

ตำแหน่งของธุรกิจใน Value Chain ความเชื่อมโยงของธุรกิจ SMEs ในแต่ละกลุ่ม รวมถึงความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ บทบาททางสังคม เช่น การปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและแรงงานจากธุรกิจ SMEs ในพื้นที่ การย้ายถิ่นฐานของแรงงาน คุณภาพของแรงงาน การเชื่อมโยงของธุรกิจ SMEs กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม และ บทบาททางวัฒนธรรม

.

เช่น โครงสร้างและสถานภาพของธุรกิจ SMEs ที่นำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้ในทางธุรกิจ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นต้น โดยจะดำเนินการศึกษาผ่านการจัดกิจกรรมประชุม Focus Group ในพื้นที่ 14 จังหวัดใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย

.

ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ได้แก่ อยุธยา สุพรรณบุรี เพชรบุรี และระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี สุรินทร์ ภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสงขลา และ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมประชุม

.

ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ SMEs จากธุรกิจที่มีบทบาทในแต่ละพื้นที่ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน รวมถึงธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งการประชุมครั้งแรกจะจัดขึ้นในกลางเดือนธันวาคมนี้ ที่จังหวัดขอนแก่น และจะสัญจรไปจัดในทุกพื้นที่เป้าหมาย ตั้งแต่ช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2552-กุมภาพันธ์ 2553 “

.

เชื่อว่าผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้ สสว. ได้ฐานข้อมูลในเชิงคุณภาพที่มีการวิเคราะห์ในเชิงลึกทั้งบทบาททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถบอกได้ถึงลักษณะ หรืออัตลักษณ์ของ SMEs ในแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์การส่งเสริม SMEs ที่คมชัด และช่วยชี้นำการปรับกระบวนทรรศน์ของการส่งเสริม SMEs ในประเทศไทยต่อไป” ผอ.สสว. กล่าวในที่สุด

.
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม