เนื้อหาวันที่ : 2009-12-21 14:51:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 609 views

สธ.ล้อมคอกตั้งศูนย์ประสานแก้ไขผลกระทบสุขภาพ จากมลพิษสิ่งแวดล้อม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รุดเยี่ยมอาการผู้ป่วยที่สูดพิษก๊าซกำมะถัน 4 รายที่สระบุรี 2 รายอาการสาหัสนอนไอซียู  อีก 2 รายอาการปลอดภัย อาจกลับบ้านวันนี้   ชี้แนวโน้มปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ได้ตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขผลกระทบจากมลพิษสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพประชาชน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขโดยเฉพาะการป้องกันก่อนปัญหาเกิด

.

จากเหตุก๊าซกำมะถันรั่วที่โรงงานไทยเรยอนจำกัด นิคมอุตสาหกรรมหนองแค  อ.หนองแค จ.สระบุรี เมื่อคืนที่ผ่านมาเวลาประมาณ 21.26 น. ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน  และได้รับบาดเจ็บ 4 คนนั้น   เวลา 11.00 น. วันที่ 19 ธันวาคม 2552 นายวิทยา  แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  

.

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคและผู้เชี่ยวชาญ  เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาก๊าซกำมะถันรั่วที่โรงงานไทยเรยอน จ.สระบุรี เมื่อคืนที่ผ่านมา และเยี่ยมอาการผู้ป่วยที่สูดก๊าซพิษดังกล่าวจำนวน 4 ราย ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลสระบุรี       

นายวิทยากล่าวว่า ผู้ป่วย 4 ราย ที่นอนรักษาตัว เป็นวิศวกรของโรงงานไทยเรยอน อ.หนองแค ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเส้นใยสงเคราะห์ที่มีสารคาร์บอนไดซัลไฟต์ในโรงงาน โดยมีอาการหนัก 2 ราย  แพทย์ใส่เครื่องช่วยหายใจและนอนในห้องไอซียู ได้แก่

นายสมพล เปรมปรามอมร อายุ 34 ปี  ล่าสุดยังไม่รู้สึกตัว   อยู่ในความดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด และนายวิชัย จินดานาถ อายุ 40 ปี   ขณะนี้อาการดีขึ้น รู้สึกตัว   ส่วนอีก 2 ราย ได้แก่นายณัฐกฤษ เลิศเอกธรรม อายุ 22 ปี  และนายปราโมช  ทัศนานุตรียกุล อายุ 24 ปี  ขณะนี้อาการปลอดภัย ลุกเดินไป หายใจได้ดี ไม่มีอาการแน่นหน้าอก หากไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านในวันนี้   

.

สำหรับผู้เสียชีวิต 1 รายคือนายอภิชาต  ศรีเมือง อายุ 23 ปี เสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลหนองแค จ.สระบุรี           นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากมลพิษสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย  มีความรุนแรงมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีประชาชนร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น    

.

การเจ็บป่วยจากมลพิษสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญและพัฒนาระบบริการเป็นการเฉพาะ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีที่นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50,000 ชนิด ประชาชนยังมีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก การแก้ไขมักจะอยู่ในลักษณะไล่ตามปัญหาเกิดขึ้น   

.

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายในการป้องกันภัยจากมลพิษสิ่งแวดล้อม โดยตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อรองรับการดำเนินงานด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพอนามัย ซึ่งมีคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการ คณะกรรมการ

.

ประกอบด้วย อธิบดี นักวิชาการ จากกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา ศูนย์ดังกล่าว จะช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมมีความมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น       

.

นายแพทย์ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดจากการใช้กำมะถันในกระบวนการผลิต โดยทำปฏิกิริยาเป็นก๊าซคาร์บอนไดซัลไฟต์ เมื่อเกิดการรั่วไหลอาจมีการทำปฏิริยากับความร้อนเกิดเป็นก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์ (Hydrogen sulfide)หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ"ก๊าซไข่เน่า"          /2  ก๊าซ..  -2-ก๊าซดังกล่าวจะมีกลิ่นฉุน คล้ายไข่เน่าหรือกลิ่นกำมะถัน มีฤทธิ์ระคายเคือง ทำให้แสบตา คอ จมูก

.

หากสูดเข้าไปจำนวนมากจะระคายเคืองระบบหายใจ ทำให้วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้      การรักษา จะให้การรักษาตามอาการ โดยใช้เครื่องช่วยหายใจและให้ออกซิเจน เพื่อให้ร่างกายขับสารพิษออกจากร่างกายเร็วที่สุด และป้องกันโรคแทรกซ้อน ที่สำคัญคือปอดบวมและน้ำท่วมปอด  ส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ร่างกายจะขับออกเองตามธรรมชาติ      

.

นายแพทย์มานิต  ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า   อันตรายของการสูดก๊าซพิษกำมะถัน  ขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซที่สูดเข้าไปในร่างกาย มีหลายระดับ  คือ  0.2  พีพีเอ็ม ( 0.2 ส่วนใน 1 ล้านส่วน )      จะเริ่มได้กลิ่น  

.

หากความเข้มข้น  10  พีพีเอ็ม จะได้กลิ่นที่รุนแรงมาก    ระดับ  50  พีพีเอ็ม จะเกิดอาการระคายตา และเยื่อบุทางเดินหายใจ ระดับ   150  พีพีเอ็ม ประสาทรับกลิ่นไม่ทำงาน ระดับ   200   พีพีเอ็ม  จะไม่ได้กลิ่น แต่จะระคายเคืองทำให้ตาแดง เจ็บคอ  

.

หากระดับ   250 พีพีเอ็ม   อาจมีน้ำท่วมปอด ถ้าสูดดมนานราวครึ่งถึง 1 ชั่วโมง เกิดอาการปวดศีรษะ  หากระดับความเข้มข้น  500 พีพีเอ็ม    จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ หมดสติ และหยุดหายใจ  และถ้าความเข้มข้นมากตั้งแต่   500-1000  พีพีเอ็ม   จะเกิดอาการขาดออกซิเจนในทุกระบบ และหยุดหายใจ เสียชีวิต  

.

การป้องกันเมื่อพบการรั่วไหลหรือรู้สึกสัมผัสก๊าซดังกล่าว ให้รีบหนีออกจากบริเวณนั้นให้เร็วที่สุด โดยหนีไปอยู่ในที่โล่ง ที่มีอากาศถ่ายเทดี หากมีอาการระคายเคืองให้รีบล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด และไปพบแพทย์   โดยก๊าซนี้จะไม่สะสมในร่างกาย จะถูกขับออกทางลมหายใจ 

.
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย