เนื้อหาวันที่ : 2009-12-16 23:41:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1350 views

MPA นิด้าคาดศก.ไทยปีหน้าโต 3% แนะรัฐเร่งฟื้นความเชื่อมั่น

MPA NIDA ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีหน้าสดใสตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก หลังสัญญาณบวกชัดเจน แนะรัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ดันตลาดหุ้นไทยแตะ 900 จุด

.

ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ หรือ MPA NIDA ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีหน้าสดใสตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก หลังสัญญาณบวกชี้ชัด

.

แนะรัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ พร้อมดูแลค่าเงินบาทและเจาะตลาดส่งออกจีนและอินเดีย คาดเศรษฐกิจปี 53 ขยายตัว 2.5-3% ดันดัชนีตลาดหุ้นไทยแตะระดับ 900 จุด ชูหุ้นกลุ่มส่งออก พลังงาน สื่อสารโทรคมนาคม และธนาคารพาณิชย์โดดเด่น 

.

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (MPA NIDA) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะมีอัตราการเติบโตในระดับ 2.5-3% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 2/2553            

.

ขณะที่อัตราการขยายตัวทั้งปีคาดว่าจะอยู่ในระดับ 2.7% ส่วนในปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบประมาณ 3.5-4% ถึงแม้ว่า ไตรมาส 4 ของปีนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นบวกได้ประมาณ 2% ก็ตาม

.

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวเลขการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ณ สิ้นไตรมาส 3/2552 อยู่ที่ระดับ 65% จากที่เคยลงไปต่ำสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 54.8% เช่นเดียวกับตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก รวมถึงตัวเลขการท่องเที่ยว ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะเดือนตุลาคมมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.4%

.

“คาดว่า ไตรมาส 2/2553 จะเป็นจุดวกกลับของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยที่ผ่านมามีสัญญาณบวกหลายตัวทั้งการใช้จ่ายและการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ดัชนีดาวส์โจนส์ได้ทะยานสูงสุดในรอบปีที่ระดับ 10,500 จุด จากที่เคยลงไปต่ำสุด 6,700 จุดในเดือนมีนาคม

.

เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยก็มีสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ โดยการส่งออกมีออเดอร์มากขึ้น การผลิตเริ่มดีขึ้น รวมถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งหมดถือเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” รศ.ดร.มนตรี กล่าว

.

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปี 2553 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ คาดว่าจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2/2553 และคาดว่าจะอยู่ในระดับ 1.5% ในปลายปี 2553 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.25% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยคาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 3/2553 และคาดว่าในช่วงปลายปีจะอยู่ที่ระดับ 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.25%

.

รศ.ดร.มนตรี ยังกล่าวถึงปัจจัยภายในที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและจับตาเป็นพิเศษด้วยว่า มีอยู่ 5 ประเด็นหลักๆ ประกอบด้วย 1.การดูแลเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ เพราะจะส่งผลต่อภาคการส่งออกที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2.เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ รวมถึงหาช่องทางตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูง เช่น จีนและอินเดียที่คาดว่าในปีหน้าจะมีอัตราการเติบโตในระดับ 8.6% และ 6.5% ตามลำดับ

.

3.พัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวรวมทั้งหาตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ๆ 4.ใช้งบประมาณปี 2553 และเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวมกันกว่า 1.15 ล้านล้านบาทให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงผลตอบแทนจากโครงการต่างๆ

.

และ 5.เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะกรณีปัญหาระงับโครงการลงทุนที่มาบตาพุด ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องรีบดำเนินการแก้ปัญหาให้เกิดความชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพราะถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของ นักลงทุนต่างชาติและอาจโยกฐานไปลงทุนประเทศอื่น

.

“เรื่องปัญหามาบตาพุดเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรีบแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด เพราะผลกระทบจะไม่ได้เกิดเฉพาะแต่ 65 โครงการซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาทที่หยุดชะงักไป แต่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อโครงการอื่นๆ ด้วย เพราะใน 65 โครงการดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับอีกหลายอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งขณะนี้นักลงทุนต่างชาติกำลังจับตามองอยู่ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับมาโดยเร็วที่สุด” รศ.ดร.มนตรี กล่าว 

.

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA NIDA กล่าวต่อว่า ในส่วนภาพรวมตลาดหุ้นไทยนั้นคาดว่าจะมีแนวโน้มที่สดใสตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 750 จุด

.

ขณะที่ปี 2553 ดัชนีมีโอกาสขึ้นไปแตะที่ระดับ 900 จุด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่นคือ กลุ่มส่งออก โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ และธุรกิจเกษตร กลุ่มพลังงาน สื่อสารโทรคมนาคม และธนาคารพาณิชย์