เนื้อหาวันที่ : 2009-12-11 11:44:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1271 views

สนพ.ออกโรงเชียร์รฟฟ.นิวเคลียร์ ยันเป็นทางเลือกที่สำคัญ

สนพ.ยันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่สำคัญ อ้างต้นทุนต่ำ ความปลอดภัยสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระบุกำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษา เตรียมชงให้ประชาชนยอมรับ รัฐบาลตัดสินใจ

.

สนพ.ยันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่สำคัญ อ้างต้นทุนต่ำ ความปลอดภัยสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระบุกำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษา เตรียมชงให้ประชาชนยอมรับ รัฐบาลตัดสินใจ

.

ในงานสัมมนา  “พลังงานนิวเคลียร์ ก้าวแรกพลังงานไทย ก้าวสำคัญลดโลกร้อน”  โดยกระทรวงพลังงานร่วมกับคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา  นายวงกต  วงศ์อภัย  นักวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า  ขณะนี้ทั่วโลกได้รับผลกระทบปัญหาโลกร้อน  ซึ่งเกิดจากก๊าซเรือนกระจก  และทุกฝ่ายกำลังหาทางป้องกัน

.

ในส่วนของประเทศไทยเป็นประเทศที่  24  ของโลกที่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน  โดยแนวทางการดำเนินการทั่วโลกร่วมกันชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  หรือจัดทำนโยบายพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เหมาะสม เพราะคาดว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกในโลกอีก  20  ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ  25-90  ในราวปี ค.ศ.2030 

.

ในส่วนของประเทศไทยร่วมกันลดวิกฤติโลกร้อนด้วยวิถีไทย เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชแทนน้ำท่วมเหมือนในอดีต  เช่น  การพัฒนาพืชทนแล้ง  การปลูกพืชแบบไร่นาผสม  การบริโภคอาหารและใช้ผลิตภัณฑ์ของน้ำ  ลดการใช้ไฟฟ้า  ประหยัดไฟฟ้า  ประหยัดพลังงานและเชื้อเพลิง

.

นายชวลิต  พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า  ทั่วโลกให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์เพราะต้นทุนต่ำอยู่ในอัตรา 2.5-2.6  บาทต่อหน่วย หรือปริมาณสำรองมากอยู่ได้อย่างน้อย  300  ปี  มีความปลอดภัย เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันเป็นระบบปิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 

.

ช่วยความมั่นคงด้านการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงและมีประสิทธิภาพเชื้อเพลิงสูง  โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หากเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าอื่นแล้วจะมีประสิทธิภาพสูงมาก เช่น กรณีเปรียบเทียบเชื้อเพลิง 1 กิโลกรัม  ถ่านหินผลิตไฟฟ้าได้  3 หน่วย ไม้ทั่วไปผลิตได้ 1  หน่วย  นิวเคลียร์  300,000  หน่วย  ในส่วนของไทยอยู่ในการวางแผนที่จะศึกษาเตรียมพร้อม

.

โดยกำหนดทางเลือกว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1,000 เมกะวัตต์ในปี  2563  และอีก  1,000 เมกะวัตต์ ในปี  2564  โดยมีการเตรียมแผนสร้างความปลอดภัย  การเตรียมบุคคลและมาตรฐาน ซึ่งจุดสำคัญทำให้โรงไฟฟ้าเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น  ต้องขึ้นกับการยอมรับของประชาชนและการตัดสินใจของรัฐบาล  ซึ่งขั้นตอนนี้จะอยู่ในปี  2554

.

“ประเทศไทยปัจจุบันพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 70  มีแนวโน้มว่าต้นทุนสูงขึ้นและมีความเสี่ยงในเรื่องการกระจายเชื้อเพลิง  ซึ่งแม้ประเทศไทยจะพยายามหาทางเลือกพลังงานทดแทนอื่น ๆ  แต่มีปัญหาเรื่องความเสถียรภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ แต่จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น  ต้องรอผ่านความเห็นชอบของประชาชนและรัฐบาลเป็นหลัก”  นายชวลิต กล่าว

.

ทั้งนี้  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ช่วยลดปัญหามลภาวะ  โดยหากเปรียบเทียบระหว่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ เทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน  ขนาดเดียวกันจะลดการปลดปล่อยกำมะถันได้ต่ำกว่า  40,000  ตันต่อปี  คาร์บอนไดออกไซด์  8  ล้านตันต่อปี  ไนโตรเจนออกไซด์  10,000  ตันต่อปี  ฝุ่น 6,000  ตันต่อปี 

.

ขณะที่กรณีการเปรียบเทียบการปลดปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการผลิตไฟฟ้า  1  ตันต่อหน่วยนั้น พบว่านิวเคลียร์และพลังน้ำมีการ ปลดปล่อยในอัตราเท่ากัน  คือ  6 กรัมต่อหน่วย  พลังงานลม  22  กรัมต่อหน่วย  เซลล์แสงอาทิตย์  150 กรัมต่อหน่วย  ก๊าซธรรมชาติ  427 กรัมต่อหน่วย  และถ่านหิน  800  กรัมต่อหน่วย.

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานแห่งชาติ, สำนักข่าวไทย