เนื้อหาวันที่ : 2009-12-11 10:35:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 643 views

กฟผ. อ้างหวั่นอนาคตค่าไฟแพง ดันรฟฟ.นิวเคลียร์เป็นนโยบายระดับชาติ

กฟผ.จี้รัฐบาลอภิประชานิยมหนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดันเป็นนโยบายระดับชาติ อ้างหวั่นอนาคตประชาชนต้องใช้ไฟฟ้าราคาแพง ก่อภาวะโลกร้อนมากขึ้น

.

นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยควรจัดทำเป็นนโยบายระดับชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และเรื่องนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและรัฐสภา เพราะหากไม่เตรียมการเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาจทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาค่าไฟฟ้าที่มีราคาแพงในอนาคต และยังก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น

.

โดยขณะนี้หลายประเทศได้ผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้วยการกำหนดเป็นนโยบายแห่งชาติแล้วเช่น เวียดนาม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ผ่านร่างกฎหมายนิวเคลียร์ โดยมี มติให้สร้างเตาปฏิกรณ์ขึ้นจำนวน 4 โรงในพื้นที่ 2 แห่งรวมกำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 4,000 เมกะวัตต์

.

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันทั่วโลกต่างมุ่งไปหานิวเคลียร์ที่มีการสั่งซื้อประมาณกว่า 280 เครื่อง แต่ในส่วนของไทยกลับมีการคัดค้านมาตลอด ตรงนี้เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายต้องร่วมกันชี้แจง สร้างความเข้าใจ เพื่อหาทางออกร่วมกัน

.

นายสมบัติ กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาไฟฟ้าของประเทศขณะนี้ได้พิจารณาทุกแนวทางทั้งโครงการลดการใช้หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงเชื้อเพลิงหลักต่างๆ ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินนิวเคลียร์ และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ต้องยอมรับว่าเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเติบโตการใช้พลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นไปด้วย

.

"ปัจจุบันไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติถึง 75% จึงจำเป็นต้องหาเชื้อเพลิงอื่นๆ เข้ามาลดความเสี่ยง ซึ่งตามแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ประเภทละประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่สร้างภาวะโลกร้อน หากลงทุนจะต้องมีการลงทุนเทคโนโลยีอัดกลับคาร์บอนลงไปในดินด้วย ต้นทุนจะสูงมากถึงประมาณ 2.50 บาทต่อหน่วย ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์ไม่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ออกมาต้นทุนต่ำกว่า โดยรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 2.08 บาทต่อหน่วย หรืออาจจะสูงกว่านั้นหากค่าก่อสร้างสูงขึ้น"

.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในงานสัมมนา "พลังงานนิวเคลียร์ ก้าวแรกพลังงานไทย ก้าวสำคัญลดโลกร้อน" โดยกระทรวงพลังงานร่วมกับคณะกรรมาธิการการพลังงานวุฒิสภา พบว่า ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือก และพลังงานนิวเคลียร์อย่างมาก

.

นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ทั่วโลกให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์ เพราะต้นทุนต่ำอยู่ในอัตรา 2.5-2.6 บาทต่อหน่วย หรือปริมาณสำรองมากอยู่ได้อย่างน้อย 300 ปี มีความปลอดภัย เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันเป็นระบบปิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

.

เนื่องจากไม่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยความมั่นคงด้านการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงและมีประสิทธิภาพเชื้อเพลิงสูง โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หากเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าอื่นแล้วจะมีประสิทธิภาพสูงมาก ในส่วนของไทยอยู่ในการวางแผนที่จะศึกษาเตรียมพร้อม

.

โดยกำหนดทางเลือกว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2563 และอีก 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2564 โดยมีการเตรียมแผนสร้างความปลอดภัย การเตรียมบุคคลและมาตรฐาน ซึ่งจุดสำคัญทำให้โรงไฟฟ้าเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นกับการยอมรับของประชาชนและการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งขั้นตอนนี้จะอยู่ในปี 2554