ชาวบ้านเขาหินซ้อนรวมตัวต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ตระเวนยื่นหนังสือคัดค้าน หวั่นเกิดปัญหาซ้ำรอยโรงไฟฟ้าแม่เมาะและมาบตาพุด ชี้บริษัทให้ข้อมูลด้านเดียวไม่ฟังความคิดเห็นประชาชน
ชาวบ้านเขาหินซ้อนรวมตัวต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ตระเวนยื่นหนังสือคัดค้าน หวั่นเกิดปัญหาซ้ำรอยโรงไฟฟ้าแม่เมาะและมาบตาพุด ชี้บริษัทให้ข้อมูลด้านเดียวไม่ฟังความคิดเห็นประชาชน |
. |
. |
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.52 เวลาประมาณ 09.00 น.ชาวบ้าน ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา กว่า 100 คนรวมตัวกันเพื่อคัดค้านการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีมติอนุมัติรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้า เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ |
. |
โดยชาวบ้านหวั่นจะซ้ำรอยเดิม กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และมาบตาพุด ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีผลกระทบโดยรวม ทั้งในเรื่องสุขภาพ อาชีพ รวมถึงการสร้างความขัดแย้งในชุมชนเหมือนกับการสร้างโรงไฟฟ้าที่ผ่านมา จึงต้องมีการมายื่นขอให้มีการทบทวน EIA ฉบับดังกล่าวเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเพราะที่ผ่านมาขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ |
. |
อีกทั้ง เทคโนโลยีที่ชาวบ้านยังคงตั้งคำถาม กับการที่จะไม่ปล่อยของเสียที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือเขม่าที่เกิดจากการเผาถ่านหินออกสู่สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงปัญหาใหญ่ที่จะซ้ำเติมปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นอยู่แล้วคือ ปัญหาการแย่งน้ำและน้ำเค็มรุกเมื่อถึงหน้าแล้ง |
. |
เพราะปัจจุบัน จ.ฉะเชิงเทราได้มีปัญหาการแย่งน้ำระหว่างอุตสาหกรรมที่มีการส่งน้ำไปให้นิคมอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดระยองใช้ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งในปัจจุบัน จ.ฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่ที่กำลังจะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 2 แห่ง ซึ่งอีกโรงคือ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติของบริษัท สยาม เอนเนอร์ยี่ จำกัด กำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใน อ.บางคล้า |
. |
จากนั้นเวลา 13.00 น.ชาวบ้านได้เดินทางมายัง กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านหากมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน เพราะอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ที่มีการระบุว่าต้องมีการทำรายงานผลกระทบทางสุขภาพก่อน และเพื่อเป็นการย้ำว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง |
. |
และเวลา 14.30 น.ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือคัดค้านหากมีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งหน่วยงานที่กล่าวมารับปากกับชาวบ้านว่าจะมีการดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายและพร้อมที่จะนำความคิดเห็นของชาวบ้านไปรวมการพิจารณา |
. |
ข้อมูลพื้นฐาน |
โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนชนาดใหญ่หรือ IPP (Independent Power Producer) ของบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ซัพพลายจำกัด (National Power Supply) กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ เป็นโครงการ 1 ใน 4 โครงการ IPP ที่ได้รับการประมูล เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2550 ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศในการผลิตไฟฟ้า มีแผนจะก่อสร้างในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรม 304 ของจังหวัดฉะเชิงเทรา |
. |
บริษัทเนชั่นแนลเพาเวอร์ซัพพลายจำกัด เป็นบริษัทลูกของบริษัทซุ่นหัวเซ้งจำกัด (เจ้าของกระดาษ Double A) ซึ่งได้ร่วมทุนกับ บริษัท ซีเอ็มเอส (CMS) จากอเมริกาคนละครึ่ง ในปัจจุบันมี นายสิทธิพร รัตโนภาส อดีตผู้ว่าการ กฟผ.ปี 2545 เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ สภาพพื้นที่โดยรอบรายล้อมไปด้วย พื้นที่ทางการเกษตร ชุมชนที่อยู่อาศัย และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องจากพระราชดำริ |
. |
ตลอดจนอยู่ใกล้พื้นที่ต้นน้ำ มีอ่างเก็บน้ำแควระบม และเขื่อนแควสียัดซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติและแหล่งกักเก็บน้ำฝนซึ่งปล่อยน้ำไหลผ่านลำน้ำธรรมชาติทั้งสองสายไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกงที่อำเภอบางคล้า และแม่น้ำบางปะกงไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทยที่อำเภอบางปะกง |
. |
เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินตำบลเขาหินซ้อน (คตฟ.), เครือข่ายพลังงานสีเขียว , เครือข่ายพนมสารคามพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และเครือข่ายรักษ์แปดริ้ว ได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการเพื่อให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนโครงการตั้งแต่กลางปี 2551 เป็นต้นมา รวมทั้งได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการกับสถานทูตอเมริกันเพื่อส่งต่อให้บริษัท ซีเอ็มเอส ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางปี 2552 นี้เอง |
. |
เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2552 ทั้ง 3 เครือข่ายได้ยื่นจดหมายและเข้าพบนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ชี้แจงเหตุผลที่ชาวบ้านในชุมชนที่รายล้อมโรงไฟฟ้าไม่ต้องการให้ก่อสร้างโครงการและขอให้นายกฯ นำข้อมูลไปพิจารณาด้วย |
. |
แต่จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับคำตอบจากนายกอภิสิทธิ์ ได้รับเพียงจดหมายจากฝ่ายเลขาธิการว่าได้ส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กระทรวงพลังงานแล้ว ชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าอยู่อาศัยและมีที่ดินทำกินอยู่ในรัศมี ไม่เกินกว่า 10 กิโลเมตร จากตัวโรงไฟฟ้า ทั้ง 3 เครือข่ายได้ยื่นข้อมูลผลกระทบที่สำคัญ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และคาดว่าจะเกิดขึ้น โดย รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับแรกไม่มีข้อมูลที่ชาวบ้านเสนออยู่เลย เช่น |
. |
1.เรื่องผลกระทบต่ออาชีพเกษตร และ พื้นที่เกษตรปลอดสารพิษ |
. |
2.โรงไฟฟ้าจะแย่งน้ำทำการเกษตร |
. |
3.ข้อมูลมลพิษของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในเครือเดียวกันซึ่งปัจจุบันเจ้าของโรงไฟฟ้าก็ยังไม่ยอมรับว่าความเสียหายจากพืชผลการเกษตรเกิดจากโรงไฟฟ้า เมื่อมีการร้องเรียน เจ้าของโรงไฟฟ้าก็เอาถ่านหินไปทิ้งไม่ให้เห็นอยู่ในโกดังสำรองเชื้อเพลิง |
. |
4.กระบวนการเปิดเวทีของบริษัทเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียว แจกของ แจกเงิน พาไปเทียวดูงาน ไม่ใช่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ม.67 หรือตามที่อารยะประเทศทำกัน |
. |
5.ผู้คัดค้านเป็นผู้ทำให้กระบวนการในอีไอเอมีการตีกลับและทบทวนใหม่ รวมทั้งส่งให้ทำรายงานเพิ่มเติมถึง 3 ครั้ง แต่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และ คณะชำนาญการพิจารณาอีไอเอไม่แจ้งผู้คัดค้านทราบว่า รายงานเพิ่มเติมได้ถูกส่งเข้าพิจารณาแล้ว และทางจังหวัดฉะเชิงเทราที่ได้รับแจ้งจาก สผ.ก็ไม่บอกผู้คัดค้าน |
. |
ทำให้อีไอเอฉบับที่ 4 ผ่านการพิจารณาไปเมื่อ ตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นการจงใจปกปิดข้อมูลผู้ร้องเรียน เพื่อให้อีไอเอผ่านการอนุมัติ เพื่อให้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.มีผลบังคับใช้ และเป็นประโยชน์กับฝ่ายบริษัท โดยไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชนที่สามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอาโครงการ |
. |
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท |