Products Showcase

Aeroscope ออสซิลโลสโคปจิ๋วแบบไร้สาย

 

เชื่อว่าออสซิลโลสโคปเป็นเครื่องมือที่เหล่านักอิเล็กทรอนิกส์ทุกคน ต่างก็คุ้นเคยกันมานาน คงจะดีถ้าเจ้าเครื่องมือตั้งโต๊ะที่มีขนาดใหญ่นี้ ถูกย่อให้มีขนาดที่เล็กจนพกพาไปใช้งานได้ง่ายๆ ยิ่งถ้าไม่ต้องมีสายสโคปยาวรุงรังด้วยแล้ว ก็จะยิ่งดีมากขึ้นไปอีก และที่ว่ามาทั้งหมดก็คือคำอธิบายและรูปลักษณะของเครื่องมือวัดแบบใหม่ที่ ชื่อ Aeroscope นั่นเอง

 

     Aeroscope เป็นออสซิลโลสโคปแบบไร้สายซึ่งมีขนาดเล็ก มองโดยผิวเผินแล้วรูปร่างดูแล้วเหมือนกับลอจิกโพรบไม่มีผิด รูปสัญญาณต่างๆ ที่ได้จากการวัดโดยใช้ Aeroscope จะถูกส่งแบบไร้สายไปแสดงผลยังแอพฯ ที่ติดตั้งอยู่บนแท็บเล็ต (Android หรือ iPad) โดยใช้การสื่อสารผ่านทาง Bluetooth 4.1 ในการใช้งานจึงไม่ต้องปวดหัวกับสายโพรบที่รุงรัง แถมการพกพาไปใช้งานก็ทำง่าย

 

          สำหรับสเปคโดยคร่าวๆ ของ Aeroscope มีดังนี้

 

  • Analog Bandwidth – 100 MHz
  • Sample Rate – 500 M samples/second
  • Input Range – ±40V
  • DC Accuracy – ±3%
  • Offset Range – ±40V or ±20V offset for 20mV/div setting
  • Sample Memory Depth – 10k
  • Input Impedance – 10MΩ || 12pF
  • Resolution – 20 mV/division ถึง 10 V/division
  • แบตเตอรี – 950 mAh (ใช้งานได้ระหว่าง 4 ถึง 8 ชั่วโมง ขึ้นกับการตั้งค่าใช้งาน)
  • ช่องทางสื่อสาร – Bluetooth 4.1 ใช้งานได้ในรัศมี 60 เมตร
  • รองรับ Touch Gesture ในการปรับค่า offset, trigger delay, horizontal and vertical scales
  • Trigger Control (Rising Edge, Falling Edge, Any Edge)
  • รองรับการวัดค่า – amplitude (Vpp, Vrms), frequency, average voltage
  • ขนาด – 118 x 30 x 20 มิลลิเมตร
  • น้ำหนัก – 50 กรัม

 

          ขณะนี้แอพฯ สำหรับ iOS เสร็จและมีพร้อมให้ใช้งานได้แล้ว ส่วน Android คาดว่าจะตามออกมาในไม่ช้า อ้างอิงจากข้อมูลที่ Aeroscope Lab เจ้าของโครงการให้ไว้ คาดว่าโครงการนี้จะเป็นแบบโอเพนซอร์ส ซึ่งข้อมูลต่างๆ ของแอพฯ รวมทั้งข้อมูลต่างๆ เช่น โปรโตคอลในการสื่อสาร จะถูกเปิดให้นักพัฒนาสามารถต่อจะยอดและนำไปประยุกต์ใช้ในงานที่ต้องการได้ โดยแอพฯ ในเวอร์ชันปัจจุบัน จะสามารถวัดค่าได้เพียง 1 แชนแนล (channel) เท่านั้น ซึ่ง Aeroscope Lab ก็กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาฟีเจอร์ในการวัดค่าจาก 2 แชนแนล พร้อมกันได้ ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาอีกสักหน่อย

 

โครงการ Aeroscope ยังคงอยู่ระหว่างระดมทุนผ่านทาง crowdfunding ที่ชื่อว่า Crowdsupply โดย Aeroscope Lab ต้องการระดมทุนเป็นจำนวนเงิน 100,000 ดอลลาร์ เพื่อใช้ในการผลิต สำหรับคุณผู้อ่านที่ต้องการข้อมูล หรือต้องการจะช่วยสนับสนุนโครงการนี้ให้เป็นจริง ก็สามารถจะดูข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ http://aeroscope.io

  

 

Science Journal แอพฯ สำหรับนักทดลองผู้ไม่ชอบอยู่สุข

 

Google คงเชื่อว่าภายในส่วนลึกของพวกเราทุกคนน่าจะมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ใน ตัว จึงได้ปล่อยแอพฯ ใหม่ล่าสุด ที่สามารถจะเปลี่ยนสมาร์ทโฟนของเราให้กลายเป็นเครื่องมือทดลองรุ่นจิ๋วแต่ แจ๋ว เจ้าแอพฯ ที่ว่านี้ก็มีชื่อว่า Science Journal

 

     โดยแอพฯ นี้จะใช้เซนเซอร์ภายในสมาร์ทโฟนในการวัดค่าและบันทึกข้อมูลต่างๆ แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหว ระดับแสง และเสียง นอกจากนั้น Science Journal ก็ยังสามารถถูกเชื่อมเข้ากับ Arduino101 โดยผ่านทาง Bluetooth LE เพื่อใช้สร้างให้เป็นเครื่องมือในการทดลองที่ซับซ้อนมากขึ้นได้อีกด้วย

 

          จริงอยู่ว่า มีแอพฯ จำนวนตั้งมากมายที่สามารถจะเข้าถึง และอ่านค่าจากเซนเซอร์ภายในสมาร์ทโฟนได้เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ Science Journal ให้ได้มากกว่า ก็คือการที่เราสามารถบันทึกค่าข้อมูลที่เกิดขึ้นได้ในรูปของกราฟ (graph) และแผนผัง รวมทั้งการจัดเก็บ เรียบเรียงและรวบรวมข้อมูล รวมทั้งจดโน๊ตต่างๆ จากการศึกษาแต่ละครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถจะบันทึกข้อความเสียงไปในขณะทำการทดลองเพื่อช่วยให้สามารถจำราย ละเอียดต่างๆ ระหว่างการทดลองได้ เป็นต้น

 

          นอกจากนั้น Google ยังได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ เช่น Jameco (http://www.jameco.com), makershed (http://www.makershed.com) และ Sparkfun (https://www.sparkfun.com) ซึ่งผู้สนใจสามารถจะสั่งซื้อชุดอุปกรณ์ประกอบการทดลอง สื่อการสอนแบบต่างๆ ที่พาร์ทเนอร์แต่ละรายได้ออกแบบขึ้น เพื่อนำมางานใช้ร่วมกับ Science Journal ได้ด้วย

 

 

คุณผู้อ่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลด Science Journal ได้ฟรีจาก Play Store ของ Google และถ้าต้องการข้อมูลที่เกี่ยวกับ Science Journal เพิ่มเติม ก็สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ https://makingscience.withgoogle.com ส่วนผู้ที่ใช้งาน iOS ก็คงต้องอดใจรอติดตามความคืบหน้ากันอีกสักพัก