Environmental

สะแกราช โมเดล ต้นแบบจัดการผืนป่าอย่างยั่งยืน

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

 

 

 

จากข้อมูลย้อนหลังถึง 30 ปี พบว่าสภาพป่าของสะแกราชกว่า 50,000 ไร่ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีการบุกรุก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าป่าได้รับการดูแลอย่างดี จนทำให้ป่าสะแกราชได้รับการยกย่องให้เป็นพื้นที่ชีวมณฑลจากยูเนสโก และยังถือเป็นป่าอันทรงคุณค่า ที่รองรับงานวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประเทศและต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยส่วนรวม

 

 

          ความเดิมจากคราวที่แล้ว ผู้เขียนได้หยิบยก โมเดล ธนาคารต้นไม้ ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วิถีของการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพิ่มทรัพย์ในดิน-สกัดวิกฤตธรรมชาติ ด้วย การรณรงค์ชุมชนปลูกป่าโดยสมัครใจในที่ดินของตนเอง ซึ่งยังประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ผลพวงจากภาวะโลกที่ร้อนขึ้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทรัพย์ในดิน สร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้กับผู้ปลูกหรือชุมชน เพราะสามารถใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากธนาคารได้ อย่างไรก็ดี แม้การรณรงค์ปลูกต้นไม้หรือปลูกป่าจะมีความสำคัญ ทว่าการรักษาผืนป่าที่มีอยู่เดิมให้คงอยู่และเจริญเติบโตได้ต่อไปก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และนับเป็นโชคดีของชาวไทยที่มีต้นแบบดี ๆ ให้ได้เห็นกัน จาก สะแกราช โมเดล หรือ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา ที่ประสบความสำเร็จในการรักษาผืนป่าเอาไว้ได้และยังสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข

 

 

สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อยู่คู่ผืนป่าธรรมชาติมาเกือบครึ่งศตวรรษ

 

          ทั้งนี้ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อยู่คู่ผืนป่ามานานเกือบ 50 ปีแล้ว โดยก่อตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2510 หรือกว่า 48 ปีแล้ว จากการที่ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม และนิเวศวิทยาที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศและต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยส่วนรวม  โดยให้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งในขณะนั้นคือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย (สวป.) ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจากกรมป่าไม้เพื่อทำงานวิจัยในลักษณะพหุศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาของป่าเขตร้อน (ป่าดงดิบ) สถานีวิจัยฯ มีพื้นที่ต้องดูแลเป็นเนื้อที่ประมาณ  78 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 48,750 ไร่ สถานีฯ อยู่สูงประมาณ 390 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในเขต ต.ภูหลวง อ.ปักธงชัย ต.วังน้ำเขียว และ ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครราว 300 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ 60 กิโลเมตร มีสภาพอากาศอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 26 องศาเซลเซียส

 

          สภาพผืนป่าส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 720-770 เมตร เป็นป่าผสมผสานระหว่างป่าไม้ 2 ชนิด ได้แก่ ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) และป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) ป่าดิบแล้งค่อนข้างเป็นป่าทึบ ความหนาแน่นประมาณ 123 ต้นต่อไร่ พันธุ์ไม้สำคัญของป่าดิบแล้ง เช่น  ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง และกระเบากลัก เป็นต้น ส่วนป่าเต็งรัง เป็นป่าโปร่ง ความหนาแน่นราว 84 ต้นต่อไร่ ประกอบด้วย ต้นเต็ง ต้นรัง ต้นพลวง ต้นเหียงและต้นพะยอม เป็นต้น โดยป่าทั้ง 2 ชนิดนี้ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 70% ของพื้นที่สถานีวิจัยฯ นอกเหนือจากนั้นเป็นป่าชนิดอื่น ๆ เช่น ป่าไผ่ ป่าปลูก และทุ่งหญ้า

 

 

ยูเนสโกยกเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล สัตว์-พืชหายาก พบได้ที่ สะแกราช

 

          หากใครได้มีโอกาสมาเยือน สถานีวิจัยฯ แห่งนี้ จะสัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริงนับแต่ย่างก้าวแรกที่เข้ามา จากความร่มรื่นของร่มเงาไม้จากป่าปฐมภูมิเรือนยอดชิดกันจนง่ายต่อการปีนป่ายของสัตว์ที่ใช้ชีวิตบนต้นไม้  ได้สูดอากาศบริสุทธิ์สดชื่นอย่างเต็มปอด ได้เห็นดอกไม้ป่า พืชพรรณแปลกตาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ควบคู่ไปกับเสียงนกและสัตว์อื่น ๆ ส่งทักทายคนแปลกหน้า ด้วยผืนป่าแห่งนี้ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและยังเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ พืชหลายชนิด รวมถึงพืชสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ของโลกด้วย

 

          จากผลงานการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาของสถานีวิจัยฯที่มีอยู่ไม่น้อย (มากกว่า 500 เรื่องในปัจจุบัน) ทำให้เป็นที่รู้จักทั่วไปทั้งภายในและต่างประเทศ จนในปี 2519 สถานีฯ ได้รับการเสนอเพื่อพิจารณาในที่ประชุมยูเนสโก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียและได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนเป็น พื้นที่สงวนชีวมณฑล (UNESCO Biosphere Reserves) ซึ่งหมายถึง พื้นที่อนุรักษ์สังคมพืชและสัตว์ในระบบนิเวศที่เป็นธรรมชาติ แห่งแรกของไทย ภายใต้โครงการ Man and the Biosphere (MAB) ถือเป็น 1 ใน 7 แห่งของเอเชีย และเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ทำหน้าที่ดำเนินการอนุรักษ์พัฒนา และการสนับสนุนการศึกษาวิจัย เชื่อมโยงกับเครือข่ายนานาชาติทั่วโลกที่มีอยู่  651 แห่งใน 120  ประเทศ (ส่วนในไทยมีอีก 3 แห่งตามมา ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-ห้วยคอกม้า จังหวัดเชียงใหม่, พื้นที่สงวนชีวมณฑลสวนสัก-ห้วยทาก จังหวัดลำปางและพื้นที่สงวนชีวมณฑล ป่าชายเลนจังหวัดระนอง) 

 

          จากการศึกษาวิจัยพบสัตว์ป่าหายากในเขตสถานีฯ สะแกราช รวม 490 ชนิด โดยแบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 79 ชนิด เช่น เก้งและหมูป่า เป็นต้น สำหรับสัตว์ปีกมี 290 ชนิด โดยสิ่งที่สร้างความประทับใจแก่ผู้ไปเยือนทั่วไป ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าและนกชนิดต่าง ๆ ที่จะออกมาเดินทางหาอาหาร นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวน  29 ชนิดและสัตว์เลื้อยคลาน 92 ชนิด

 

          ในจำนวนสัตว์ดังกล่าว ถูกจัดเป็นสัตว์ค้นพบใหม่และไม่เคยพบมาก่อน 61 ชนิด ประกอบด้วยนก 47 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 12 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลาน 1 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 1 ชนิด ในจำนวนนี้จัดเป็นสัตว์หายาก 11 ชนิด สัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 1 ชนิด เป็นสัตว์สงวนได้แก่ เลียงผา นอกจากนี้ยังมีสัตว์เฉพาะถิ่น 2 ชนิดคือ ตุ๊กแกป่าดงพญาเย็นและจิ้งเหลนปักธงชัย รวมถึง กบชนิดใหม่ของโลกที่มีชื่อว่า “กบปากใหญ่โคราช” อยู่ในบัญชีรายชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่เพิ่งประกาศไปล่าสุดปี 2558 ที่ผ่านมา 

 

          สถานีวิจัยฯร่วมกับ วว. เปิดเผยการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่  41 ชนิดในปีที่ผ่านมา ได้แก่ กบปากใหญ่โคราช, ยีสต์ชนิดใหม่, เชื้อราบนผลไม้, เชื้อราจากดิน, อะซิติกแอซิดแบคทีเรีย, เพลี้ยอ่อน, ตั๊กแตนเขาสูง, ตั๊กแตนทีเนีย, ตั๊กแตนบิโลบัส, ตั๊กแตนปักธงชัย, ตั๊กแตนมัลติเดนติคูลาตัส, ตั๊กแตนสะแกราช, มวน Moteus, มวนพิอุส Pius, มวนสยามเอนซิส Siamensis, มวนเครเนียน Kranion, มวน Lancialium, มวน Alastini, มวน Barbiger, มวน Gigiraffoides, มวน Maculatus, มวน Pleiku, มวน Portentosus, มวนเสาวพฤกษ์, มวนดาวตก, มวน Suparallelus, มวน Castaneus, มวนสะแกราช, มวนภูวษา, มวนสีดำขนาดเล็ก, มวน Schuianus, งูดินโคราช, ตุ๊กแกบินลายสามแถบ, ตุ๊กแกป่าดงพญาเย็น, ตั๊กแตนเขาสูง, ตั๊กแตน Tinae, แมงช้างนภีตะภัฎ, ไรนภีตะภัฎ, ชิงช้าสะแกราช, ราชนิดใหม่ของโลกบนซากผลยางปาย และจิ้งเหลนปักธงชัย ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นสกุลใหม่ของโลก

 

          เวลานี้ยังมีนักวิจัยและสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศอยู่ระหว่างการศึกษาอีก 39 โครงการ และยังมีองค์ความรู้อีกมากมายรอการค้นพบในผืนป่าใหญ่ของสถานีฯ สะแกราช ทั้งด้านชนิดพันธุ์พืช สมุนไพร ป่าไม้ สัตว์ป่าและจุลินทรีย์

 

 

บทบาท ห้องเรียนศึกษาธรรมชาติ -พักผ่อนหย่อนใจ

 

          ในปัจจุบัน สถานีฯ สะแกราช นอกจากเป็นสถานที่เพื่อการวิจัย ทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน ศึกษาธรรมชาติของป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง พรรณพืชและพันธุ์สัตว์นานาชนิดแล้ว ยังเป็นห้องปฏิบัติการธรรมชาติ สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่ใช้พื้นที่ป่าไม้ในเขตสถานีฯ โดยแต่ละปีมีนักเรียนมาเข้าค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนถึง 135 ค่ายหรือประมาณ 15,000 คนต่อปี ซึ่งได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ต้องใช้เวลาจองกันยาวนานเกือบ 2 ปี เด็ก ๆ มาแล้วได้เรียนรู้พร้อมกับได้รับการปลูกฝังให้รักป่า รักธรรมชาติไปด้วยในตัว โดยมีการจัดเป็นค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับ 1 วัน (ไป-กลับ), สำหรับ 2 วัน 1 คืน แบบมาถึงเช้าและบ่าย และแบบ 3 วัน 2 คืนและมีค่าใช้จ่ายไม่แพง  

 

          ขณะเดียวกันสถานีฯ ยังมีบทบาทเป็นศูนย์การประชุมและสัมมนา เนื่องจากมีความพร้อมทั้งที่พัก สถานที่ประชุมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้ได้สัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง ซึ่งมีการจัดกิจกรรมสำหรับท่องเที่ยว 1 วันและแบบ 2 วันอย่างเหมาะสม สำหรับผู้ชื่นชอบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การันตีด้วยรางวัลดีเด่น ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

 

 

สะแกราชโมเดลเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์

 

 

ผลักดันสู่สะแกราช โมเดล ต้นแบบความสำเร็จ ดูแลผืนป่าอย่างยั่งยืน

 

          จากความสำเร็จในการดูแลรักษาผืนป่าของสถานีฯ สะแกราช ส่งผลให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงผลักดันเพื่อให้จัดทำพื้นที่ต้นแบบสะแกราชขึ้นหรือ สะแกราช โมเดล ระดม คณะการบูรณาการและเชื่อมโยงงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อทรัพยากร จัดทำแผนพัฒนาแหล่งสงวนชีวมณฑล โดยใช้สถานีฯ สะแกราช เป็นพื้นที่ต้นแบบในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) บนพื้นฐาน “ประชารัฐ” บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างสมดุลและยั่งยืน 

 

          และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้นำร่องจัดงานสัมมนา เรียนรู้ความสำเร็จในการรักษาผืนป่าอย่างยั่งยืน ณ สถานีวิจัยสะแกราช เพื่อเป็นเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและถอดบทเรียนแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการผืนป่าสะแกราชภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารแนวปฏิบัติที่ดีแก่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยงานรับผิดชอบในการดูแลรักษาป่า หน่วยงานที่มีศักยภาพในพื้นที่ รวมถึงภาคประชาสังคมได้นำบทเรียนไปใช้

 

 

 

หัวใจของความสำเร็จของสะแกราชโมเดล

 

 

การติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า

 

 

 

จัดโซนนิ่งพื้นที่ชัดเจน –สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี คนกับป่า -กุญแจสู่ความสำเร็จพิทักษ์ป่า

 

          ดร.ทักษิณ อาชวาคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ได้สรุป ปัจจัยสำคัญ ๆ ที่ทำให้การดูแลผืนป่าประสบความสำเร็จ ว่า เป็นผลจากการแบ่งโซนชัดเจน ว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์และพื้นที่ปรับเปลี่ยนเพื่อให้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยกำหนดกิจกรรมที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ และการทำงานที่มีความต่อเนื่องของหน่วยงานและบุคลากรที่รับผิดชอบ โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ

 

 

 

ดร.ทักษิณ อาชวาคม

ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช

 

 

          1. การโซนนิ่งพื้นที่ออกมาให้ชัดเจน ซึ่งเดิมในการก่อตั้งสถานีฯ ปี 2510 มีพื้นที่ครอบคลุมเพียง 80 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 50,000 ไร่ และในพื้นที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและยังคงมีการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตร หาของป่าและล่าสัตว์ แต่หลังจากได้รับการับรองเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ซึ่งหมายถึง พื้นที่อนุรักษ์สังคมพืชและสัตว์ในระบบนิเวศที่เป็นธรรมชาตินั้น ได้มีการขยายแนวเขตออกไปอีกราว 1,082,295.86 ไร่ ครอบคลุมถึงอุทยานทับลานและป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง พื้นที่ดูแลที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าเดิมดังกล่าว แน่นอนว่า จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีด้วยเพื่อให้สามารถรักษาผืนป่าเอาไว้ให้ได้ ซึ่งได้มีการจัดการพื้นที่เป็น 3 เขต ได้แก่

               1.1 เขตแกนกลาง (Core Areas) ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เพื่อสนองต่อบทบาทด้านการอนุรักษ์ ไม่มีกิจกรรมใดในพื้นที่แกนกลาง ยกเว้น การวิจัย มีการติดตามตรวจสอบ หากจำเป็นอาจอนุญาตให้มีการใช้ทรัพยากรชีวภาพได้ตามที่ชุมชนท้องถิ่นต้องการ พื้นที่ส่วนนี้เปรียบได้กับห้องเรียนธรรมชาติ เป็นธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพให้นักวิจัย นักศึกษา นักเรียนและบุคคลทั่วไปเข้ามาศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล โดยเขตแกนกลางนี้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวงมีพื้นที่ 59.05 ตารางกิโลเมตร หรือ 36,905 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.41 ของพื้นที่

               1.2 เขตกันชน (Buffer Area) เป็นพื้นที่ล้อมรอบหรือติดกับพื้นที่แกนกลางและช่วยคุ้มครองพื้นที่แกนกลางให้เป็นที่ผ่อนปรน มีกิจกรรมที่ไม่ขัดแย้งกับการอนุรักษ์ในเขตแกนกลาง สามารถใช้ดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อระบบนิเวศได้ เช่น การศึกษาวิจัย การฝึกอบรมให้ความรู้ทั้งด้านนิเวศวิทยา การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น เขตนี้ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติส่วนของพื้นที่ปลูกป่าทดแทนตามธรรมชาติที่ถูกบุกรุกในอดีต มีพื้นที่ 112.87 ตารางกิโลเมตร หรือราว 70,543.60 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.52 ของพื้นที่

               1.3 เขตรอบนอก (Transition Area) เป็นพื้นที่ที่มีการอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรม มากที่สุดได้แก่ กิจกรรมด้านการเกษตร การตั้งถิ่นฐานและการใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่น โดยพื้นที่รอบนอกเป็นพื้นที่ที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมประเพณีและวัฒนธรรม ที่ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนของระบบนิเวศในพื้นที่สงวนชีวมณฑล โดยเขตนี้ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางส่วนของอุทยานแห่งชาติทับลานและพื้นที่ป่าอื่น ๆ ประกอบด้วยพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ใช้ประโยชน์รวม 1,559.76 ตารางกิโลเมตร หรือ 974,847.26 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 90 ของพื้นที่ทั้งหมด ครอบคลุม 11 ตำบล 166 หมู่บ้านวังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา

 

           2. นอกจากนี้แล้วยังต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยในช่วงระหว่างปี 2525-2525 ได้จัดทำกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า มากกว่า 100 ครอบครัว โดยสำนักปฏิรูปที่ดิน (สปก.) วังน้ำเขียว  หรือแยกคนออกจากป่า แยกพื้นที่ใช้ประโยชน์ชัดเจน โดยมีการจัดสรรที่ทดแทนให้เป็นที่อยู่อาศัย-ปลูกบ้านครอบครัวละ 2 งานและที่ทำกินครอบครัวละ 20 ไร่ พร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยตามรระเบียบการปลูกพืช เพราะมีความเชื่อว่า ป่าที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ได้ ต้องไม่มีภาวะที่ถูกรบกวน ซึ่งได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดการบุกรุกพื้นที่ป่า ส่วนพื้นที่ที่เคยทำการเกษตรก็มีการปลูกป่าทดแทนและบางส่วนที่ไม่ได้ปลูกป่าทดแทนและกลายเป็นทุ่งหญ้า ได้มีการฟื้นฟูเองโดยธรรมชาติ

 

           จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและดาวเทียม 50 ปีย้อนหลังโดยการวิจัยจากญี่ปุ่นพบว่า พื้นที่ป่าในพื้นที่ป่าดิบแล้งรอบ ๆ ทุ่งหญ้ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5 เมตรต่อปี ซึ่งยืนยันได้อย่างชัดเจนจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจากคณะทำงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)

 

           “ถ้าป่ารอบนอกอยู่ได้ ย่อมหมายความได้ว่า ป่าชั้นใน (แนวกันชนและแกนกลาง) ก็อยู่ได้ มั่นใจว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็จะไม่เหลือพื้นที่ป่าเพื่อเป็นพื้นที่ศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาเช่นที่ผ่านมาอีกแล้ว”  ดร.ทักษิณ กล่าวอย่างจริงจัง

 

 

ดึงวิทย์ช่วยงานป้องกันและอนุรักษ์ เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ของป่าไม้และสัตว์ป่า

 

          ในขณะเดียวกันองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ถูกดึงมาใช้ทุกอย่างร่วมกับระบบนิเวศ ในการป้องกันและอนุรักษ์ผืนป่า ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์มีเทคโนโลยีฯมีพร้อมเกือบทุกด้าน เช่น ระบบบริการสนับสนุนการป้องกันการบุกรุกป่าของ สทอภ. โดยใช้ข้อมูลดาวเทียม เทคโนโลยีติดตามน้ำ สัตว์ ส่งเสริมอาชีพ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูก-ขยายพืชป่ากินได้โดยใช้แม่พันธุ์จากป่าสะแกราช  หรือการแปรรูปพืชผลจากป่า เป็นต้น

 

          ดร.ทักษิณ กล่าวว่า ป่าเปรียบเสมือนธนาคาร ที่ออกดอกออกผลให้เราได้ใช้ประโยชน์ จึงนำวิทยาศาสตร์มาใช้ด้วยการส่งเสริมงานวิจัยด้านพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อดูว่า มีสมบัติอะไรอยู่บ้าง จากนั้นมาดูว่า สมบัติที่มีอยู่มีประโยชน์กับมนุษย์อย่างไร และมีการศึกษาในห้องปฏิบัติการต่อไป อย่างครบวงจร ยึดหลักการโปรแกรมมนุษย์และสงวนชีวมณฑล (Programme on Ma and Biosphere-MAB) ที่เน้นการอนุรักษ์ สนับสนุนการวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ซึ่งพบว่า ทำให้มีการทำการเกษตรในเขตป่าสงวนชีวมณฑลสะแกราชลดลง แต่มีงานวิจัยเพิ่มขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมและสร้างจิตสำนึกให้กับเด็ก ๆ ตลอดทั้งปี

 

          “การมีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยเข้ามาศึกษาค้นคว้า รวมถึงนักเรียนมาศึกษาห้องเรียนธรรมชาติ นอกจากจะได้ประโยชน์ทางวิชาการแล้ว ยังช่วยเป็นหูเป็นตา ดูแลผืนป่า เสริมงานป้องกันของเจ้าหน้าที่ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งโดยปกติมีเจ้าหน้าที่ทำงานลาดตระเวนอยู่แล้ว แต่มีจำนวนน้อย นอกจากนี้มีนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาศึกษาว่ามีอะไรที่มีประโยชน์บ้าง ซึ่งมีพื้นบ้าน ผักกินได้ ผลไม้ป่า ต่อไปจะทำพวกสมุนไพร ดึงออกมาใช้”

 

          นอกเหนือจากนี้ยังมีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจังร่วมกันของชุมชนและเจ้าหน้าที่ซึ่งถือเป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่ง ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลป่า การปลูกต้นไม้ในโรงเรียน วัดและสถานที่ราชการต่าง ๆ การส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งมีการส่งเสริมเจ้าหน้าที่และพนักงานให้ทำงานต่อเนื่องยาวนาน ทุ่มเท กระตุ้นและให้กำลังใจคนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดงานที่มีคุณภาพ

 

          “วว. ได้ดูแลสถานีฯต่อเนื่องมายาวนานกว่า 40 ปีและบุคลากรอยู่นาน ทำให้ประชาชนมีความคุ้นเคย มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน”

 

 

สะแกราชโมเดล ต้นแบบความร่วมมือหลายภาคส่วน-ตรงบริบทโลกที่ยอมรับแล้วว่าอากาศ

 

          เวลานี้ความสำเร็จของสถานีฯสะแกราชได้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อหน่วยงานในส่วนของป่าไม้และขยายผลไปยังส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาค โดยมี สทอภ. ทำหน้าที่ไปค้นหาว่า มีพื้นที่ใดบ้าง

 

          ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่า “ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ที่มีหน่วยงานระดับโลกยกย่องสถานีฯ สะแกราช เป็นต้นแบบของการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยบริหารจัดการ ใช้ทุกอย่างไม่ใช่แค่อุปกรณ์ เราใช้พื้นที่ในการหาความรู้และถ่ายทอดความรู้ ทำให้ไม่เสียพื้นที่ป่าเลยแม้เพียงนิดเดียว เราเป็นต้นแบบให้กับอาเซียนและเป็นต้นแบบให้กับโลกได้ด้วย โดยเฉพาะโลกที่อยู่ในเขตร้อน เขตศูนย์สูตร ดังนั้นจึงต้องทำให้ดียิ่งขึ้นและขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

 

 

 

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ร่วมเสวนาการเรียนรู้ความสำเร็จในการรักษาผืนป่าอย่างยั่งยืน

 

 

          ทั้งนี้โดยภาพรวมกล่าวได้ว่า การอนุรักษ์ผืนป่าธรรมชาติไว้ส่งผลดีตามมาหลายอย่าง นอกจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์พืช มีการอยู่ร่วมกันของผู้ผลิต ผู้บริโภคและผู้ย่อยสลายในธรรมชาติแล้ว ป่าที่สมบูรณ์จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ได้เช่น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ น้ำ ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลเร่งแก้ไขในปัจจุบัน เพราะการมีป่าที่สมบูรณ์ดีจะส่งผลกระทบน้อยลงช่วยกักเก็บน้ำ ลดปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำป่าไหลบ่าเร็วและชะดินโคลนถล่มจากการมีต้นไม้ที่แข็งแรงช่วยต้านทาน

 

          นอกจากนี้สถานีฯ สะแกราช ยังตรงกับประเด็นฮอตของโลกปัจจุบัน ที่มีเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) โดยเฉพาะในเรื่อง ภูมิอากาศโลกเปลี่ยน ซึ่งวันนี้โลกยอมรับแล้วว่า สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง มีความพยายามร่วมมือกันเพื่อจะไม่ให้โลกร้อนขึ้น 2-3 องศาเซลเซียสและจะให้ลดลง 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030 

 

          ต้นไม้เป็นตัวช่วยอย่างดีเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้อย่างมหาศาล ในขณะที่ปล่อยก๊าซออกซิเจนที่มนุษย์ใช้หายใจ โดยมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แตกต่างกันไป

 

          จากคู่มือศักยภาพของพรรณไม้สำหรับส่งเสริมภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาดภาคป่าไม้, 2554 โดยสำนักวิเคราะห์และติดตามประเมินผล องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ประเมินที่ความหนาแน่น 100 ต้นต่อไร่พบว่า  ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บได้ของต้นสัก 2.16 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี, ต้นยูคาลิปตัส  6.09 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี, กระถินเทพา 6.09 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี, กระถินณรงค์ 4.40 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี,กระถินยักษ์ 6.49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี,โกงกาง 2.75 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี, ยางพารา 4.22 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีและปาล์มน้ำมัน 2.49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ต้นไม้ยิ่งมากยิ่งดูดซับก๊าซดังกล่าวได้มาก

 

          ดังนั้นการหวงแหนรักษาแหล่งทรัพยากรมีค่านี้จึงมีความสำคัญยิ่งทั้งต่อคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นหลัง โดยเฉพาะใน 10-15 ปีข้างหน้า ประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน3 ของประชากรทั้งประเทศ ป่าจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ วิจัยเพื่อมาต่อยอดสร้างประโยชน์ได้อาหาร ยาดี  ๆ สร้างรายได้ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ เป็นสถานที่พักผ่อน อีกทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำให้เด็ก ๆ มีสมาธิ ปลูกฝังจิตใจที่ดี สังคมสงบสุข

 

          ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะนำพาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน....ตามแนวนโยบายของรัฐบาลนั่นเอง

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด