Management

“ฝึกงานด้วยงาน” พัฒนางานด้วยการเรียนรู้จริง

พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล

 

 

 

 

การฝึกงานมีหลากหลายวิธีเพื่อให้พนักงานในองค์กรได้พัฒนาศักยภาพการทำงาน หรือการฝึกงานให้กับพนักงานใหม่ การฝึกงานโดยใช้วิธีลงมือทำจริงกับงานจริงเป็นการทำงานที่อาศัยความรู้ความสามารถและการเปิดโอกาสให้กับพนักงานได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ น่าสนใจอย่างไร ทำไมหลายองค์กรชอบใจวิธีนี้กับพนักงาน

 

          พนักงานที่เข้าทำงานใหม่หรือพนักงานใหม่ที่เพิ่งจะได้เข้าทำงานมักจะได้เจอด่านทดสอบต่าง ๆ ตามแต่ประเภทขององค์กร บางที่สอบข้อเขียนเพื่อวัดพื้นฐานความรู้ ตามด้วยการสอบสัมภาษณ์ บางที่คัดสองรอบเพื่อให้ได้พนักงานที่ต้องการจริง ๆ นั่นก็เป็นกระบวนการคัดสรรบุคคลขององค์กร แต่เมื่อได้เข้ามาทำงานจริง ๆ แล้ว ขั้นตอนการสอนงานหรือเทรนนิ่งก็จะต้องเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะจัดการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพนักงานที่จะเข้ามารับหน้าที่นั้น ๆ พนักงานใหม่ ๆ มักยินดีกับการได้ฝึกงานง่าย ๆ ก่อนและค่อย ๆ ปรับตัวเรียนรู้งานไปเรื่อย ๆ แต่ก็มีอีกกลุ่มที่ชอบจะทำงานจริงจังเลยทีเดียว เพราะการทำงานจริงแล้วมีพี่เลี้ยงช่วยสอนช่วยประคองให้เป็นการทำงานที่ท้าทายและงานจะก้าวไปข้างหน้าเร็วขึ้นเพราะมีคนช่วยทำงาน แล้วมีอะไรบ้างที่เป็นส่วนช่วยให้การเทรนนิ่งงานแบบนี้ไปได้เร็วไร้ปัญหา

 

 

เริ่มจากรู้จักงานที่ทำ

 

          เป็นเรื่องง่ายขึ้นเมื่อการรับสมัครหรือคัดเลือกคนเข้ามาทำหน้าที่ใหม่มีการคัดสรรคนให้ตรงกับความสามารถมาแล้วในเบื้องต้น แต่คนที่ทำงานจริง ๆ แล้วทำได้ดีเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน ดังนั้นการคัดสรรคนเข้ารับหน้าที่จึงต้องมีการใช้แบบทดสอบที่ใกล้เคียงกับงานจริงมากที่สุด สามารถตอบโจทย์ในเบื้องต้นได้อย่างชัดเจนและมีแนวโน้มที่จะทำงานได้อย่างดีและสร้างสรรค์ ที่จำเป็นต้องเน้นเรื่องสร้างสรรค์ด้วยเนื่องจากงานที่ทำจำเป็นต้องมีเสริมเรื่องของความคิด การพัฒนาที่สอดแทรกได้ เพื่อให้งานที่ทำเกิดการแก้ไขปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น พนักงานใหม่ที่เข้ามาทำงานร่วมกับพนักงานเก่าหรือพี่เลี้ยงจึงควรมีมุมมองที่ต่างไปจากเดิมบ้างเพื่อให้เห็นในบางเรื่องที่อาจไม่เคยเห็นไม่เคยให้ความสำคัญในจุดเล็ก ๆ

               

          พนักงานใหม่บางคนกลัวที่จะต้องทำงานจริง ๆ เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหา แต่การทำงานที่เกิดปัญหาแล้วสามารถแก้ไขได้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง เจอปัญหาที่งานจริง ๆ การแก้ไขก็ทำจริง ๆ งานที่ทำแล้วอาจเกิดความเสียหายกับองค์กรก็จะเป็นงานที่ต้องมีพนักงานหลักที่ทำหน้าที่อยู่แล้ว พนักงานที่เข้าฝึกงานร่วมด้วยจึงเป็นพนักงานฝึกงานที่ลดภาวะทางอารมณ์ในเรื่องของความวิตกกังวลไปได้ระดับหนึ่งแต่การทำงานจริง ๆ ก็จำเป็นต้องรับผิดชอบ รับรู้เรื่องปัญหาต่าง ๆ ความกดดันที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นมองการฝึกงานจริง ๆ ให้เป็นงานที่ให้ประโยชน์กับพนักงานเอง พร้อมกับเป็นโอกาสที่จะช่วยสร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กรจะเป็นแนวคิดที่ช่วยให้พนักงานที่เข้ามาทำหน้าที่ฝึกงานมีความสุขกับการทำงาน

 

 

ความรับผิดชอบสำคัญเท่าหน้าที่

  

          เมื่อไรที่พนักงานคนหนึ่งได้รับการแต่งตั้งให้รับหน้าที่ใดก็ตาม ตำแหน่งที่กำกับอยู่กับชื่อของพนักงานหมายถึงความรับผิดชอบที่ต้องทำให้ดีที่สุด และหมายถึงคุณภาพของพนักงานคนนั้นด้วย คำว่าหน้าที่รับผิดชอบมักเป็นคำพูดที่ใช้ต่อเนื่องกันเสมอ หากมองเรื่องหน้าที่เราจะมองไปที่ตำแหน่งก่อน ตามด้วยความรับผิดชอบ ในการทำงานจริงหน้าที่เป็นตำแหน่งที่จัดวางไว้สำหรับการมอบหมายงานให้ตรงกับผังบุคลากร และทุกตำแหน่งจะต้องมีความรับผิดชอบที่ตรงกับหน้าที่ มีความชัดเจนอยู่แล้วการฝึกงานตรงตามตำแหน่งจึงเป็นเรื่องที่มีความชัดเจนช่วยให้ความมุ่งมั่นทุ่มเทเกิดขึ้น พนักงานฝึกหัดหลายคนเลือกทำตำแหน่งที่เป็นฝ่ายสนับสนุนหรือส่วนกลางที่พร้อมสนับสนุนงานต่าง ๆ เช่น เดินเอกสาร รับงานคำสั่งต่าง ๆ งานที่ได้มาฝึกหัดจึงเป็นงานรวม ๆ ของแต่ละแผนก มีความสำคัญเฉลี่ยไปตามแต่ส่วนต่าง ๆ ที่ส่งงานมาให้ เนื้อหาไม่เจาะจง แต่หน้าที่ก็คือหน้าที่การฝึกงานส่วนสนับสนุนทั่วไปจึงมีความสำคัญเช่นกันเพราะมีหน้าที่สนับสนุนหากบกพร่องทำงานผิดพลาดก็ย่อมส่งผลเสียกับแผนกที่ส่งงานมาให้

               

          หน้าที่ความรับผิดชอบจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควบคู่กันหากมองว่าหน้าที่ก็คือการทำตามหน้าที่ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำหรือกลัวการพัฒนาต้องเรียนรู้เพิ่มเติมก็จะทำให้คุณภาพชีวิตการทำงานดูด้อยค่าลงไปทุกวัน หน้าที่ต่าง ๆ ล้วนมีความสำคัญตามหน้าที่ ทีมงานจะสร้างงานได้ดีมีคุณภาพและสร้างสรรค์ย่อมเกิดจากความร่วมมือร่วมของทุกตำแหน่งหน้าที่ พนักงานที่ได้เข้ามารับการฝึกงานตำแหน่งใดก็ตามควรเข้าใจถึงหน้าที่รับผิดชอบเพราะมันคืองานจริง ๆ ที่ต้องให้ความสำคัญ ยิ่งเข้าใจงานที่ทำและเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ได้อย่างถ่องแท้มากเท่าไรก็ยิ่งทำงานได้สนุกและมีคุณภาพมากขึ้น

 

 

แรงขับจากคลื่นลูกใหม่

  

          พนักงานจำนวนไม่น้อยไม่ต้องการเลื่อนขั้นตำแหน่งขึ้นมารับงานที่ต้องมีความรับผิดชอบสูงขึ้นเพราะไม่อยากที่จะต้องทำงานภายใต้ความกดดัน แต่ต้องการรับเงินเดือนที่เป็นจำนวนน่าพอใจ เช่นนี้แล้วการพัฒนาองค์กรจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป คนเก่าอยู่กันไปคนใหม่ก็ไม่ขยับไปไหน ผลผลิตหรือคุณภาพงานขององค์กรก็ไม่ค่อยขยับเคลื่อนไปไหน แต่ตรงกันข้ามกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้งานกันไม่มีหยุด พี่สอนน้องหัวหน้าสอนลูกน้อง น้องใหม่มีไอเดียนำเสนอได้ มันก็จะเป็นการเคลื่อนไหวที่ช่วยพัฒนาองค์กร

 

          การฝึกงานในสถานการณ์จริง ลงมือทำจริง หรือ “Training by Doing” จึงเป็นงานที่สนุกท้าทายและพร้อมเปิดรับพนักงานที่มีความสามารถเข้ามารับหน้าที่อย่างเต็มความภาคภูมิ ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวเมื่อเราต้องก้าวสู่การทำงานที่แท้จริง ไม่มีอะไรที่ผิดพลาดแล้วแก้ไขไม่ได้ แต่อาจส่งผลเสียเรื่องของเวลา ปัจจัยการผลิต แต่หากสามารถแก้ไขผ่านพ้นไปได้ นั้นคือการก้าวต่อไปข้างหน้า เมื่อพนักงานที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรกล้าที่จะทำ กล้าที่จะคิด และพร้อมที่จะเรียนรู้การทำงาน สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นแน่นอน

 

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด