Safety & Healthcare

การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับผลิตภัณฑ์ในงานอุตสาหกรรม

ปัญญา มัฆะศร

สาขาวิชาเทคโนโลยีมีเดีย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

 

 

 

การยศาสตร์ เป็นเรื่องการศึกษาสภาพการทำงานที่มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม การทำงานเป็นการพิจารณาว่าสถานที่ทำงานดังกล่าว ได้มีการออกแบบหรือปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานอย่างไร เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วย

 

 

          การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักรในงานอุตสาหกรรมจะครอบคลุมถึงการกระทำ (Action) ของมนุษย์ที่มีลักษณะท่าต่าง ๆ เกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน (Fitting The Job to The Man) เช่น การยืน การนั่ง การก้มเงยในมิติต่าง ๆ การเคลื่อนไหวและการใช้กล้ามเนื้อในส่วนที่เป็นฝ่ามือ แขนและขาในลักษณะที่ต่อเนื่องซ้ำ ๆ กันเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรืออาการป่วยที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องลาพักขาดงาน ซึ่งส่งผลต่อร่างกายและสุขภาพจิตของผู้ปฏิบัติงาน อีกทั้ง ยังส่งผลต่อการขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานที่เกิดขึ้น จากสาเหตุดังกล่าวนี้ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ทางด้านอุตสาหกรรม (Industrial Design) หรือ Product Design รวมไปถึง ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบดูแลการปฏิบัติงานในภาคสนามจำเป็นต้องเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงาน ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาและเรียนรู้ ได้แก่ การออกแบบใช้งานของเครื่องจักรหรือผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยในการใช้งาน ความสะดวกในการใช้งาน การใช้งานง่ายต่อการเรียนรู้และจดจำ เพื่อตอบสนองอารมณ์และความพึงพอใจของผู้ใช้งาน (คำจำกัดความที่เกาะกระแสปัจจุบันที่มีชื่อเรียกว่า “User Interface” และ “User Friendly”) เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอเนื้อหาพื้นฐานที่สำคัญดังนี้

 

          โดยปกติ มนุษย์ (Human) มีลักษณะเฉพาะของโครงสร้างทางด้านร่างกายที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกทั้ง ยังมีโครงสร้างร่างกายที่แตกต่างไปจากมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งประกอบไปด้วย เพศ ชาติพันธุ์ พันธุกรรม อายุ {อ้างอิง: พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับ Oxford Advance Learner’s Dictionary (Cowie,1994:607)} อีกทั้ง ความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานและกระบวนการทางความคิดที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานมีความแตกต่างกันออกไปอีกด้วย ดังนั้น การศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ที่ปฏิสัมพันธ์กับเครื่องจักรจะมุ่งเน้นไปที่จุดประสงค์ที่สำคัญที่ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์และผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ

 

 

1. ขนาดและสัดส่วนของร่างกายมนุษย์ในมิติที่แตกต่างกัน

 

 

 

รูปที่ 1 ขนาดและสัดส่วนของร่างกายมนุษย์ในการปฏิบัติงาน

ที่มาของภาพ: Human dimension & interior space, 1979: หน้า 236

 

 

          มานุษยวิทยาแขนงวิชาที่ว่าด้วย การวัดขนาดสัดส่วนของมนุษย์ (Anthropometry) คือ ขนาดสัดส่วนในมิติต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่นักออกแบบผลิตภัณฑ์และนักการยศาสตร์ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ได้แก่ การวัดระยะสัดส่วนเฉลี่ยของมนุษย์ในส่วนสูงยืนและการนั่ง ความสูงระดับสายตาขณะยืนและนั่ง ระยะที่แขนและมือ รวมไปถึงระบบการหมุน ระยะทางและทิศทางการเคลื่อนที่ของข้อต่อของกระดูกในส่วนต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับขนาดของผลิตภัณฑ์ สิ่งแวดล้อมของการจัดวางตำแหน่งของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เกิดความเหมาะสมในสถานที่ปฏิบัติงาน ดังแสดงดังรูปที่ 1 เหตุผลสำคัญของการศึกษาขนาดและสัดส่วนมนุษย์ เนื่องจากขนาดสัดส่วนของมนุษย์ส่วนที่ปฏิสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์โดยตรง ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดสัดส่วนของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ตามกฎระเบียบข้อบังคับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพนักงานเก็บเงินในห้างสรรพสินค้า ตัวอย่างอาชีพที่สัมพันธ์กับขนาดสัดส่วนในด้านการยืน ได้แก่ พนักงานผลิตในสายการประกอบ พนักงานทำความสะอาด พนักงานที่ทำงานกับเครื่องจักร ส่วนอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากปัญหาจากการยืนทำงานนาน ๆ เช่น หลอดเลือดขอด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อน่องและต้นขา เป็นต้น

 

 

2. โครงสร้างของมนุษย์และระบบการทำงานของร่างกายและขีดความสามารถของร่างกายมนุษย์

  

          การปฏิบัติงานและกิจกรรมต่าง ๆ ของพนักงานในสถานประกอบการมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละสถานีงานนั้น ๆ ซึ่งส่งผลต่อการใช้พลังงานและขีดความสามารถของร่างกายในการทำงานของพนักงานแตกต่างกันออกไปด้วย ทั้งนี้ ศักยภาพการทำงานของพนักงานจึงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น อากาศ อุณหภูมิ แสงสว่างและส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ร่างกายสามารถสัมผัสได้จะก่อให้เกิดความอ่อนล้าสะสมของกรดแลคติกในกล้ามเนื้อ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหยุดทำงานหรือทำงานช้าลงและส่งผลต่อประสิทธิผลในการทำงาน ดังนั้น การศึกษากลไกการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่รับการสัมผัสของทางร่างกายทางด้านสรีรศาสตร์ (Physiology) ซึ่งประกอบไปด้วย ตา หู จมูก ผิวหนังและส่วนของกล้ามเนื้อของมนุษย์ที่สามารถรับแรงได้มากน้อยเพียงใดในระยะเวลานานมากเพียงใด เนื่องจากปริมาณการรับรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีรายละเอียดดังนี้ คือ

 

  • การรับรู้ทางการมองเห็น (ดวงตา) 75% เมื่อทดสอบกับตาคนปกติ พบว่า ตามีความไวต่อแสงสีที่ความยาวคลื่น 510 nm (ในช่วง Scotopic Vision) และ 555 nm (ในช่วง Photopic Vision) มากที่สุด มนุษย์มองเห็นกลางวันได้มากกว่ากลางคืน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเลือกใช้แหล่งกำเนิดแสงที่ให้แสงสีเหมาะสมในสภาพแวดล้อมการทำงาน สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีแสงพร่าตา (Glare) จะส่งผลกระทบต่อการมองเห็นของมนุษย์ เนื่องจากตำแหน่งของแสงสามารถสะท้อนเข้าดวงตาได้โดยตรง การแก้ปัญหาของแสงพร่าตา ได้แก่ การใช้ฉากหรือกระจกกั้นแสง การเลือกวัสดุที่ไม่สะท้อนแสง การกำหนดตำแหน่งของวัตถุและองศาของการมองให้เกิดความเหมาะสม เป็นต้น
  • การรับหูผ่านทางการได้ยิน (หู) 13% หูมนุษย์สามารถได้ยินรอบทิศทางทั้ง 2 ข้าง โดยปกติระดับเสียงที่มนุษย์ได้ยินในช่วง 50-70 dB (Decibel) ถ้าระดับเสียงสูงมากกว่า 120 dB จะเป็นอันตรายต่อหูมนุษย์และอาจสูญเสียการได้ยิน

 

 

ตารางที่ 1 แสดงระยะเวลาของระดับความดังของเสียงที่มนุษย์ได้ยิน

 

 

 

  • การรับผ่านการสัมผัสทางกาย (ผิวหนัง) 6% โดยปกติอุณหภูมิของร่างกาย 32-33 องศาเซลเซียส(4 องศาฟาเรนไฮต์) มนุษย์สามารถปรับเปลี่ยนอุณหภูมิของร่างกายที่เหมาะสมในช่วงระหว่าง 15-40 องศาเซลเซียส ถ้าเย็นต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส หรือ ร้อนเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะได้รับความเจ็บปวด ส่วนความสามารถในการรับน้ำหนักของกล้ามเนื้อ พนักงานไม่ควรยกน้ำหนักเกิน 35% ของน้ำหนักตนเอง

 

 

ตารางที่ 2 แสดงอายุ เพศ ที่สัมพันธ์กับการรับน้ำหนักมนุษย์

  

 

 

  • การรับรู้ผ่านการดมกลิ่น (จมูก) 3% และการรับรู้ผ่านการลิ้มรส (ลิ้น) 3%

 

 

3. จิตวิทยาการรับรู้ของมนุษย์และพฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ในระหว่างการปฏิบัติงาน

 

          เนื่องจากมนุษย์มีความซับซ้อนทางด้านความคิดมากมายได้มากกว่าเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้น อันเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ คือ การศึกษา ความเชื่อและวัฒนธรรม ภาษาและการสื่อสาร เป็นต้น นอกจากนี้ การออกแบบใช้งานของเครื่องจักรที่มีความซับซ้อนของเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์ ยังส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ในระหว่างการปฏิบัติงาน ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับผลิตภัณฑ์ (หรือเครื่องจักร) เช่น ระบบการชะล้างของโถส้วมอัตโนมัติที่นิยมใช้งานในประเทศญี่ปุ่น ดังรูปที่ 2 

 

 

 

รูปที่ 2 ปุ่มใช้งานของส้วมอัตโนมัติในประเทศญี่ปุ่น (ที่มาของภาพ: http://www.marumura.com)

 

 

          การออกแบบปุ่มใช้งานของส้วมอัตโนมัติในประเทศญี่ปุ่น จากรูปที่ 2 จะทำให้ทราบว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ใช้งาน ผู้ออกแบบจำเป็นต้องทราบถึงจิตวิทยาการรับรู้ของกลุ่มเป้าหมายที่ใช้งานว่าเป็นอย่างไร เช่น กลุ่มเป้าหมายที่นิยมใช้เทคโนโลยี แต่การใช้งานที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมากเกินไปในช่วงเวลารีบเร่งและด้านภาษา เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่สื่อสารอย่างไม่เข้าใจ ซึ่งอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของผู้บริโภคที่ไม่เกิดการตอบสนองต่อการใช้งานแต่อย่างใดหรืออาจทดลองใช้เพราะเข้าใจว่าแปลกไม่เคยลองจึงทดลองใช้ แต่การเลือกใช้งานจะยั่งยืนหรือไม่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ การศึกษา การสื่อสารความหมาย ความเชื่อ วัฒนธรรมและภาษามาเป็นส่วนประกอบหลักที่นอกเหนือไปจากความสวยงามและความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด