Productivity & Operations

การออกแบบตราสัญลักษณ์หรือโลโก้เพื่อธุรกิจ (Logo Design for Business)

ปัทมาพร ท่อชู

สาขาวิชาอุตสาหกรรมศิลป์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

ดร.วิทยา อินทร์สอน

สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์

 

 

 

 

การที่จะเริ่มทำธุรกิจ หรือดำเนินกิจการใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของภาครัฐ หรือบริษัทเอกชน จะเป็นองค์กรธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสัญลักษณ์ หรือโลโก้ (Logo) ประจำตัว เพื่อเป็นการสื่อสารหรือใช้เพื่อการเตือนความทรงจำ และทำให้เกิดผลประโยชน์ในด้านการสื่อความหมายต่อสาธารณชนให้เป็นที่จดจำและเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

 

 

          ปัจจุบัน โลโก้บริษัท ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นโลโก้แบรนด์สินค้า โลโก้ร้าน เพราะโลโก้ จะเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจมีความก้าวหน้า และประสบความสำเร็จได้ ซึ่งการทำโลโก้นั้น จะต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการเป็นหลัก เพื่อให้โลโก้มีความแปลกใหม่ โดดเด่น และไม่เหมือนใคร โดยเป้าหมายส่วนใหญ่ของการทำโลโก้ขึ้นมานั้น ก็เพื่อการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าหรือบริการต่าง ๆ นั่นเอง

 

           ดังนั้นการออกแบบโลโก้ จึงมีความสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อการสร้างแบรนด์สินค้าให้โดดเด่น และน่าสนใจ และยังเป็นการช่วยส่งเสริมธุรกิจให้เติบโตขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

 

 

 

รูปที่ 1 ตัวอย่างลักษณะสัญลักษณ์ หรือโลโก้แบบต่าง ๆ

 

 

ความหมายของสัญลักษณ์ หรือโลโก้

 

 

          สัญลักษณ์หรือโลโก้ (Logo) มาจากคำเต็ม Logotype หมายถึง สัญลักษณ์ เครื่องหมาย ตัวแทน หรือสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งที่บ่งบอก ประเภท รูปแบบ หรือรูปพรรณสัณฐานของสิ่งที่เป็นเจ้าของสัญลักษณ์ หรือโลโก้ (Logo) นั้น ๆ

 

          โลโก้ (Logo) คือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงภาพสัญลักษณ์ และเครื่องหมายต่าง ๆ ได้แก่ สินค้าและบริษัทผู้ผลิต การออกแบบโลโก้สินค้า และบริษัทให้มีเอกลักษณ์แบบเฉพาะตนเอง จะช่วยให้มีความน่าเชื่อถือ และตราตรึงต่อผู้บริโภคตลอดไป

 

          ดังนั้นโลโก้จึงสามารถสร้างแรงบันดาลใจ ความเชื่อ ความนิยม และการจดจำเกี่ยวกับองค์กรหรือสินค้าและมันคืองานของ Designer ในการสร้างสรรค์โลโก้ เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว เพราะโลโก้นั้นไม่ได้เป็นแค่เครื่องหมายเฉย ๆ แต่โลโก้นั้นสะท้อนถึงภาพลักษณ์ในทางการตลาดของธุรกิจอีกด้วย

 

 

จุดประสงค์หลักของการออกแบบโลโก้

 

  

          โลโก้ (Logo) ที่ปรากฏต่อสายตาเป็นภาพลักษณ์แรกที่ลูกค้าจะได้รู้จัก ดังนั้นจึงมีความหมายต่อธุรกิจอย่างไม่ต้องสงสัย โลโก้ที่ดีจะช่วยสร้างเครดิตให้กับกิจการหรือองค์กรธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าขายสินค้าคุณภาพ โลโก้นั้นต้องสะท้อนสิ่งนี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้นจุดประสงค์หลักของการออกแบบโลโก้ มีดังนี้คือ

 

  1. เพื่อทําให้คนอื่นจดจําได้ง่าย สามารถรับรู้ได้ทันทีว่าโลโก้นี้คือแบรนด์อะไร
  2. เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในตัวแบรนด์ เพิ่มความจงรักภักดี (Loyalty) ของแบรนด์
  3. เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพ
  4. เพื่อช่วยสะท้อนถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์
  5. เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึก ความเชื่อมั่น เกิดความเข้าใจในตัวสินค้า และยอมรับในตัวสินค้า

 

 

ความสำคัญของการออกแบบโลโก้

 

 

          ปัจจุบันการออกแบบโลโก้ควรใช้เวลาคิด วิเคราะห์ข้อมูลหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้โลโก้ที่ออกแบบมานั้นตอบโจทย์กับบริษัท สินค้าหรือบริการนั้น ๆ สามารถสะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่ต้องการออกไปสู่คนภายนอกได้อย่างถูกต้องตามที่คาดหวังไว้ ดังนั้นความสำคัญของการออกแบบโลโก้ มีดังนี้คือ

  1. การออกแบบโลโก้ ช่วยในการนำเสนอด้วยสัญลักษณ์หรือรูปภาพกราฟิกง่ายเป็นสัญลักษณ์ของบริษัท องค์กร หรือห้างร้าน แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีอำนาจในการดึงดูด และแสดงภาพลักษณ์ ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ของผู้ชาย โลโก้ควรจะสื่อถึงความเข้มแข็ง มาดมั่น หรือสมาร์ท
  2. การออกแบบโลโก้ที่ดี จะช่วยให้ผู้คนหรือลูกค้าเป้าหมายสามารถจดจำได้ทันทีที่เห็น สามารถสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์ การยอมรับและความชื่นชม โลโก้ที่ดีจึงเป็นพื้นฐานของแนวความคิดหรือคุณค่าของบริษัทที่สมบูรณ์แบบ
  3. การออกแบบโลโก้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างความประทับใจให้กับผู้มอง ซึ่งจะต้องมีความหมายและจำได้ง่ายเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถจะเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าได้ จะต้องมีเอกลักษณ์และไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเวลา นอกจากนี้มันจะต้องมีความยืดหยุ่นในเรื่องของขนาดเพราะมันจะต้องถูกนำไปใช้ในสถานที่ต่าง ๆ เช่นป้ายประกาศ บิลบอร์ดขนาดใหญ่ หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญก็คือมีความคมชัด มองเห็นได้ง่าย
  4. การออกแบบโลโก้ เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน เสมือนการกำหนดตัวตนของธุรกิจ นอกจากนี้ต้องเหมาะหรือตรงกับความชอบและค่านิยมของลูกค้า เป็นการบ่งบอกถึงคุณค่าของบริษัทที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างระมัดระวัง มีความชัดเจน และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้
  5. การออกแบบโลโก้และการสร้างแบรนด์ เป็นองค์ประกอบที่ผสมผสานกันระหว่างปัจจัยสองอย่างคือ คุณภาพและการพบเห็น และในโลกโลกาภิวัฒน์นี้เป็นการบ่งบอกความชาญฉลาดของบริษัทที่จะสามารถเอาตัวรอดไปได้ตลอดจากเงื่อนไขของเวลาและการแข่งขัน

 

 

ประเภทของโลโก้

 

  

          ในปัจจุบันเราทุกคนรู้จักโลโก้ดี ๆ มากมาย แต่เชื่อไหมครับว่าเราแทบไม่รู้กันเลยว่าโลโก้ที่ดีเหล่านั้นไม่ง่ายเลยที่จะสร้างขึ้นมา เมื่อเริ่มต้นออกแบบโลโก้ของธุรกิจมีหลายอย่างที่ต้องพิจารณาตั้งแต่แนวคิด (Concept) ของสี ไปจนถึงการออกแบบงานแต่ในปัจจุบันเราแบ่งโลโก้ (Logo) ออกเป็น 4 ลักษณะดังต่อไปนี้

 

          1. Wordmark เป็นโลโก้ที่ออกแบบโดยการนำตัวอักษรหลายตัวมาจัดเรียงเข้าด้วยกันหรือที่ เรียกว่า Logotype บริษัทที่ใช้โลโก้ลักษณะนี้ เช่น eBay, IBM, CNN, Google, และ Kleenex เป็นต้น

 

 

 

รูปที่ 2 ตัวอย่างโลโก้ประเภท Word mark

 

  

          2. Letterform โลโก้ลักษณะนี้สร้างจากการประดิษฐ์ตัวอักษรตัวเดียวให้มีลักษณะพิเศษชวนจดจำ เช่น Honda, Uber, Unilever, McDonald’s เป็นต้น

 

 

 

รูปที่ 3 ตัวอย่างโลโก้ประเภท Letterform

 

 

 

          3. Pictorial เป็นโลโก้ที่มีลักษณะเป็นรูปเชิงสัญลักษณ์ที่เรา สามารถเห็นแล้วจดจำได้ง่าย เช่น Starbucks, Twitter หรือ Playboy โลโก้ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่มีลักษณะเป็นรูปสัญลักษณ์ทั้งสิ้น

 

 

 

รูปที่ 4 ตัวอย่างโลโก้ประเภท Pictorial

 

 

 

          4. Abstract ตัวโลโก้ไม่ได้สื่อถึงสิ่งใด แต่สามารถจดจำได้ง่าย ดูแล้วเหมือนกับภาพศิลปะแบบนามธรรม แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดที่ใช้โลโก้ลักษณะนี้ดูเหมือนจะเป็น Nike

 

 

รูปที่ 5 ตัวอย่างโลโก้ประเภท Abstract

 

 

โลโก้ใช้เพื่ออะไร

 

 

          การที่จะเริ่มทำกิจการธุรกิจใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการค้า บริษัท ห้างร้าน และองค์กรอื่น ๆ การออกแบบโลโก้ คุณต้องเข้าใจก่อนว่า โลโก้ คือใช้อะไร เป็นตัวแทน และเอาไว้ใช้ทำอะไร โลโก้นั้นไม่ได้เป็นแค่เครื่องหมายเฉย ๆ แต่โลโก้นั้นสะท้อนถึงภาพลักษณ์ในทางการตลาดของธุรกิจของคุณ (Brand: ยี่ห้อ) ผ่านทาง รูปร่าง ตัวอักษร สี หรือรูปภาพ ดังนั้นโลโก้ใช้เพื่ออะไร มีดังนี้

 

  1. ด้านจิตวิทยาคือ การต้องการให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึก ความเชื่อมั่น เกิดความเข้าใจในตัวสินค้าและยอมรับในตัวสินค้า และที่สำคัญคือความต้องการที่จะสร้างให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกประทับใจ
  2. ด้านพฤติกรรมคือ การที่ต้องการให้ผู้บริโภคแสดงพฤติกรรมตอบสนองการจูงใจของเอกลักษณ์ขององค์กร
  3. ด้านภาพพจน์ คือ ต้องการให้ผู้บริโภคเกิดทัศนคติที่ดี มีความนิยมชมชอบต่อผู้ผลิต

 

 

องค์ประกอบการออกแบบโลโก้

 

 

          โลโก้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เท่านั้น แต่การออกแบบโลโก้ที่มีประสิทธิภาพนั้น ยังสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือ การแสดงตัวตนและเก็บรักษาความทรงจำของแต่ละบุคคล บริษัทหรือองค์กร และองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการออกแบบโลโก้ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ดังนี้คือ

 

          1. มีความสอดคล้อง โลโก้จะต้องมีความสอดคล้องกับความหมายในตัวของมันเอง กับสโลแกน ตัวอักษรและแนวความคิดทางการตลาด การเพิ่มองค์ประกอบในส่วนที่มีความคล้ายคลึงกันกับบริบทความแตกต่างกันทางด้านการตลาดจะช่วยให้ลูกค้าสามารถสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงต่อการออกแบบ โลโก้และแบรนด์ของบริษัทได้

 

          2. มีความน่าจดจำ การสอดคล้องกันจะนำไปสู่ความน่าจดจำ โลโก้ควรจะออกแบบให้มีความเรียบง่าย และชัดเจนเพื่อที่ผู้พบเห็นหรือลูกค้าจะสามารถจดจำมันได้อย่างง่ายดาย ยกตัวอย่าง การออกแบบที่เรียบง่ายของบริษัทแอปเปิล ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้เลย แต่มันก็นำไปสู่การจดจำอย่างไม่จำกัดของลูกค้า

 

          3. ต้องมีความหมาย การออกแบบโลโก้ที่ดีจะต้องสามารถถ่ายทอดข้อความที่มีความหมายของแบรนด์สินค้าไปสู่ลูกค้า การออกแบบของเว็บไซต์อเมซอนของอเมริกา เป็นการบ่งบอกว่าพวกเขาสามารถขายสินค้าได้ทุกอย่างจาก A-Z และลูกค้าก็มีรอยยิ้มด้วยความประทับใจกับการบริการ

 

          4. ต้องไม่ซ้ำแบบใคร หากจะจินตนาการไปถึงโลโก้ที่มีความคล้ายคลึงกัน เลียนแบบกันกับโลโก้ในตลาด สิ่งที่ผู้ผลิตหรือบริษัทองค์กรจะได้รับก็คือ ลูกค้าจะเกิดความรู้สึกสับสนในชื่อยี่ห้อที่พวกเขาต้องการจะซื้อ ดังนั้นการออกแบบโลโก้ที่ไม่ซ้ำกับใครก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะดูซับซ้อนจนเกินไป อย่างเช่น โลโก้ของแมคโดนัลเป็นหนึ่งในบรรดาของโลโก้ที่ง่ายที่สุดสำหรับการออกแบบอัตลักษณ์ของสินค้าในตลาดที่สังเกตเห็นได้ชัดและแน่นอนว่ามันมีความเป็น เอกลักษณ์ในตัวเองด้วย

 

          5. มีความเป็นมืออาชีพ บริษัทจะต้องมั่นใจว่าโลโก้ของตนมีการออกแบบให้รองรับการพิมพ์งานได้ทุกวัสดุที่มี และต้องมีคุณภาพสูง นอกจากคุณภาพของกราฟิกก็ควรจะต้องมีความคมชัดและชัดเจน

 

          6. ไม่มีขอบเขตทางด้านเวลา หมายถึงเวลาไม่สามารถจะทำให้ภาพลักษณ์ หรือความหมายของโลโก้เลือนหายไปได้ง่าย ๆ นอกจากว่าบริษัทจะมีการรีแบรนด์หรือสั่งทำโลโก้ใหม่นั่นเอง ถ้าโลโก้มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ และต่อเนื่องกันตลอดก็จะส่งผลกระทบต่อแบรนด์สินค้า ลูกค้าจะรู้สึกไม่เชื่อถือในสินค้า ไม่รู้สึกเกิดความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ที่มี

 

          7. การเลือกใช้สี สีของโลโก้ของบริษัทจะต้องมีความสอดคล้องกันในด้านของทฤษฎีสีและยังสื่อถึงการกำหนดตัวตนของบริษัทด้วย ดังนั้นการกำหนดสีจึงไม่ง่ายที่จะทำให้น่าสนใจแต่คงพื้นฐานไว้ที่สีขาวหรือ สีเทาโทน โมโนโครมหรือเทาซึ่งจะช่วยให้คนตาบอดสีเห็นได้

 

          ดังนั้นองค์ประกอบการออกแบบโลโก้เหล่านี้สามารถที่จะประสบความสำเร็จให้ได้รับความสนใจสำหรับธุรกิจหรือองค์กร ควรรับคำแนะนำหรือความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบแล้วธุรกิจหรือองค์กรจะได้รับโลโก้ที่ดี

 

 

หลักการออกแบบโลโก้ที่ดี

 

 

           โลโก้ที่ดีจะต้องเป็นโลโก้ที่สามารถจดจำได้ง่ายเมื่อแรกเห็น และสามารถติดตาผู้บริโภคได้ทันที เช่น โลโก้ของ Nike ซึ่งเป็นรูปเครื่องหมายถูก และโลโก้ของ Apple ที่สวยงามชวนมอง เป็นต้น โลโก้เหล่านี้ทำหน้าที่ของมันได้ดีมากในการดึงแบรนด์ให้โดดเด่นเหนือคู่แข่ง และทำให้ลูกค้าสนใจ รวมไปถึงเพิ่มยอดขายได้ซึ่งหลักการออกแบบโลโก้ที่ดี มีดังนี้คือ

 

          1. อย่าใช้คลิปอาร์ต เจ้าของธุรกิจออนไลน์ที่เป็น SMEs หลายท่าน เลือกใช้วิธีง่าย ๆ ในการออกแบบโลโก้ให้กับเว็บไซต์ โดยเลือกใช้คลิปอาร์ตแจกฟรีบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งลักษณะเป็นภาพลายเส้นกราฟิกง่าย ๆ แจกจ่ายให้ใช้ฟรีอย่างแพร่หลาย ลองนึกดูว่าเกิดมีลูกค้าที่เคยเห็นคลิปอาร์ตนี้ เมื่อได้มีโอกาสแวะเวียนเว็บไซต์ของคุณ เขาอาจจะจำได้ และคิดต่อไปว่า ขนาดโลโก้ยังยืมภาพคนอื่นมาใช้ฟรี ๆ เลย แล้วธุรกิจของเว็บไซต์นี้จะน่าเชื่อถือได้อย่างไร

 

          2. อย่าใส่ลูกเล่นหรือเอฟเฟ็กต์กับโลโก้ข้อห้ามนี้แนะนำว่า ไม่ควรใช้เอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ เช่น แสงสว่างเหลือง เงาด้านหลัง หรือมิตินูนต่ำกับโลโก้ เอฟเฟ็กต์พวกนี้เหมาะกับงานสร้างสรรค์กราฟิกและรูปภาพในเว็บไซต์มากกว่า ซึ่งการใช้เอฟเฟ็กต์จะส่งผลให้โลโก้ที่ได้ดูไม่ชัดเจน รกสายตา มากกว่าชวนมอง โลโก้ที่ดีควรจะสามารถดูได้ชัดเจน เห็นรายละเอียดครบ แม้จะใช้แค่สีขาว-ดำ เท่านั้น

 

          3. โลโก้ไม่ใช่แบนเนอร์อย่าออกแบบโลโก้ให้มีลักษณะเหมือนแบนเนอร์โฆษณาในเว็บไซต์ โดยเฉพาะรูปแบบที่เป็นการใส่โลโก้เข้าไปเต็มพื้นที่สี่เหลี่ยม เนื่องจากสายตาของลูกค้าออนไลน์ถูกฝึกให้หลีกเลี่ยงการดูรูปทรงเหล่านี้อยู่แล้ว แน่นอนว่า โลโก้ของคุณจะถูกละเลยไปด้วย

 

          4. โลโก้ผสมรูปนักออกแบบโลโก้มือโปรจะไม่พยายามผสมผสานกราฟิก เข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับตัวหนังสือที่ปรากฏใน โลโก้เนื่องจากการทำเช่นนี้ นอกจากจะทำให้มันดูดีค่อนข้างยากแล้ว ต้องใช้สมองตีความว่า รูปกราฟิกที่เห็นคือตัวอักษรอะไร ยังเสี่ยงต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันมากมายอีกด้วย อย่างเช่น ตัวอักษรที่ใช้กราฟิกแทน อาจจะไปเหมือนกับโลโก้ของบริษัทอื่นเข้าที่พบเห็นบ่อย เช่น การแทนตัว O ด้วย โลก ลูกตา และแว่นขยาย เป็นต้น วันดีคืนดีอาจโดนฟ้องหาว่าเอาโลโก้ของเขามาเลียนแบบก็ได้

 

          5. โลโก้ที่ใช้ตัวอักษรอย่างเดียว แม้การเลือกใช้โลโก้เป็นตัวอักษรทั้งหมด จะง่ายต่อการออกแบบ แต่มันก็ง่ายต่อการถูกละเลยเช่นกัน ถ้าเป็นไปได้มีงบประมาณ อาจจะทดลองเอาโลโก้ของคุณไปวางรวมกับโลโก้ของคนอื่นที่ใช้ตัวอักษรหมดแบบเดียวกับคุณ แล้วให้กลุ่มเป้าหมายลองดูว่าจำโลโก้ของคุณได้มากน้อยเพียงใด ถ้าจำกันได้น้อย อาจจะต้องแก้ไขคุณสมบัติของตัวอักษรที่ใช้ทำโลโก้ แต่ง่ายสุดก็คือ ปรับเป็นตัวหนา เพื่อให้มีพื้นที่จดจำมากขึ้น หรือหารูปแบบฟอนต์ที่ไม่เหมือนใคร ตลอดจนออกแบบใหม่ไปเลย ซึ่งวิธีสุดท้ายนี้ชอบทำกัน

 

          6. โลโก้ที่เป็นชื่อย่อถ้าชื่อบริษัทของคุณยาวมาก การใช้ชื่อเต็ม ๆ มาสร้างโลโก้ดูจะเป็นเรื่องยากยิ่งนัก ไอเดียของเจ้าของกิจการส่วนใหญ่จะเลือกใช้ชื่อย่อแทน ซึ่งยากมากที่จะออกแบบมาแล้วจะเหมะสม ยิ่งถ้าไม่ได้มีงบประมาณในการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ด้วยแล้ว กว่าโลโก้ที่เป็นชื่อย่อของคุณจะได้รับความไว้วางใจ บางทีธุรกิจของคุณอาจจะหายไปก่อนก็ได้ ส่วนใหญ่ลูกเล่นของโลโก้ที่ใช้ชื่อย่อ ชอบเอาตัวอักษรวางซ้อนทับกัน แม้จะดูสนุก (จนขาดความจริงจัง) แต่ข้อเท็จจริงที่คุณอาจจะมองข้ามไปพร้อม ๆ กับลูกค้าของคุณนั่นคือ มันไม่ได้บอกกล่าวอะไรให้ลูกค้าได้ทราบเลย อันนี้แทบไม่ต้องพูดถึงความสามารถในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า และบริการของคุณ

 

          7. โลโก้สุดซับซ้อน-รายละเอียดมากเกินไปสำหรับโลโก้ที่เป็นรูปวาด ซึ่งจะมีรายละเอียดยุบยิบเต็มไปหมด รวมถึงพวกที่ใช้ภาพถ่าย หรือเลย์เอาต์ที่ซับซ้อน (เช่น ความสูงต่ำของอักษรที่ไม่เท่ากัน สีสันที่ไม่เข้าพวก ฯลฯ) บอกได้เลยว่า โลโก้ลักษณะนี้มีโอกาสล้มเหลวสูงมาก หลักการง่าย ๆ ก็คือ ยิ่งมีรายละเอียดมากเท่าไร โอกาสที่ลูกค้าจะจำได้ก็น้อยลงเท่านั้น โลโก้ที่ดูง่าย เป็นหนึ่งเดียว (ทั้งสีสันและรูปแบบ) ใช้เส้นน้อย จะสร้างผลกระทบและการจดจำได้ง่ายกว่าถึงตรงนี้

 

 

 

รูปที่ 6 ตัวอย่างหลักการออกแบบโลโก้ที่ดี

 

 

ขั้นตอนการออกแบบโลโก้ (Logo Design Process)

 

 

          ขั้นตอนในการออกแบบโลโก้แบบมืออาชีพนั้น จะมีรายละเอียดที่สำคัญต่าง ๆ ดังนี้

 

          1. ศึกษาว่าโลโก้คืออะไร และมีหน้าที่อย่างไร ก่อนที่คุณจะออกแบบโลโก้ คุณต้องเข้าใจก่อนว่า โลโก้คืออะไร ใช้เป็นตัวแทนของอะไร และเอาไว้ใช้ทำอะไร ? โลโก้นั้นไม่ได้เป็นแค่เครื่องหมายเฉย ๆ แต่โลโก้นั้นสะท้อนถึงภาพลักษณ์ในทางการตลาดของธุรกิจของคุณ (Brand: ยี่ห้อ) ผ่านทางรูปร่างตัวอักษร สี และรูป

 

          โลโก้สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ความเชื่อ ความนิยม และการจดจำเกี่ยวกับองค์กรหรือสินค้าและมันคืองานของนักออกแบบในการสร้างสรรค์โลโก้ เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว และข้อนี้คือสิ่งที่ต้องรู้ก่อนที่จะออกแบบโลโก้

 

          2. ศึกษาหลักการในการออกแบบโลโก้ คุณได้รู้จักความหมายและหน้าที่ของโลโก้แล้ว ตอนนี้คุณจะได้รู้หลักในการสร้างโลโก้ที่ดี โดยหลักการพื้นฐานในการออกแบบโลโก้ มีดังนี้

 

  • โลโก้ต้องสื่อตัวตนได้
  • โลโก้ต้องเป็นที่จดจำ
  • โลโก้ต้องสื่อได้แม้ไม่ได้ใช้สีสัน
  • โลโก้ต้องสื่อได้แม้ขนาดเล็ก ๆ

  

          3. ศึกษาโลโก้ที่ประสบความสำเร็จและข้อผิดพลาดต่าง ๆ

 

          3.1 โลโก้ที่ประสบความสำเร็จ โดยคุณได้รู้จักหลักการในการออกแบบโลโก้แล้ว ตอนนี้คุณสามารถที่จะแบ่งแยกโลโก้ที่ดีและไม่ดีได้แล้ว ซึ่งเรารู้ว่าโลโก้อื่น ๆ ประสบความสำเร็จ และทำไมถึงประสบความสำเร็จเรามาดูกันให้ชัด ๆ ว่าทำไมโลโก้นั้น ๆ ถึงประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่าง เช่น โลโก้ NIKE เป็นโลโก้ที่คลาสสิกมาก ๆ โดย ผู้ออกแบบ Caroline Davidson ในปี 1971 ในราคาเพียง $35 เท่านั้น แต่เป็นโลโก้ที่มีพลังมาก จดจำได้ง่าย สื่อได้แม้ไม่ได้ใช้สีสัน และสื่อได้แม้ขนาดเล็ก ๆ มันธรรมดามาก ๆ ดูรวดเร็วและสื่อถึงปีกของรูปปั้นเทพธิดาแห่งชัยชนะของกรีก

          NIKE เป็นธุรกิจเครื่องแต่งกายทางกีฬาที่สมบูรณ์แบบ NIKE เป็นแค่หนึ่งในโลโก้ที่ประสบความสำเร็จมากมาย ลองคิดถึงโลโก้ที่คุณรู้จักแล้วลองคิดดูว่าทำไม โลโก้นั้น ๆ ถึงประสบความสำเร็จ

 

 

 

รูปที่ 7 (1) โลโก้ที่ประสบความสำเร็จ (2) ข้อผิดพลาดต่าง ๆ

 

 

          3.2 โลโก้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ สามารถเรียนรู้ได้จากโลโก้ที่ผิดพลาดได้เช่นกัน

 

          4. เริ่มต้นกระบวนการออกแบบโลโก้ของตัวเอง ถ้าเราได้รู้จักความหมายของโลโก้ หลักการ และสิ่งที่ทำให้โลโก้ประสบความ สำเร็จแล้ว ตอนนี้เราสามารถเริ่มกระบวนการออกแบบได้แล้ว โดยเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดใน 5 ขั้นตอนนี้ สามารถแบ่งเป็นขั้นตอนย่อย ๆ ตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน โดยขอแนะนำกระบวนการออกแบบโลโก้ ที่เป็นหัวใจของนักออกแบบมืออาชีพ

 

  • สรุปการออกแบบให้เข้าใจตรงกัน
  • ค้นคว้าและรวมหัวกันออกไอเดีย
  • ร่างภาพโลโก้ และสร้างต้นแบบ (ดูขั้นตอนที่ 5)
  • ส่งไปให้ผู้ว่าจ้างพิจารณา
  • ปรับปรุงจนเสร็จตามความต้องการ
  • ส่งไฟล์ให้ผู้ว่าจ้างและให้บริการหลังการขาย

 

          5. เรียนรู้การใช้งานโปรแกรมและเสร็จสิ้นการทำโลโก้ ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการออกแบบ ให้จำไว้ว่าเราไม่สามารถออกแบบได้ดีจากการทำในคอมพิวเตอร์ แนะนำให้เรารวมหัวออกแบบลงในกระดาษก่อน แล้วสแกนออกมาเป็นไฟล์ดิจิตอลเพื่อจัดเก็บแล้วส่งไฟล์รวมถึงแนวคิดในการออกแบบโลโก้ ให้ผู้ว่าจ้างเรา เมื่อเป็นที่พอใจแล้วค่อยเริ่มใช้โปรแกรมทำให้เสร็จสมบูรณ์ จะช่วยประหยัดเวลาเราได้มาก

 

 

สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบโลโก้

 

          การออกแบบโลโก้ เป็นส่วนสำคัญมากเพราะเป็นหน้าเป็นตาของบริษัทนั่นเอง โลโก้คือสิ่งแรกที่ผู้บริโภคจะมองและจะอยู่คู่กับธุรกิจไปโดยตลอด และนอกจากโลโก้จะถือเป็นสัญลักษณ์ทางธุรกิจ เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถจดจำธุรกิจของเราได้แล้ว โลโก้ยังนำมาซึ่งการคุ้มครองทางกฎหมายถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ใดจะมาละเมิดมิได้อีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบโลโก้ มีดังนี้คือ;

  

          1. ต้องการให้โลโก้สื่ออารมณ์ใดออกมา เพราะองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ใช้ออกแบบโลโก้นั้นล้วนสามารถควบคุมให้สื่อสารอารมณ์ต่าง ๆ ออกมาได้ ดังนั้นสิ่งแรกที่คุณควรนึกถึงคืออารมณ์ที่ต้องการให้คนทั่วไปรับรู้ ซึ่งนำไปสู่ภาพลักษณ์ขององค์กรหรือสินค้า และบริการต่าง ๆ ที่ผู้คนเหล่านั้น ได้รับรู้และเข้าใจ ซึ่งส่งผลโดยตรงกับผลประกอบการหรือผลสัมฤทธิ์ของจุดมุ่งหมายขององค์กรได้

  

  • การเลือกสี เลือกรูปแบบตัวอักษร การจัดวางองค์ประกอบของโลโก้นั้นล้วนมีผลต่ออารมณ์ที่จะสื่อออกมาทั้งสิ้น
  • รูปแบบตัวอักษร หากต้องการให้โลโก้สื่อถึงอารมณ์ สนุกสนาน อารมณ์ดีก็ควรเลือกใช้ตัวอักษรที่มีลักษณะโค้งมน ลื่นไหล ถ้าใช้ตัวอักษรที่มีหาง มีความคม ดูไม่มีความยืดหยุ่นก็จะสื่อถึงความเก่าแก่ ความเป็นทางการได้ หากนำทั้ง 2 แบบมาผสมผสานกันก็จะดูมีความทันสมัยมากขึ้นได้

 

 

รูปที่ 8 ลักษณะการสื่ออารมณ์

 

 

          2. ต้องการสื่อสารความหมายใดออกมา สีและการจัดวางองค์ประกอบของรูปโลโก้นั้นมีผลอย่างมากต่อความหมายที่จะสื่อสารออกมาได้ ซึ่งหากเลือกใช้สีโทนร้อนจะช่วยในการกระตุ้นอารมณ์ต่าง ๆ ของผู้พบเห็นได้ แต่สีโทนเย็นจะช่วยให้รู้สึกสงบลง อารมณ์เย็นลงได้

 

          นอกจากนี้สีแต่และสีก็สื่อความหมายและมีผลต่ออารมณ์ในที่ต่างกัน ในเรื่องของการจัดวางองค์ประกอบควรจัดทุกสิ่งทุกอย่างโดยมีความหมายรองรับ ทั้งหมดและทำให้ดูรกให้น้อยที่สุด อย่าผสมเล็กผสมน้อยจนมากเกินไปแล้ว ทำให้สื่อความหมายได้ไม่ชัดเจน

 

          3. ความร่วมสมัยของโลโก้ การออกแบบควรคำนึงถึงอายุการใช้งานของโลโก้ด้วย โดยพิจารณาถึงความร่วมสมัยของโลโก้ ออกแบบให้เรียบง่าย ไม่ออกแบบตามกระแส มีเอกลักษณ์ให้คนจดจำได้โดยง่าย เพื่อให้โลโก้ของเราตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คน และนึกถึงได้ง่าย

 

          4. หากโลโก้กลายเป็นสีขาวหรือดำจะยังดูออกหรือไม่ การออกแบบให้สามารถมองดูแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นโลโก้ของแบรนด์ใดแม้จะอยู่ในรูปขาวหรือดำ จะช่วยยืนยันได้ว่าโลโก้ของเรานั้นเป็นที่จดจำและนึกถึงได้โดยง่าย

 

          ทั้งนี้ทั้งนั้นพื้นที่สื่อต่าง ๆ มีมูลค่าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่มีสีสันต่าง ๆ มีมูลค่าที่ต้องจ่าย หากต้องการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิงพิมพ์ การทำออกมาด้วยสีขาวหรือดำจะประหยัดงบมากกว่าอีกด้วย

 

          5. หากย่อขนาดโลโก้ให้เล็กลงแล้วยังดูรู้เรื่องหรือไม่ว่าเป็นโลโก้อะไร ข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์โดยตรง อย่างที่กล่าวไปในข้อ 4 แล้วว่าสื่อสิ่งพิมพ์มีต้นทุน ขนาดโลโก้ที่ใหญ่ก็ส่งผลต่อต้นทุนที่ต้องจ่าย ทั้งนี้พื้นที่สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่อาจจะมีคนลงทุนตัดหน้าไปแล้วด้วย คุณจึงต้องออกแบบโลโก้เพื่อมีการย่อขยายต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้มีความยืดหยุ่น ข้อจำกัดน้อย

 

 

10 สิ่งที่ควรรู้ในการออกแบบโลโก้

 

 

           โลโก้เป็นงานออกแบบชิ้นหนึ่งที่ดูเหมือนจะง่ายแต่จริง ๆ แล้ว ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะโลโก้ส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จนั้นอาจจะดูว่ามันเป็นแค่ลายเส้นง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็น่าจะวาดได้ แต่เบื้องหลังความเรียบง่ายเหล่านั้น นักออกแบบอาจต้องคิดและร่างแนวคิดเป็นสิบเป็นร้อยแบบ เพื่อให้ได้โลโก้ที่สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์ จนเราเห็นและจำได้จนติดตา ดังนั้นถ้าใครยังไม่มีพื้นฐานหรือทักษะที่ดีเยี่ยมจะต้องศึกษา 10 สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการออกแบบโลโก้ มีดังนี้คือ

 

          1. โลโก้ที่ดีต้องจดจำได้ง่าย โลโก้เป็นตัวบ่งบอกถึงธุรกิจของคุณว่าแตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ หรือคู่แข่งขนาดไหนและโลโก้ที่ดีจะต้องสามารถทำให้คนจดจำแบรนด์ธุรกิจ ของคุณได้แม้ว่าจะทำการขับรถผ่านหรือเห็นผ่าน ๆ ก็ต้องจดจำให้ได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เวลาเห็นโลโก้ของ Apple แล้วเราคิดถึง iPhone คิดถึง Macbook แต่พอเราเห็นโลโก้อื่น ๆ ที่มีรูปร่างคล้ายกันเราก็จะคิดถึง Apple ก่อน เพราะโลโก้นั้นได้จดจำโดยสมองเราไปแล้ว

 

 

 

รูปที่ 9 โลโก้ของ Apple

 

 

          2. ตัวอักษรบนโลโก้สำคัญมาก คือฟอนต์ในโลโก้นั้นสำคัญมาก ๆ เพราะมันสามารถที่จะส่งเสริมหรือทำลายโลโก้ของเรานั้น ได้ในทันทีหากเราเลือกที่ไม่เหมาะสมกับบุคลิกของธุรกิจ เทคนิคง่าย ๆ ของการใช้ฟอนต์กับโลโก้เราควรจะใช้ฟอนต์ไม่เกิน 10–20 ตัวอักษรเท่านั้น เพื่อไม่ให้โลโก้ของเรานั้นดูไม่รกและไม่อึดอัดจนเกินไปขนาด ระยะห่าง และน้ำหนักของตัวอักษรจัดให้ดี เพื่อส่งเสริมโลโก้และธุรกิจของเรา

 

 

 

รูปที่ 10 ตัวอย่างตัวอักษรบนโลโก้

 

 

          3. เลือกสีให้เหมาะสม สีทุกสีมีความหมาย ทำให้เรามอง โลโก้แล้วรู้สึกถึงสิ่งที่กำลังถูกสื่อออกมา พยายามเลือกสีให้เหมาะสมและดูบ่งบอกถึงธุรกิจของเรา เพราะสีที่เราเลือกนั้นจะถูกจดจำไปในองค์กรตลอดไป เทคนิคง่าย ๆ สำหรับคนที่ยังไม่มีพื้นฐานแนะนำว่าควรเข้าใจทฤษฏีการใช้สี ความหมายของสีแต่ละสีเสียก่อน

 

          4. อย่าใช้ Effect บนโลโก้เยอะเกินไป โลโก้นั้นต้องการความเรียบง่าย และความหมายที่ดูแล้วสามารถจดจำได้ง่าย อย่าพยายามใช้ Effect แปลก ๆ บนโลโก้เพราะนั่นจะทำให้โลโก้ของเรานั้นดูไม่มีพลังเลย

 

 

 

รูปที่ 11 อย่าใช้ Effect บนโลโก้เยอะเกินไป

 

 

          5. ออกแบบโลโก้จากพื้นหลังสีขาว เริ่มแรกออกแบบพยายามใช้พื้นหลังสีขาวก่อน เพราะว่าจะสามารถทำให้เราเห็นองค์ประกอบต่าง ๆ ของโลโก้ได้ชัดมากขึ้น หลังจากออกแบบบนพื้นหลังสีขาวเสร็จแล้วค่อยนำไปต่อยอดทำอย่างอื่นต่อ เช่น พื้นหลังสีดำหรือทำเป็นลายไม้ สิ่งเหล่านี้จะมาคอยช่วยส่งเสริมโลโก้ของเราในภายหลัง

 

          6. เล่นกับพื้นที่ว่าง ลองเล่นกับพื้นที่ในตัวโลโก้ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และที่สำคัญต้องทำให้โลโก้เกิดความสมดุลของการจัดวาง การเล่นกับพื้นที่ว่างนั้นจะสามารถทำให้โลโก้ที่เป็นตัวอักษรดูไม่อึดอัดจนเกินไป

 

 

 

 

รูปที่ 12 การเล่นกับพื้นที่ว่างของโลโก้

 

 

          7. อย่าใช้สีรุ้ง สีเยอะ ๆ ดูสวยดี แต่กับโลโก้นั้นไม่ใช่ โลโก้ที่ดีหรือโลโก้ระดับโลกนั้น สังเกตได้เลยว่าใช้สีไม่เกิน 1–2 สี เพียงเพื่อต้องการให้คนจดจำกับสีนั้นไปตลอดเวลา

 

 

 

รูปที่ 13 อย่าใช้สีรุ้งเยอะ ๆ ในการออกแบบโลโก้

 

 

          8. โลโก้ไม่ใช่ดูดีอย่างเดียวแต่ต้องสื่อความหมายให้ได้ โลโก้เป็นหน้าตาในส่วนแรกของบริษัทที่ลูกค้าจะดู จึงไม่จําเป็นต้องออกแบบให้ดูดีมากมาย แต่ควรที่จะต้องออกแบบให้สื่อความหมายได้ และทำให้คนจดจำได้ง่าย เพราะโลโก้จะอยู่กับธุรกิจหรือแบรนด์นั้น ๆ ไปตลอด

 

 

 

รูปที่ 14 การสื่อความหมายของโลโก้

 

 

          9. อย่า Copy งานคนอื่น ถ้าคิดไม่ออกหรือทำไม่ได้ ไม่ควรจะไป Copy งานคนอื่น เพราะสมัยนี้โลกแห่งอินเตอร์เน็ตมันกว้างค้นหาไม่นานก็เจอ คำว่า Inspiration กับ Copy มันต่างกัน ถ้าเป็นแค่Inspiration ยังพอได้แต่ถ้า Copy เลยอาจจะทำให้ความน่าเชื่อถือของเราลดลง

 

          10. โลโก้ที่ดีต้องผ่านการคิดอย่างรอบคอบ หลายคนลงมือทำโลโก้ไปโดยที่ยังไม่มีจุดประสงค์ หรือไอเดียด้วยซ้ำ ซึ่งมันไม่ดีเสียเลยเพราะเราต้องไม่ลืมว่าโลโก้นั้นจะต้องอยู่กับธุรกิจหรือองค์กรนั้นต่อไปอีกนาน เพราะว่าก่อนเริ่มทำโลโก้ทุกครั้งควรจะต้องคิดให้รอบคอบในทุก ๆ อย่างหรือทุกองค์ประกอบเสียก่อน

 

 

บทสรุป

 

 

          โลโก้ (Logo) คือเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ เป็นผลของการออกแบบกราฟิกที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ (Symbolism) เป็นภาพสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์ แก่สินค้าและบริษัทของตน โดยวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อให้มีเอกลักษณ์แบบเฉพาะของตนเอง สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ และเพื่อให้ผู้พบเห็นจดจำง่าย เกิดความน่าเชื่อถือ หรือตราตรึงผู้บริโภคตลอดไป

 

 

เอกสารอ้างอิง

1. http://www.designil.com/how-to-logo-design-tips.html
2. http://www.thedesignessential.com/customize-%
3. http://www.goodwebway.com. 
4. http://www.yuttapong.com/?p=155
5. http://www.thedesignessential.com/customize-%
6. http://www.masterlawservice.com/
7. http://www.leenaja.com/Blogdetail.aspx?id=1
8. http://www.societadilinguisticaitaliana.org/
9. http://www.incquity.com/articles/office-operation/how-create-logo
10. https://www.facebook.com/nkstation2014/posts/ 267143873437473
11. http://www.v1.makewebeasy.com/article/index.php?page=show&id=809
12. http://www.idgthailand.com/
13. http://wittybuzz.blogspot.com/2009/07/5.html

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด