Safety & Healthcare

โรคไข้ซิกา (Zika Virus Disease) ของฝากจากยุงลาย (อีกแล้ว)

ศิริพร วันฟั่น

 

 

 

ยังไม่ทันหายตกอกตกใจกับความรุนแรงของไข้เลือดออก ก็มีการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะขึ้นมาอีกแล้ว ซึ่งบางคนอาจจะเคยได้ยินเป็นครั้งแรก นั่นคือ “โรคไข้ซิกา (Zika Virus Disease)” โดยมีรายงานจากองค์การอนามัยแห่งทวีปอเมริกา (PAHO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าพบการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในประเทศแถบทวีปอเมริกา ลาตินอเมริกา และแคริบเบียน รวมแล้วกว่า 26 ประเทศ (ข้อมูล 5 ก.พ.59) ครอบคลุมระยะทาง 7,000 กิโลเมตร ตั้งแต่เม็กซิโกไปจนถึงปารากวัย

 

 

          นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในยุโรปด้วย โดยประเดิมที่สเปน ตามมาด้วยอังกฤษ ไอร์แลนด์ ส่วนฝั่งเอเชียก็ไม่น้อยหน้า เมื่อพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาที่ออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมถึงไทยด้วย ซึ่งประเทศในฝั่งยุโรปและเอเชียพบว่าผู้ติดเชื้อล้วนแล้วแต่ได้รับเชื้อมาจากนอกประเทศทั้งสิ้น

 

          การระบาดในครั้งนี้ เริ่มจากวันที่ 3 มี.ค.2557 ประเทศชิลีได้แจ้งองค์การอนามัยโลกภูมิภาคอเมริกา (PAHO/WHO) ว่าพบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสซิกาที่เป็นชนพื้นเมืองบนเกาะอีสเตอร์ จากนั้นก็พบการติดเชื้อมาเรื่อย ๆ จนถึงมิถุนายน 2557 และในเดือนพฤษภาคม 2558 กระทรวงสาธารณสุขบราซิลก็ได้ยืนยันว่าพบการแพร่เชื้อไวรัสซิกาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ กระทั่งตุลาคม 2558 เป็นต้นมา ก็มีรายงานว่าพบการระบาดของไวรัสซิกาและผู้ติดเชื้อยืนยันในประเทศแถบทวีปอเมริกา ลาตินอเมริกา และแคริบเบียน

 

          โดยเฉพาะประเทศบราซิล (เจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกปลายปีนี้ ระหว่างวันที่ 5–21 ส.ค.2559) ที่มีการแพร่ระบาดหนักถึงขั้นประกาศภาวะฉุกเฉิน พบผู้ติดเชื้อราว 1 ล้าน 5 แสนคน และพบว่ามีทารกแรกเกิดมากถึง 3,718 ราย ที่มีศีรษะเล็กผิดปกติ ทำให้สมองมีพัฒนาการต่ำ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลกระทบจากหญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา กระทรวงสาธารณสุขบราซิลเปิดเผยว่า แพทย์ได้ตรวจพบไวรัสซิกาในเลือดและเนื้อเยื่อของเด็กที่มีอาการสมองอักเสบในรัฐเซอารา ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และนับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีสถิติผู้ใหญ่เสียชีวิตจากไวรัสซิกา โดยผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตเป็นผู้ชายในเมืองเบเลม รัฐปารา ซึ่งเข้ารับการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันพร้อมกับติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนรายที่สองเกิดขึ้นในรัฐปาราเช่นกัน เป็นเด็กสาวอายุ 16 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก แต่ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าติดเชื้อไวรัสซิกา สุดท้ายแล้วก็เสียชีวิต

 

          (4 ก.พ.2559) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบราซิลยืนยันว่า พบเชื้อไวรัสซิกาผ่านการถ่ายเลือดจากผู้บริจาคที่มีเชื้อไวรัส โดยชายคนหนึ่งที่มีบาดแผลจากการถูกยิงกลายเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา หลังจากได้รับการถ่ายเลือดหลายครั้งจากผู้บริจาค และในคลังเลือดสำรองยังพบเลือดจากผู้บริจาคอีก 2 รายที่มีเชื้อไวรัสซิกาปนเปื้อนอยู่ โดยรายแรกเจ้าหน้าที่ทราบหลังการบริจาคเนื่องจากมีอาการป่วยตามมาในภายหลัง ส่วนอีกรายแสดงอาการป่วยขณะบริจาคเลือด ซึ่งทั้งคู่มีผลการตรวจเลือดยืนยันติดเชื้อไวรัสซิกา ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขบราซิลประกาศห้ามบุคคลที่ติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไข้เลือดออกบริจาคโลหิตเว้นแต่ผ่านพ้น 30 วันหลังจากฟื้นไข้อย่างสมบูรณ์แล้ว เช่นเดียวกับ หน่วยงานเลือดของแคนาดาก็ได้ประกาศว่า ใครก็ตามที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงติดไวรัสซิกาจะถูกห้ามบริจาคโลหิตเป็นเวลา 3 สัปดาห์ นับจากที่เดินทางกลับมา ขณะที่ในอังกฤษ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (NHSBT) ระบุว่า บุคคลที่เดินทางกลับจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสซิกา ต้องรอจนครบ 28 วัน ถึงจะได้รับอนุญาตให้บริจาคโลหิต ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกัน

 

          นอกจากนี้ (5 ก.พ.2559) เหล่านักวิทยาศาสตร์จากมูลนิธิออสวัลโด ครูซ สถาบันสาธารณสุขของประเทศบราซิล ได้แถลงในริโอเดจาเนโร ว่านับเป็นครั้งแรกที่เชื้อไวรัสซิกาถูกตรวจพบในน้ำลายและปัสสาวะของคนไข้ 2 รายที่ติดเชื้อไวรัสนี้ และจากการที่พบว่าไวรัสยังมีชีวิตอยู่ นั่นหมายความว่ามีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาย้ำว่ายังเร็วเกินไปที่จะชี้ชัดว่าเชื้อไวรัสซิกาสามารถส่งผ่านเชื้อจากสารคัดหลั่งทั้งสอง ทั้งนี้แม้บอกว่ายังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อสรุปว่าสารคัดหลั่งของร่างกายดังกล่าวเป็นอีกช่องทางการแพร่เชื้อหรือไม่ แต่พวกนักวิทยาศาสตร์แนะนำว่าประชาชนควรใช้มาตรการป้องกันไว้ก่อน โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์

 

          ในขณะที่โคลัมเบียก็ประสบชะตากรรมที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยพบว่ามีผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อยถึง 2 หมื่นราย และในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 2,116 ราย เป็นผู้ป่วยที่เป็นสตรีมีครรภ์ด้วย กระทรวงสาธารณสุขโคลัมเบียจึงแนะนำให้เลื่อนการตั้งครรภ์ออกไป 6–8 เดือน เพื่อป้องกันทารกติดเชื้อ โดยทางการโคลัมเบียคาดว่าการระบาดของไวรัสซิกาในปีนี้อาจทำให้มีผู้ป่วยมากถึง 600,000–700,000 คน และสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติโคลัมเบีย (INS) ได้แถลงว่า (5 ก.พ.2559) พบผู้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของเชื้อไวรัสซิกาที่กำลังระบาดอยู่ในช่วงเวลานี้จำนวน 3 ราย โดยระบุว่าผู้ป่วยทั้งสาม เสียชีวิตจากอาการลุกลามเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบไม่บ่อยนัก ที่เรียกว่ากลุ่มอาการกิลแลง–บาร์เร (Guillain–Barre Syndrome) หรือโรค GBS ซึ่งเป็นอาการที่ระบบภูมิต้านทานร่างกายเกิดการทำลายระบบประสาท ทำให้ร่างกายอ่อนแอ หรือถึงขั้นเป็นอัมพาต โดยพบผู้ป่วยด้วยกลุ่มอาการนี้ตามหลังการระบาดของไวรัสซิกามากขึ้นเรื่อย ๆ จึงกระพือข้อสงสัยที่ว่า นี่คือภาวะแทรกซ้อนอันเป็นผลพวงของไวรัสซิกา ที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางสมองในทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิกาด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ มาธา ลูเซีย ออสปินา นักวิทยาการระบาดและเป็นผู้อำนวยการสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติโคลัมเบียได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “กรณีการเสียชีวิตจากไวรัสซิกากำลังปรากฏขึ้น โลกจะได้ตระหนักว่า ไวรัสซิกาสามารถเข่นฆ่าชีวิตได้ แม้อัตราการตายจะไม่สูงนัก แต่ก็สามารถคร่าชีวิตคนได้”

 

          ด้านประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็กำลังประสบปัญหาเช่นกันหลังพบผู้ติดเชื้อใน 11 รัฐ ไม่เว้นแม้แต่เมืองหลวงอย่างกรุงวอชิงตัน ดีซี และถึงขนาดต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในบางรัฐ เช่น ฟลอริดา (จำนวน 4 เคาน์ตี) ร้อนถึง ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ต้องออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวิจัยและหาหนทางในการวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรคดังกล่าว รวมถึงให้ข้อมูลในการป้องกันเบื้องต้นแก่ประชาชน พร้อมทั้งประกาศเตือนพลเมืองให้เลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดในช่วงนี้ นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้สภาคองเกรสจัดสรรงบฉุกเฉินกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 64,800 ล้านบาท เพื่อรับมือกับไวรัสซิกาและกำจัดยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรค ในขณะที่กาชาดอเมริกาเรียกร้องให้ผู้ประสงค์จะบริจาคโลหิตที่เคยเดินทางไปเยือนพื้นที่แพร่ระบาดของซิกาให้รออย่างน้อย 28 วันก่อนบริจาค แต่ยืนยันว่าความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสซิกาผ่านทางการบริจาคเลือดนั้น อยู่ในระดับต่ำมาก แต่กระนั้นก็ร้องขอให้ผู้บริจาคแจ้งสภากาชาดทันที หากมีอาการป่วยคล้ายกับโรคไข้ซิกาภายใน 14 วัน เพื่อที่จะได้ดำเนินการกักกันโรค

 

          ทางศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ (CDC) ได้เรียกร้องประชาชนให้ใช้ถุงยางอนามัย หรือละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ หากเคยอาศัยหรือเคยเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ (5 ก.พ.2559) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอเมริกายืนยันพบการแพร่เชื้อซิกาผ่านการมีเพศสัมพันธ์เป็นกรณีแรก (ซึ่งก่อนหน้านี้เชื่อกันว่า เชื้อไวรัสซิกาติดต่อผ่านยุงลายเท่านั้น) ในบุคคลหนึ่งซึ่งเคยเดินทางไปยังเวเนซุเอลาและมีเพศสัมพันธ์กับคนรักในมลรัฐเทกซัสตอนกลับมาแล้ว และยังเตือนว่าแม้กระทั่งการจูบ ก็อาจนำมาซึ่งการส่งผ่านไวรัสชนิดนี้ได้ นอกจากนี้ โฆษกทำเนียบขาวสหรัฐฯ เปิดเผยว่า หากเกิดการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ สิ่งที่ต้องทำก็คือ การควบคุมปริมาณยุง และรัฐบาลได้เตรียมแผนไว้แล้ว ในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐฯ ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ระบุว่ากรณีนี้ไม่ใช่ไวรัสร้ายแรงอย่างอีโบลา จึงไม่จำเป็นต้องถึงขั้นสกัดคนที่พรมแดน

 

          ที่ใกล้ตัวเราเข้ามาหน่อย ก็เห็นจะเป็นข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน (20 ม.ค.59) ระบุว่า พบชายไทยรายหนึ่งมีเชื้อไวรัสซิกาเดินทางเข้ามาในไต้หวัน ถือเป็นรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ชายไทยคนดังกล่าวอายุ 24 ปี เดินทางมายังท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน เมื่อวันที่ 10 ม.ค.59 ที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ของท่าอากาศยานตรวจพบว่าชายผู้นี้มีไข้สูงผิดปกติ จึงทำการตรวจเลือด กระทั่งพบเชื้อไวรัสซิกาในตัวชายคนนี้ ซึ่งเป็นเชื้อที่มียุงลายเป็นพาหะ และกำลังระบาดหนักอยู่ในหลายประเทศในแถบลาตินอเมริกา ทั้งนี้ ชายไทยคนดังกล่าวเดินทางมาไต้หวันเพื่อทำงาน แต่ช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้ ได้อาศัยอยู่ที่จังหวัดหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ชายผู้นี้ได้ถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในไต้หวันแล้ว ส่วนเพื่อนอีก 2 คนที่เดินทางมาจากภาคเหนือของไทยด้วยกันนั้น ตรวจแล้วไม่พบเชื้อไวรัสซิกาแต่อย่างใด จากการตรวจพบและยืนยันการติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นครั้งแรกของไต้หวันนี้ ได้ทำให้ศูนย์เพื่อการควบคุมโรค (CDC) ของไต้หวัน ประกาศยกระดับคำเตือนการเดินทางไปยังประเทศในแถบอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ พร้อมเฝ้าระวังประเทศในแถบอาเซียน อย่างกัมพูชา อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งเอเชียตะวันออก อย่างมัลดีฟส์ สุดท้ายคนไทยคนดังกล่าวได้รับการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน จนอาการป่วยได้หายขาดและสามารถกลับเข้าทำงานได้ตามปกติแล้ว

 

          ขยับเข้ามาใกล้อีกนิด ก็เป็นการแถลงข่าวของ พล.อ.ต.สันติ ศรเสริมโภค ผอ.โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ ในวันที่ 2 ก.พ.59 เปิดเผยว่า “ทางโรงพยาบาลได้มีการรับผู้ป่วยโรคไข้ซิกา เป็นชายไทย อายุประมาณ 20 กว่าปี เข้ามารับการรักษาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ด้วยอาการไข้ออกผื่น เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ตาแดง จึงได้ให้การรักษาตามอาการเหมือนไข้เลือดออก ขณะนี้สามารถรักษาผู้ป่วยจนหาย และออกจากโรงพยาบาลแล้ว ทั้งนี้ โรคซิกาเกิดจากเชื้อไวรัส คล้าย ๆ กับไข้เลือดออก แต่ถือว่าเป็นอันตรายมากกับหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ทำให้เกิดมามีภาวะสมองเล็ก อย่างไรก็ตาม ชายคนดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นพาหะของโรคแล้ว เพราะการแพร่เชื้อจะอยู่ในช่วงที่มีอาการไข้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การพบผู้ป่วยโรคไข้ซิกานี้ ไม่ถือว่าเป็นรายแรกของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาก็เคยพบมาก่อน แต่ถือว่าเป็นรายแรกที่พบในโรงพยาบาลภูมิพล”

               

          สำหรับประเทศไทยแล้ว โรคไข้ซิกาไม่ใช่โรคใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่เราไม่ค่อยได้ยินข่าวคราวซักเท่าไหร่ เพราะเราไม่ใช่ขาประจำหรือท้องถิ่นการแพร่ระบาด ถ้าย้อนหลังกลับไปก็มีรายงานการตรวจพบแอนติบอดีต่อไวรัสซิกาในผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2506 หลังจากนั้นมีรายงานผู้ป่วยหญิงนักท่องเที่ยวจากแคนาดา ซึ่งเดินทางมาไทยในช่วงเวลา 21 ม.ค.–2 ก.พ.2556 โดยพักในกรุงเทพฯ และภูเก็ต และเมื่อเดินทางกลับแคนาดาได้ 4 วัน ก็เริ่มป่วย ซึ่งอาการก็คล้ายกับเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไป เช่น อาเจียน ปวดหลัง ปวดหัวและปวดข้อ ภายหลังได้รับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่า เป็นการติดเชื้อไวรัสซิกา และตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขไทยก็ตรวจพบผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 5 ราย กระจายอยู่ทุกภูมิภาค นอกจากไทยแล้ว ที่ผ่านมาก็มีรายงานพบการติดเชื้อไวรัสซิกาในอินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซียอีกด้วย

 

          เมื่อมองดูตามประวัติการพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ท่านผู้อ่านก็อาจคิดได้ว่า ไม่เห็นจะมีอันตรายเลย ชิลล์ ๆ สบาย ๆ แต่ในทัศนะของผู้เขียนมองว่าการตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาทน่าจะเป็นการดีที่สุด เท่าที่นึกออกมีเหตุผลประกอบห้า-หกประการ คือ หนึ่ง พาหะนำโรคก็คือยุงลายเจ้าเก่าที่ไม่ได้รับเชิญแต่มาอาศัยอยู่ประจำแทบทุกบ้าน สอง พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อนี้ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการเด่นชัด (ประมาณร้อยละ 80) นั่นเท่ากับว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสสูงในการแพร่เชื้อโดยที่ตัวผู้ป่วยเองก็ไม่ทราบ ดังเช่นกรณีการระบาดในครั้งนี้ของประเทศบราซิลและโคลัมเบียที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อถึงกว่าล้านคน สาม อาการของผู้ป่วยไม่สามารถวินิจฉัยยืนยันได้ 100% ทันทีว่าติดเชื้อ ยังต้องอาศัยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันผลที่แน่ชัดอีกที สี่ มีความเสี่ยงสูงต่อทารกในครรภ์ ทำให้เกิดภาวะทารกมีศีรษะเล็กผิดปกติและมีพัฒนาการสมองช้าตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะนำไปสู่การพิการอย่างถาวรหรือถึงขั้นเสียชีวิต ห้า ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือยาที่สามารถรักษาการติดเชื้อนี้ได้โดยตรง มีแต่เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น และหก เชื่อว่าผู้อ่านคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วกับการกลายพันธุ์ของโรค ดังเช่น โรคไข้หวัดนกที่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่า H,N เท่าไหร่แล้ว หรือกรณีที่โรคหนึ่ง ๆ อยากจะไปเยี่ยมเยียนในที่อื่น ๆ ที่ไม่เคยพบการระบาดมาก่อน ดังเช่น โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าโรคเมอร์ส (MERS) ที่โดยปกติจะพบการระบาดในประเทศแถบตะวันออกกลางตามชื่อโรค แต่กลับมาระบาดอย่างรุนแรงในประเทศเอเชียอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน

 

          และอีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ไทยเราเป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับต้น ๆ ของโลกที่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ดังนั้น จึงมีโอกาสที่มีบางส่วนของนักท่องเที่ยว หรือผู้ป่วยต่างชาติที่มารับบริการทางการแพทย์เหล่านี้ อาจจะนำพาเชื้อไวรัสซิกาติดตัวมาด้วย โดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่ทราบ โดยเฉพาะช่วงเวลาเดินทางมาไทยอยู่ในช่วงต้นของระยะฟักตัวของเชื้อ อาจจะยังมีไข้ไม่สูง จึงทำให้ไม่ถูกตรวจจับจากเครื่องเทอร์โมสแกน แต่พออยู่ในไทยแล้วก็เข้าสู่ช่วงของการแพร่เชื้อพอดิบพอดี เป็นต้น

 

          ซึ่งความวิตกกังวลดังกล่าว ประกอบกับผลการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาด ส่งผลให้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC)” ในวันที่ 1 ก.พ.2559 เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกา โดย ดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการ WHO ระบุว่า “การประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้สมเหตุสมผลแล้ว จากเหตุผลทั้งความเร็วของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะชนิดนี้ และข้อสงสัยว่าเชื้อไวรัสนี้อาจมีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากของเด็กทารกที่เกิดมาพร้อมภาวะศีรษะเล็ก (Microcephaly) ในพื้นที่ที่ไวรัสนี้แพร่กระจาย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจพบโรค การรักษา และการคิดค้นหาวัคซีน แต่คิดว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการงดการเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด” นอกจากนี้ ยังเตือนว่าอาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้สูงถึง 4 ล้านคนในทวีปอเมริกาและอาจจะแผ่ลามไปทั้งโลก พร้อมทั้งแนะนำประเทศต่าง ๆ ให้งดรับบริจาคโลหิตจากบุคคลที่เพิ่งเดินทางกลับจากดินแดนที่ได้รับผลกระทบ ภายหลังที่หน่วยงานสาธารณสุขในประเทศบราซิลซึ่งเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาอย่างรุนแรง ได้ยืนยันพบการติดต่อของไวรัสซิกาผ่านการถ่ายเลือดด้วย

 

          คำเตือนใหม่นี้ย้ำให้เห็นว่า โรคไข้ซิกา ยังเป็นที่รู้จักน้อย ทั้ง ๆ ที่ไวรัสชนิดนี้ถูกพบครั้งแรกในแอฟริกาตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 (พ.ศ.2490) แต่ถูกมองโดยตลอดว่าว่าเป็นเพียงโรคติดต่อระดับเบา จนกระทั่งปัจจุบันเริ่มปรากฏเค้าลางถึงสัญญานอันตรายที่พบมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ก่ออันตรายถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต ดังเช่นกรณีผู้เสียชีวิตจากการระบาดในบราซิลและโคลัมเบีย ด้าน อันโทนี คอสเตลโล ผู้เชี่ยวชาญและกุมารแพทย์ของ WHO ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “มีความเป็นไปได้ว่าไวรัสซิกาอาจส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อหลายครอบครัว ผู้ป่วยอาจเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า และเป็นไปได้ว่าการแพร่ระบาดจะไม่หยุดอยู่ในลาตินอเมริกาเท่านั้น แต่จะลามเข้าสู่แอฟริกาและเอเชีย ซึ่งเป็น 2 ภูมิภาคที่มีอัตราการเกิดสูงที่สุดในโลก ถือเป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลต่อวงการสาธารณสุข จึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งที่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ”

 

          อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์ต่างประเทศมองว่า นอกจากเหตุผลนานัปการที่กล่าวมาข้างต้น ที่ทำให้ WHO ต้องเร่งประกาศให้การระบาดไวรัสซิกาเป็นภาวะฉุกเฉินฯ เทียบชั้นกับไวรัสอีโบลา ทั้ง ๆ ที่ความรุนแรงและจำนวนผู้เสียชีวิตเทียบกันไม่ได้เลย ก็เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในครั้งก่อน ที่รับมือกับไวรัสอีโบลาล่าช้า จนมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก จนเรียกว่าแทบจะปล่อยให้ขึ้นอยู่กับชะตาฟ้าลิขิตแล้ว ในครั้งนี้จึงอาจเรียกได้ว่าเจ็บแล้วจำ กลัวจะซ้ำรอยเดิม อนึ่ง การประกาศภาวะฉุกเฉินฯ ของ WHO ฉบับก่อนหน้านี้ ก็คือ การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola Virus) ส.ค. ปี 2014, โปลิโอ พ.ค.ในปี 2014 และเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในปี 2009

 

          ส่วนไทยเราก็ไม่น้อยหน้า ได้ยกระดับการเฝ้าระวังโรคไข้ซิกาขึ้นมาทันควัน โดยในวันถัดมา (2 ก.พ.2559) ที่กรมควบคุมโรค นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย ศ.คลินิก เกียรติคุณ, นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา พล.อ.ต.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และคณะร่วมกันแถลงข่าวมาตรการควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาของไทย ดังนี้

 

          นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “หลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้สถานการณ์ระบาดของโรคนี้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขไทยก็ได้มีการออกประกาศเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเพิ่มเติม 2 ฉบับ โดยฉบับแรก ‘ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง เพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อและอาการสำคัญ’ โดยระบุว่า อาการสำคัญ ได้แก่ มีอาการไข้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ตาแดง บางรายอาจมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย โดยทั่วไปจะมีอาการป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ และฉบับที่สอง ‘ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง เพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อต้องแจ้งความ’ ระบุว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคที่ต้องแจ้งความ เมื่อพบผู้ป่วยต้องรายงานให้สาธารณสุขทราบ”

 

          “ในการเฝ้าระวังป้องกันโรคจะมีการคุมเข้มเป็นพิเศษใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ 2.ผู้ป่วยไข้ออกผื่น เป็นกลุ่มก้อน จะมีการลงพื้นที่สอบสวนโรคทันที 3.ทารกที่คลอดแล้วมีศีรษะเล็ก และ 4.ผู้ป่วยที่มีอาการปลายประสาทอักเสบ โดยจะเน้น 4 มาตรการ คือ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และ 4.การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท นอกจากนี้จะมีการเพิ่มความเข้มข้นในการออกไปสอบสวนโรค หากมีผู้ป่วยอาการเข้าข่ายจะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสอบสวนโรคทันทีและอย่างจริงจัง รวมถึงด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศบริเวณสนามบินจะมีการเฝ้าระวังเข้มแข็งในกรณีที่มีผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคแล้วมีอาการไข้ด้วย

 

          นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังจะมีการตั้งศูนย์เพื่อติดตามเรื่องโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ ซึ่งจะประสานกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และเวชศาสตร์เขตร้อน อีกทั้งมีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างนักระบาดวิทยาภาคสนามของกลุ่มประเทศอาเซียน +3 เพื่อปรึกษาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการร่วมกันในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อซิกา ในภาคส่วนประชาชนก็ต้องช่วยกันกำจัดทั้งตัวยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวน เพราะหากสามารถกำจัดยุงลายได้จะคุมได้ถึง 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้ซิกา และไข้ปวดข้อชิคุนกุนยา ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงเมื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้วมีอาการป่วยเป็นไข้ ออกผื่น ให้แจ้งกรมควบคุมโรค ส่วนหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค”

 

          นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า “ตั้งแต่ปี 2555–2558 มีรายงานผู้ป่วย 2–5 ราย ทุกครั้งผู้ป่วยจะหายและยุติโรคได้ ไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ที่ผ่านมาในประเทศไทยจึงยังไม่ถือว่ามีการระบาดของโรค และขณะนี้ยังไม่ถือว่ามีการระบาด ซึ่งข้อมูลการสอบสวนโรค พบว่า ผู้ป่วยที่เคยเจอในประเทศไทยมีทั้งที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ และติดเชื้อจากยุงลายภายในประเทศไทยเอง ซึ่งการที่เจอผู้ป่วยสะท้อนว่าไทยมีระบบเฝ้าระวังที่เข้มแข็ง สามารถตรวจจับผู้ป่วยและควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วขอให้ประชาชนมั่นใจระบบป้องกันและควบคุมโรคของไทย ส่วนที่ว่ายุงลายเป็นแหล่งรังโรค หรือมีเชื้อไวรัสซิกามากน้อยหรือรุนแรงแค่ไหนนั้น กำลังศึกษา โดยได้ประสานความร่วมมือกับภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และหากมีอาการข้างต้นสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และถ้าหากยังมีข้อสังสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง”

 

          พล.อ.ต.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า “รพ.ภูมิพล มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกาเข้ามารับการรักษา 1 ราย เป็นชายไทยอายุประมาณ 20 กว่าปี เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ด้วยอาการไข้ มีผื่น ตาแดง ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว จากการเจาะเลือดส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าเป็นไวรัสซิกา ซึ่งให้การรักษาจนผู้ป่วยอาการดีขึ้น และออกจากโรงพยาบาลแล้ว และโรงพยาบาลได้มีการเฝ้าระวังโดยมาตรการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและแจกแผ่นพับให้ความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากโรคนี้ที่น่าห่วง คือ ทารกที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อซิกา โดยเฉพาะในช่วงที่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ 12 สัปดาห์ แต่ประเทศไทยยังไม่มีรายงานพบในหญิงตั้งครรภ์”

 

          ศ.คลินิก เกียรติคุณ, นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา กล่าวว่า “โรคนี้มีการระบาดทั่วไป โดยเฉพาะใน 19 ประเทศแถบทวีปอเมริกา ซึ่งที่บราซิล พบผู้ป่วยราว 5 ล้านคน และมีทารกที่คลอดมามีศีรษะเล็กมากกว่า 3,000 คน เฉลี่ย 20 คน ต่อหมื่นทารกที่เกิดมีชีพ จากเดิมที่มีเพียง 0.5 คนต่อหมื่นทารกที่เกิดมีชีพ จึงมีการศึกษาว่าไวรัสซิกามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งผลออกมาว่าเชื่อมโยงและเกี่ยวกันได้ ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงประกาศไม่ให้หญิงตั้งครรภ์เดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาด ทั้งนี้ ตามปกติอาการของผู้ป่วยโรคซิกาจะมีอาการใกล้เคียงกับไข้เลือดออกเดงกีและไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา คือ มีไข้ ออกผื่นและปวดข้อ จึงต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ (ห้องแลป) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยสามารถดำเนินการตรวจได้ นอกจากนี้ยังได้มีการประสานไปยังราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เฝ้าระวังทารกแรกคลอดที่มีศีษะเล็กในประเทศไทย และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ในการหาความเชื่อมโยงโรคติดเชื้อไวรัสซิกาและผู้ป่วยที่มีอาการปลายประสาทอักเสบ ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์หากเจาะเลือดตรวจจะไม่สามารถบอกได้ว่าทารกติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ เพราะแอนติบอดีจะเหมือนกับโรคไวรัสเดงกีและไข้สมองอักเสบ จะต้องเจาะน้ำคร่ำจึงจะสามารถตรวจได้”

 

          นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า “ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกาส่วนใหญ่จะมีอาการน้อยและหายเองได้ใน 7 วัน มีจำนวนน้อยมากที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนการระบาดที่พบผู้ป่วยกว่า 1 ล้านรายนั้น จริง ๆ อาการป่วยไม่ได้รุนแรง แต่ที่องค์การอนามัยโลกกังวลและประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินเพราะไข้ซิกามีผลกระทบกับทารกในครรภ์ ทำให้ทารกพิการ ศีรษะเล็กและส่งผลให้สังคมต้องรับภาระดูแลในระยะยาวมากกว่า อนึ่ง โรคติดเชื้อไวรัสซิกานับเป็นโรคติดต่อต้องแจ้งความลำดับที่ 23 โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความมาแล้ว 22 โรค ได้แก่ 1.อหิวาตกโรค 2.กาฬโรค 3.ไข้ทรพิษ 4.ไข้เหลือง 5.ไข้กาฬหลังแอ่น 6.คอตีบ 7.โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด 8.โปลิโอ 9.ไข้หวัดใหญ่ 10.ไข้สมองอักเสบ 11.โรคพิษสุนัขบ้า 12.ไข้รากสาดใหญ่ 13.วัณโรค 14.แอนแทร็ซ์ 15.โรคทริคิโนซิส 16.โรคคุดทะราด เฉพาะในระยะติดต่อ 17.โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างฉับพลันในเด็ก 18.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) 19.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย 20.ไข้เลือดออก 21.โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และ 22.โรคเมอร์ส (MERS)”  

 

 

รู้เท่าทันโรคไข้ซิกา (Zika Virus Disease)

 

          1. ลักษณะโรค (Disease Characteristics) โรคไข้ซิกาเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus-ZIKV) จัดเป็นไวรัสที่มีรหัสพันธุกรรมชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) สายเดี่ยว อยู่ในตระกูลเฟลวิไวรัส (Flavivirus) เช่นเดียวกับไวรัสเดงกีที่ก่อให้เกิดไข้เลือดออก ไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ไวรัสไข้เหลือง และไวรัสเวสต์ไนล์ เกิดขึ้นโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ส่วนชื่อซิกา (Zika) เป็นชื่อป่าในประเทศยูกันดา (Uganda) อยู่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นสถานที่ที่เชื้อไวรัสซิกาถูกแยกเชื้อได้เป็นครั้งแรกจากน้ำเหลืองของลิงวอก (Rhesus Monkey) ในปี ค.ศ.1947 (พ.ศ.2490) โดยในขณะนั้นมีการศึกษาวงจรการเกิดไข้เหลืองในป่า (Sylvatic Yellow Fever) และต่อมาก็สามารถแยกเชื้อไวรัสซิกาได้จากมนุษย์ในปี ค.ศ.1952 (พ.ศ.2495) ในประเทศยูกันดาและสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย และมีรายงานพบการระบาดของโรคไข้ซิกาในพื้นที่ของทวีปแอฟริกา เอเชีย หมู่เกาะแปซิฟิกและอเมริกา นับวันทั่วโลกมีแนวโน้มการระบาดของโรคจะแพร่กระจายไปยังประเทศใหม่ ๆ เนื่องจากการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็ว ประกอบกับยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคมีกระจายอยู่ในหลายทวีปทั่วโลก ส่วนแหล่งรังโรค (Reservoir) ยังไม่สามารถระบุและยืนยันได้อย่างชัดเจน

 

          2. สัญญาณบ่งชี้และอาการของโรค (Signs & Symptoms) ระยะฟักตัวของโรคไข้ซิกาใช้เวลาประมาณ 3–12 วัน ผู้ติดเชื้อนี้ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการและหายเองได้ มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่อาจแสดงอาการได้ และมักแสดงอาการภายหลังได้รับเชื้อนี้ 4–7 วัน อาการของโรคไข้ซิกาคล้ายกับโรคที่เกิดจากอาร์โบไวรัส (Arbovirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค เช่น โรคไข้สมองอักเสบ โรคไข้เหลือง และโรคไข้เลือดออก เป็นต้น โดยมีอาการไข้ มีผื่นแดงบริเวณลำตัวและแขนขา เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย วิงเวียน ปวดศีรษะ (อาจจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง) อาการเหล่านี้ปกติแล้วจะเป็นเพียงเล็กน้อย และอาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2–7 วัน ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายเองได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ และไม่ค่อยจะมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้

 

          ในช่วงที่เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง ในหมู่เกาะเฟรนช์ โปลินีเซีย (French Polynesia) และประเทศบราซิล ในปี พ.ศ.2556 และ พ.ศ.2558 ตามลำดับ หน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติได้รายงานภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการติดโรคไข้ซิกาต่อระบบประสาท (Neurological) และภูมิต้านทานตนเอง (Auto–immune) และโดยเฉพาะการตรวจพบผู้ป่วยกลุ่มอาการกิลแลง – บาร์เร (Guillain–Barre Syndrome) หรือโรค GBS (ซึ่งเป็นอาการที่ระบบภูมิต้านทานร่างกายเกิดการทำลายระบบประสาท ทำให้ร่างกายอ่อนแอหรือถึงขั้นเป็นอัมพาต) ตามหลังการระบาดของไวรัสซิกามากขึ้นดังเช่นประเทศโคลัมเบีย และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในประเทศบราซิล หน่วยงานสาธารณสุขส่วนท้องถิ่นได้พบว่ามีการติดเชื้อโรคไข้ซิกาเพิ่มขึ้นในประชาชนทั่วไป และในขณะเดียวกันพบว่า ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล มีการเพิ่มขึ้นของภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) ในเด็กแรกเกิด อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิดกับโรคไข้ซิกา และต้องมีการค้นคว้าหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจมีผลให้เกิดภาวะดังกล่าวร่วมด้วย

 

          3. วิธีการแพร่โรค (Transmission) ช่องทางหลักของการแพร่เชื้อไวรัสซิกาที่มีการยืนยันและยอมรับกันในทางการสาธารณสุข ก็คือ การนำพาเชื้อโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายที่มีเชื้อแล้วไปกัดคน เป็นยุงลายในตระกูล Aedes ทั้งยุงลายบ้าน (Aedes Aegypti) และยุงลายสวน (Aedes Albopictus) แต่ส่วนใหญ่แล้วพบว่าจะเป็นยุงลายบ้าน ที่มีอยู่ทั่วไปในภูมิภาคอากาศร้อนชื้น โดยยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้ซิกาก็เป็นชนิดเดียวกันกับยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกเดงกี (Dengue) โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) และไข้เหลือง (Yellow Fever) ปกติออกหากินในช่วงเวลาเช้า บ่ายแก่ ๆ และช่วงเย็น ส่วนใหญ่แล้วเชื้อไวรัสซิกาจะอยู่ในเลือดของผู้ติดเชื้อประมาณหนึ่งอาทิตย์แต่อาจจะยาวนานกว่านี้ได้ในบางคน

 

          ส่วนช่องทางการแพร่เชื้ออื่น ๆ นั้น เช่น ส่งผ่านจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาไปยังทารกในครรภ์ หรือผ่านทางการให้นมบุตร ผ่านทางการถ่ายเลือด การมีเพศสัมพันธ์ และทางสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ ฯลฯ ก็ยังถือว่า ข้อมูลมีจำกัด เป็นไปในลักษณะของการคาดการณ์ แม้ว่าจะทยอยพบหลักฐานเชื่อมโยงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามที่ระบุไว้ในรายงานของประเทศที่มีการระบาด โดยเฉพาะกับข้อมูลการระบาดในครั้งล่าสุดนี้ (ดังที่กล่าวในตอนต้นของบทความ) แต่ทั้งองค์การอนามัยแห่งทวีปอเมริกา (PAHO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ต่างก็ประสานเสียงว่า ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเชื่อมโยงของหลักฐานที่พบ และทั้งหมดทั้งมวลต้องอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนอกจากต้องได้ตามเกณฑ์มาตรฐานในการยืนยันผลทางระบาดวิทยา ไวรัสวิทยาแล้ว ก็ยังต้องเป็นไปตามหลักทางสถิติอีกด้วย (เรียกว่าต้องขจัดคำว่า ‘บังเอิญ’ ออกไปให้สิ้นสงสัย) ซึ่งจะว่าไปแล้ว ส่วนที่ยากที่สุดในการวินิจฉัยก็น่าจะเป็นการชี้ขาดว่า ต้นเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสซิกาโดยตรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน หรือปัจจัยอื่นร่วมด้วย

 

          ทางเว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ (อัพเดต 5 ก.พ.2559) ก็ได้ระบุถึงข้อมูลเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เป็นต้นว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาในช่วงใกล้คลอดสามารถส่งผ่านเชื้อไวรัสนี้ไปยังทารกแรกเกิดในห้วงเวลาที่เกิดได้ (แต่ไม่ค่อยปรากฏ) และมีความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสซิกาจะส่งผ่านจากแม่ไปสู่ทารกได้ในช่วงของการตั้งครรภ์ แต่กำลังอยู่ในช่วงของการศึกษา ว่าแม่บางรายสามารถส่งผ่านเชื้อไวรัสนี้ไปยังทารกในครรภ์ได้อย่างไร จวบจนปัจจุบัน ก็ยังไม่มีรายงานของเด็กทารกได้รับเชื้อไวรัสซิกาจากการให้นมแม่ และแม้จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็ยังไม่มีการห้ามให้นมลูกแต่อย่างใด แต่ CDC ยอมรับว่ามีรายงานการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสซิกาผ่านทางการถ่ายเลือดและการมีเพศสัมพันธ์ โดยมีหลักฐานใน 2 กรณีตัวอย่าง ว่าเชื้อไวรัสซิกาสามารถแพร่เชื้อผ่านชายผู้ติดเชื้อไปยังคู่รักหญิงจากการมีเพศสัมพันธ์ หนึ่งในนั้นพบการแพร่เชื้อเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนที่ผู้ชายจะเริ่มแสดงอาการป่วยชัดเจนขึ้นเสียอีก ในรายงานหนึ่งระบุว่าพบเชื้อไวรัสนี้อยู่ในน้ำอสุจิเป็นเวลาอย่างน้อย 2 อาทิตย์ภายหลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการติดเชื้อ จึงทำให้ทราบในตอนนี้ว่าเชื้อไวรัสซิกาอยู่ในน้ำอสุจิได้นานกว่าในเลือด แต่สิ่งที่ยังไม่รู้ คือ เชื้อไวรัสนี้มีชีวิตอยู่ในน้ำอสุจิได้นานเท่าไร ถ้าชายที่ติดเชื้อแต่อาการไม่แสดงชัดเจนนักจะยังคงมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ในน้ำอสุจิหรือไม่และสามารถส่งผ่านไปยังคู่รักหญิงได้หรือไม่ และก็เกิดคำถามว่า ในทางกลับกัน หญิงที่ติดเชื้อไวรัสนี้จะสามารถส่งผ่านไปยังคู่รักชายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่

 

          4. การวินิจฉัย (Diagnosis) จะพิจารณาจากอาการทางคลินิก และปัจจัยเสี่ยงทางระบาดวิทยา (เช่น การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาของผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีการระบาด หรือเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของโรค) ประกอบกับการตรวจวินิจฉัยไวรัสซิกาทางห้องปฏิบัติการ ที่ทำได้โดยการตรวจสารพันธุกรรมด้วยวิธี Real–time PCR (Polymerase Chain Reaction) และการแยกเชื้อไวรัสจากตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย แต่สำหรับการตรวจแอนติบอดีที่จำเพาะต่อไวรัสซิกานั้น ค่อนข้างยาก เนื่องจากไวรัสซิกามีลักษณะที่คล้ายกับไวรัสที่ก่อโรคอื่น เช่น โรคไข้เลือดออกเดงกี, เวสไนต์ และไข้เหลือง โดยสามารถส่งตัวอย่างเพื่อตรวจสารพันธุกรรมได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาลัยมหิดล และสถาบันบำราศนราดูร

               

          อย่างไรก็ดี แม้ว่าโรคไข้ซิกา โรคไข้เลือดออกเดงกี และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (โรคชิคุนกุนยา) จะมีอาการที่คล้ายกัน แต่ก็มีอาการบางอย่างที่อาจจะช่วยบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ดังนี้ คือ 1.โรคไข้เลือดออกเดงกี มักจะมีอาการไข้สูง และปวดกล้ามเนื้อรุนแรง อาจมีอาการรุนแรงแทรกซ้อนเมื่อไข้เริ่มลด ซึ่งอาจมีสัญญาณเตือน เช่น เลือดออก 2.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya Fever) มีอาการไข้สูง และอาการปวดข้อรุนแรงที่มือ เท้า หัวเข่า และหลัง จนอาจไม่สามารถดำเนินกิจกรรมตามปกติได้ 3.โรคไข้ซิกา ยังไม่มีลักษณะที่ชัดเจน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีผื่นที่ผิวหนัง และบางส่วนมีเยื่อบุตาอักเสบ

 

          5. การรักษาโรค (Treatment) ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาเฉพาะ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคไข้ซิกาจะมีอาการไม่รุนแรง จึงสามารถรักษาได้โดย การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ รักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้ ปวดศีรษะ ใช้ยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการปวด แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพราะมียาบางชนิดที่เป็นอันตรายสำหรับการเป็นโรคนี้ ที่อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรปรึกษาและทำตามคำแนะนำของแพทย์

 

 

          6. การป้องกัน (Prevention) เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาเฉพาะ ดังนั้น การป้องกันหลัก ๆ จึงเป็นการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อกำจัดและควบคุมปริมาณยุงลายที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสซิกา ไปพร้อม ๆ กับมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคจากภาครัฐฯ ดังนี้ คือ

 

          6.1 สำหรับประชาชน

  • ยุงลาย และการขยายพันธุ์ของยุงลาย เป็นสาเหตุและเป็นปัจจัยเสี่ยงของการติดต่อของโรคไข้ซิกา การป้องกันและการควบคุมโรคขึ้นอยู่กับการลดจำนวนยุงตามแหล่งต่าง ๆ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย (ที่รวมถึงการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด) สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น ใช้ยาจุดกันยุง ไม้ตบยุงไฟฟ้า ครีมทาหรือสเปร์ยไล่ยุง การสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อหนาสีอ่อน ๆ ที่สามารถคลุมผิวหนังและร่างกายได้ นอนในมุ้งหรือห้องปรับอากาศ ปิดประตู หน้าต่างหรือติดตั้งมุ้งลวด คว่ำหรือปิดครอบภาชนะที่มีน้ำขังเพื่อไม่ให้เป็นเพาะพันธุ์ยุงลาย เหล่านี้เป็นต้น
  • เมื่อมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ ที่มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที (โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์)

         

          6.2 สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้ซิกา

  • ควรระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด และใช้ยาทาป้องกันยุงกัด หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีรายงานการระบาด แต่หากจำเป็นต้องเดินทางก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง
  • ภายหลังเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้ซิกา หากมีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาหรือปรึกษาได้ที่ คลินิกเวชศาสตร์การท่องเที่ยวและการเดินทาง, สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

 

          6.3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข

  • 5 มาตรการที่ดำเนินการเพื่อป้องกันควบคุมโรคไข้ซิกา ได้แก่ 1.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ (ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคติดต่อและระบุอาการสำคัญของโรค และประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ) 2.จัดระบบปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) โดยค้นหาผู้ป่วยให้ได้ทุกรายโดยเร็ว ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งกำจัดยุงพาหะและแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3.มาตรการสื่อสารความเสี่ยง โดยแจ้งหน่วยงานทุกระดับให้รับทราบ ให้ข้อมูลประชาชนและสื่อสารสาธารณะ 4.ประชุมเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อหารือแนวทางร่วมกัน และ 5.ประชุมกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์
  • เน้นเฝ้าระวัง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านระบาดวิทยา ด้านกีฏวิทยา ทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และกลุ่มอาการทางระบบประสาท
  • คุมเข้มใน 4 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยไข้ออกผื่น ทารกที่คลอดแล้วมีศีรษะเล็ก และผู้ป่วยที่มีอาการปลายประสาทอักเสบ

 

          นอกจากนี้จะมีการเพิ่มความเข้มข้นในการออกไปสอบสวนโรค หากมีผู้ป่วยอาการเข้าข่ายจะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสอบสวนโรคทันทีและอย่างจริงจัง รวมถึงด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศบริเวณสนามบินจะมีการเฝ้าระวังเข้มแข็งในกรณีที่มีผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคแล้วมีอาการไข้ด้วย มีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการเพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคและการดูแลรักษา หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเว็ปไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ http://beid.ddc.moph.go.th

 

 

ข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกา
และนวัตกรรมในการควบคุมปริมาณยุงลาย

  

  • 3 ก.พ.2559 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายมาร์เซโล กาสโตร รมต.ว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศบราซิล เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคจากสหรัฐฯ จะเดินทางมาถึงบราซิลในวันที่ 11 ก.พ. เพื่อจัดการประชุมระดับสูงในการตัดสินใจเกี่ยวกับขั้นตอนแรกและกรอบเวลาสำหรับการพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อไวรัสซิกา ที่อยู่บนความร่วมมือกันทั้ง 2 ชาติ ซึ่งคาดว่ากว่าจะได้วัคซีนที่ใช้การได้อย่างปลอดภัยอาจต้องใช้เวลาหลายปี

 

  • 3 ก.พ.2559 สำนักข่าวเอ็นดีทีวี รายงานข่าว กรณีนักวิทยาศาสตร์จากบริษัทอินเดีย ไบโอเทคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดในไฮเดอรา รัฐเตลังคานา ประเทศอินเดีย ได้ทำการจดทะเบียนสิทธิบัตรวัคซีนต้านไวรัสซิกา ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทแรกในโลกที่สามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้ โดย “ดร.กฤษณะ เอลล่า” ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเดีย ไบโอเทคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า ได้ทำการทดลอง วิจัย โดยใช้คนและสัตว์ ในการทดลองระยะยาว โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และสภาการวิจัยทางการแพทย์อินเดีย (ICMR) เพื่อพัฒนา และแก้ไขวิกฤตการระบาดของเชื้อดังกล่าว ที่มีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในระยะเวลา 4 เดือนจะสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้กว่า 1 ล้านชิ้น

 

  • 4 ก.พ.2559 บริษัทยาสัญชาติฝรั่งเศส “ซาโนฟี” ประกาศโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสซิกา ที่อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสไข้เลือดออกเดงกี หลังเป็นบริษัทยารายแรกที่มีใบอนุญาตผลิตวัคซีนไข้เลือดออกเดงกีในบราซิล และในวันเดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย เผยว่า กำลังร่วมกับซีเมนทิส บริษัทไบโอเทคโนโลยีของออสเตรเลีย พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสซิกา เช่นเดียวกับ นิวลิงก์ เจเนติกส์ จากอเมริกา ก็เผยว่า ได้เริ่มโครงการพัฒนาทางเลือกในการรักษาไวรัสชนิดนี้แล้ว อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การพัฒนาวัคซีนต่อต้านไวรัสซิกาที่สามารถนำไปใช้อย่างแพร่หลายอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน

 

  • 4 ก.พ.2559 รัฐบาลกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ เช่น บราซิล เอลซัลวาดอร์ และอีกหลายประเทศ หวังพึ่งวิธีการฉายรังสีเพื่อทำหมันยุงตัวผู้ เพื่อลดปริมาณยุงเกิดใหม่ หลังจากใช้หลากหลายวิธีทั้งฉีดยาพ่นและกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงแล้วก็ยังไร้ผล ซึ่งวิธีการฉายรังสีนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาก่อนหน้านี้ บนความร่วมมือกันระหว่างทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้คิดค้นวิธีการทำหมันยุงตัวผู้ โดยการรวบรวมยุงตัวผู้ทีละมาก ๆ เป็นล้านตัว นำเข้าห้องฉายรังสีเพียงไม่กี่นาที ก็สามารถที่จะทำลายระบบสืบพันธ์ของยุงตัวผู้ได้คราวละมาก ๆ แทนที่จะเสียเวลามาผ่าตัดยุงทีละตัว เสร็จแล้วก็นำยุงตัวผู้ที่เป็นหมันเหล่านี้ไปปล่อยในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อทำการผสมพันธุ์โดยปล่อยเชื้ออสุจิที่ฝ่อไปแล้วเข้าไปยังรังไข่ของยุงตัวเมีย โดยมีการทดลองในแปลงทดลองในอิตาลี ทีมวิจัยของ IAEA พบว่าประชากรยุงลดลงถึง 80% ในช่วง 9 เดือน ส่วนแปลงทดลองในจีนให้ผลตอบสนองที่ดีถึง 100% จะว่าไปแล้ว วิธีการนี้เคยประสบผลสำเร็จมาแล้วกับการควบคุมประชากรแมลงวันผลไม้และแมลงวันหนอนไช ที่เป็นศัตรูตัวฉกาจของผลไม้ในสวนของเกษตรกร ในขณะที่การทำหมันยุงด้วยการฉายรังสีพึ่งจะใช้ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา

               

          อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ก็มีข้อจำกัด นั่นคือ ไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีบริเวณกว้างขวางมากเพราะยุงตัวผู้ (ที่ฉายรังสีแล้ว) จะไม่เจอยุงตัวเมีย ผลการทดลองบ่งชี้ว่า วิธีการนี้จะให้ผลดีกับการควบคุมปริมาณยุงในเมืองขนาดกลางที่มีประชากรราว 1.5–2 แสนคน และยังไม่พร้อมสำหรับประเทศที่มีพื้นที่เป็นป่าดิบชื้นที่มีฝนตกตลอดทั้งปี ซึ่งยังต้องเร่งพัฒนาระบบการทำหมันยุงด้วยการฉายรังสีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

  • 4 ก.พ.2559 รศ.ดร.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศพาหะ และโรคที่นำด้วยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ได้ศึกษาวิจัยจนประสบผลสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพกำจัดยุงลาย โดยการสกัดเอาแบคทีเรียที่ชื่อ “โวบาเกีย (Wolbachia)” ที่อยู่ในเซลล์ของตัวยุงลายสวน และยุงรำคาญมาพัฒนาและฉีดเข้าไปในตัวยุงลายบ้าน โดยเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะผลิตและหลั่งสารบางอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไข้เลือดออกย้อนกลับมาทำลายเซลล์ของตัวยุงเสียเอง ดังนั้นจึงมีคุณสมบัติในการต้านทานต่อเชื้อไข้เลือดออก โดยยุงลายสวนจะมีแบคทีเรียโวบาเกียอยู่ในตัว 2 สายพันธุ์ ในขณะที่ ยุงรำคาญจะมีอยู่ในตัว 1 สายพันธุ์ และผลการวิจัยพบว่าแบคทีเรียที่มาจากยุงลายสวนสามารถต้านทานเชื้อในยุงลายบ้านที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกได้ ทั้ง ๆ ที่มาจากเชื้อตัวเดียวกัน

 

          ในห้องทดลองได้ฉีดแบคทีเรียจากยุงลายสวน 2 สายพันธุ์ เข้าไปในยุงลายบ้านตัวเมีย ให้ชื่อว่า “TH AB” และฉีดแบคทีเรียจากยุงลายสวน 2 สายพันธุ์บวกกับยุงรำคาญอีก 1 สายพันธุ์ รวมเป็น 3 สายพันธุ์ เข้าไปในยุงลายบ้านตัวเมียที่ให้ชื่อว่า “TH ABP” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการฉีดแบคทีเรียมากกว่า 1 สายพันธุ์เข้าไปในตัวยุงลายบ้าน เพื่อจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านเชื้อไข้เลือดออกได้มากขึ้น ผลที่ได้คือ กรณีที่หนึ่งถ้าฉีดแบคทีเรียใส่ยุงลายบ้านตัวเมียจะทำให้ลูกที่ออกมาไม่มีพาหะของเชื้อไข้เลือดออก กรณีที่สองถ้าฉีดใส่ยุงลายบ้านตัวผู้จะส่งผลให้เมื่อไปผสมพันธุ์กับยุงลายตัวเมียไข่จะฝ่อ (ตัวเมียผสมพันธุ์ได้เพียงครั้งเดียวตลอดอายุขัย) เท่ากับเป็นการลดปริมาณยุงลายอีกทางหนึ่งด้วย และในตอนนี้อยู่ระหว่างการเพาะเพิ่มจำนวนลูกยุงลายที่ได้จากกรณีที่หนึ่ง แล้วก็จะเอาเฉพาะที่เป็นตัวผู้เท่านั้นมาทำหมันโดยการฉายรังสีอีกที เสร็จแล้วเมื่อได้จำนวนมากพอ ภายใน 2-3 เดือนนี้ก็จะนำไปปล่อยให้ไปผสมพันธุ์กับยุงลายตัวเมียตามธรรมชาติในพื้นที่นำร่องที่อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะทำให้ควบคุมปริมาณยุงลายได้ และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือผลกระทบต่อระบบนิเวศจนเกิดสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากไม่ได้มีการดัดแปลงพันธุกรรม แต่เป็นการใช้เทคนิคทางชีวภาพเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างกับกรณีของบริษัทเอกชนที่อังกฤษที่ทำหมันยุงโดยการตัดต่อพันธุกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ในบราซิล

 

          ที่น่าสนใจคือ จากความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้ทีมวิจัยได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติ เกี่ยวกับการควบคุมโรคที่ประเทศบราซิล ในวันที่ 22–26 ก.พ.2559 นี้ จัดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) โดยไปในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และนำเสนอผลการศึกษาครั้งนี้ เพื่อเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ นำไปควบคุมปริมาณยุงต่อไป ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่นักวิจัยของไทยเราสามารถใช้เทคนิคทางชีวภาพกับยุง เพื่อให้ป้องกันไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยาได้ ส่วนไข้ซิกาในหลักการแล้วก็น่าจะควบคุมได้ แต่ยังต้องศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง

 

          นายกรัฐมนตรีร่วมรณรงค์ต้านภัยยุงลาย วันที่ 9 ก.พ.2559 เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยากร รมต.ว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารกระทรวงพร้อม นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค นำเหล่าศิลปินดาราเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมรณรงค์ “ราษฎร์รัฐร่วมใจต้านภัยยุงลาย” ซึ่งเป็นโครงการกวาดล้างยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมเปิดตัวแอพพลิเคชั่นพิชิตลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้เกี่ยวกับยุงลายและไข้เลือดออก ป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในชุมชน โดยดำเนินการตามมาตรการ “3 เก็บ 3 โรค” ได้แก่ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

               

          ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดทักทายกับสื่อมวลชนว่า ขอให้มีความสุขในวันตรุษจีน และได้กล่าวกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขว่า เราต้องเป็นผู้นำในเรื่องของการป้องกันไข้เลือดออก โดยไทยต้องเป็นตัวเชื่อมให้กับประเทศอาเซียนเพื่อร่วมมือแก้ไขปัญหา ซึ่งรมว.สาธารณสุขต้องร่วมมือกับรัฐมนตรีในประเทศอาเซียนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม อยากให้สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาอุปกรณ์ตบยุงไฟฟ้า ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวกับประชาชนพื้นที่ภาคใต้ เพราะในพื้นที่ปลูกยางพารานั้นมียุงลายเป็นจำนวนมาก

 

 

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยากร รมต.ว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารกระทรวง

พร้อม นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค นำเหล่าศิลปินดาราเข้าพบนายกรัฐมนตรี

เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมรณรงค์ “ราษฎร์รัฐร่วมใจต้านภัยยุงลาย” (9 ก.พ. 2559)

 

          ทิ้งท้ายบทความด้วยข่าวนี้ ใครจะไปเชื่อ ค่ายรถยนต์รายใหญ่ของอินเดียยังต้องหลีกทางให้ไวรัสซิกา โดยเมื่อ 3 ก.พ. 2559 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัทผลิตรถยนต์ ทาทา มอเตอร์ส ในอินเดีย ต้องกุมขมับ จำต้องเปลี่ยนชื่อรถรุ่นแบบ 5 ประตูรุ่นใหม่ที่กำลังเปิดตัวสู่ตลาด อย่างกะทันหัน เพราะตอนแรกตั้งชื่อรุ่นไว้ว่า ซิกา (Zica) ซึ่งย่อมาจาก Zippy Car แต่ต้องตัดใจเปลี่ยนชื่อ เพราะเผอิญไปประจวบเหมาะพ้องเสียงกับเชื้อไวรัสซิกา (Zika) ที่กำลังระบาดหนักในกว่า 26 ประเทศ ในทวีปอเมริกาและลาตินอเมริกา และแคริบเบียน ช่วงนี้พอดิบพอดี ถึงขนาดองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของไวรัสซิกาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศไปแล้ว และคาดว่าจะเปลี่ยนชื่อรุ่นใหม่นี้ในอีก 2–3 สัปดาห์ข้างหน้า

 

 

เชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus) เป็นไวรัสในตระกูล Flaviviridae อนุภาคไวรัสมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 40 นาโนเมตร มีเปลือกนอกและแกนกลางด้านในทึบ

 

 

 

โรคไข้ซิกา (Zika Virus Disease) มียุงลายบ้าน (Aedes Aegypti) เป็นพาหะนำโรค

 

 

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ ได้แจ้งเตือนการเดินทางสำหรับหญิงตั้งครรภ์ให้ทราบใน 28 ประเทศประเทศที่มีรายงานยืนยันการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา

 

 

เชื้อไวรัสซิกาถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากของเด็กทารกที่เกิดมาพร้อมภาวะศีรษะเล็ก (Microcephaly)
ในพื้นที่ที่มีแพร่กระจายอย่างหนักหน่วงของไวรัสซิกา ดังเช่น บราซิล

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

• โรคไข้ซิกา (Zika Virus Disease) สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
• Zika virus; World Health Organization (WHO), http://www.who.int/en/
• Zika virus; Centers for Disease Control and Prevention (CDC), http://www.cdc.gov/zika/index.html

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด