Inside News

สมอ. ปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพิ่มวิธีการออกใบอนุญาต มอก. รับอาเซียน

จุรีรัตน์ ทิมากูร

 

 

 

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ขานรับมาตรการ การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการลดความซ้ำซ้อน ลดระยะเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการอนุญาต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการเติบโตขึ้น โดยเพิ่มวิธีการออกใบอนุญาต มอก. ให้สามารถออกใบอนุญาตได้ภายใน 15 วัน

 

          ายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม บอกว่า สมอ.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตที่เคยประกาศใช้ โดยเพิ่มวิธีการในการอนุญาตให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ และความตกลงของ ASEAN โดยวิธีการใหม่นั้นสามารถออกใบอนุญาตได้ภายใน 15 วัน ซึ่งได้เริ่มใช้แล้วตั้งแต่เดือน พ.ย.58 ที่ผ่านมา โดยจะใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ มีความรับผิดชอบสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นที่เป็นวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น

 

          ทั้งนี้การยื่นขอรับใบอนุญาตผู้ยื่นคำขอสามารถใช้ใบรับรอง ISO 9001 และรายงานผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตาม มอก.ให้ สมอ. และ สมอ.จะออกใบอนุญาตภายใน 15 วัน นอกจากนั้น สมอ.ยังยอมรับใบรับรอง (Certificated of Conformity) จากหน่วยตรวจสอบรับรองที่ สมอ.ให้การยอมรับมาออกใบอนุญาตได้ภายใน 15 วัน โดยไม่ต้องตรวจโรงงานหรือเก็บตัวอย่างอีกทางหนึ่ง

 

          ส่วนกรณีการนำเข้า สมอ.ได้มีการขึ้นทะเบียนโรงงานผู้ทำในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้นำเข้าที่นำเข้าจากโรงงานที่ขึ้นทะเบียนไม่ต้องไปตรวจประเมินโรงงานอีก สมอ.จะเก็บเฉพาะตัวอย่างตรวจสอบอย่างเดียว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดระยะเวลาและลดค่าใช้จ่าย

 

          และในการประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ในครั้งนี้ สมอ.ยังได้ปรับข้อกำหนดกิจกรรมจาก 12 ข้อเป็น 5 ข้อ คือ การควบคุมวัตถุดิบ การควบคุมกระบวนการผลิต การควบคุมผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป การควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด และการควบคุม เครื่องตรวจ เครื่องวัดและเครื่องทดสอบ

 

          เลขาธิการ สมอ.กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ.จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขอรับการรับรองมาตรฐานทั่วไปเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยได้กำหนดตัวชี้วัดในการดำเนินงานว่าจะต้องมีผู้ประกอบการขอรับการรับรองมาตรฐานทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอทุกปี

 

          สำหรับปี 2559 สมอ.ได้กำหนดตัวชี้วัดไว้ที่ 45 มอก.ซึ่งหากผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตมากขึ้นจะทำให้มีการพัฒนาคุณภาพสินค้า และเกิดความคุ้มค่ากับผู้บริโภคมากขึ้น

 

 

ประกาศ มอก.เหล็กเส้น คุมขนาด-กำลังผลิต

 

          เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ที่ประชุมเห็นชอบในร่างประกาศแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มอก.20-2543 เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กเส้นกลม และ มอก.24-2548 เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กข้ออ้อย เป็นที่เรียบร้อย โดยจะกำหนดกรอบแนวทางเพื่อควบคุมและกำกับ และเปิดทำประชาพิจารณ์ภายในเวลา 30 วัน และเข้าสู่ขั้นตอนกฤษฎีกา ซึ่งใช้เวลา 2-3 เดือน ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ มอก.20 และ มอก.24 ได้ประมาณไตรมาส 1 ปี 2559

 

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) บอกว่า ร่างประกาศดังกล่าวถือเป็นมาตรฐานสากลที่ผู้ผลิตในประเทศจะถูกควบคุมกระบวนการผลิตภายใต้มาตรา 18 แห่ง พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ซึ่งการประชาพิจารณ์หากมีผู้คัดค้านในสาระสำคัญ จะต้องนำกลับเข้ามาพิจารณาในคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 9 (กว.9) เราต้องการปกป้องผู้บริโภคให้ได้มีโอกาสเลือกใช้สินค้าอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ

 

          นอกจากนี้ กมอ.ยังเตรียมประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมอ. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อตั้งคณะทำงานกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรม สอดรับกับนโยบายรัฐที่ต้องการผลักดันสินค้าในประเทศสู่การพัฒนา มีมาตรฐานสากลชัดเจน แข่งขันกับเพื่อนบ้านได้

 

          ขณะที่ นายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ภายใต้ร่างประกาศดังกล่าวไม่ได้กำหนดกรรมวิธีในการผลิตหรือประเภทของเตา แต่ได้กำหนดสาระสำคัญไว้ดังนี้คือ การผลิตเหล็กเส้นสามารถใช้เตาหลอม อิเล็กทริกอาร์กเฟอร์เนซ และเตาหลอม อินดักชั่นเฟอร์เนซได้ โดยเตาจะต้องมีขนาด 5,000 กก. และต้องผลิตเหล็กเส้นต่อเนื่องได้ปริมาณ 10,000 กก. หรือ 10 ตัน/ชม.

 

          เมื่อผลิตเหล็กเส้นได้แล้วจะต้องพิมพ์ตัวนูน ซึ่งเป็นตัวย่อของชนิดเตาที่ผลิต กำกับไว้ที่ตัวสินค้า เช่น เหล็กเส้นที่ผลิตจากเตา อินดักชั่นเฟอร์เนซ ใช้ตัวนูน (IF), เหล็กเส้น ที่ผลิตจากเตาหลอมอิเล็กทริกอาร์ก เฟอร์เนซ ใช้ตัวนูน (EF) และภายใต้การหลอมจากเตาหลอมอิเล็กทริกอาร์ก เฟอร์เนซนั้น หากใช้การหลอมแบบโอเพ่นฮาร์ก จะใช้ตัวนูน (OH) และหากใช้การหลอมแบบเบสิกออกซิเจนจะใช้ตัวนูน (BO)

 

          อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความกังวล ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ (บิลเลต) ที่จะใช้ในการหลอมเหล็กจากเตาอินดักชั่นเฟอร์เนซ สมอ.ได้ออกมาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัดอย่างปริมาณของการมีกำมะถัน เพื่อป้องกันไม่ใช้นำเศษเหล็กมาเป็นวัตถุดิบ

 

          ขณะเดียวกันได้กำหนดส่วนผสมทางเคมีของเหล็ก จะต้องมีส่วนผสมของอะลูมิเนียมร้อยละ 0.3 ขึ้นไป โมลิบดีนัมร้อยละ 0.08 ขึ้นไป โบรอนร้อยละ 0.0008 ขึ้นไป นิกเกิลร้อยละ 0.3 ขึ้นไป โครเมียมร้อยละ 0.3 ขึ้นไป ไนโอเบียมร้อยละ 0.06 ขึ้นไป โคบอลต์ร้อยละ 0.3 ขึ้นไป ซิลิคอนร้อยละ 0.6 ขึ้นไป ทองแดงร้อยละ 0.4 ขึ้นไป ไทเทเนียมร้อยละ 0.05 ขึ้นไป ตะกั่วร้อยละ 0.4 ขึ้นไป ทังสเตน (วุลแฟรม) ร้อยละ 0.3 ขึ้นไป

 

          แมงกานีสร้อยละ 1.65 ขึ้นไป วาเนเดียมร้อยละ 0.1 ขึ้นไป เซอร์โคเนียมร้อยละ 0.05 ขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามนิยามอัลลอยสตีล จากเดิมเกณฑ์กำหนดธาตุในเหล็กมีเพียง 5 ธาตุเท่านั้น คือ ธาตุโบรอน โครเมียม นิกเกิล ซิลิคอน และทองแดง ซึ่งการกำหนดธาตุเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ISO และเนื่องจากเหล็กนำเข้าจากจีนเปลี่ยนสารผสมใหม่ในเหล็กเส้นจากโบรอนเป็นโครเมียม ซึ่งมีความแข็งกว่าเดิม แต่เปราะเสี่ยงต่อโครงสร้างอาคารและผู้บริโภค

 

          ทั้งนี้สินค้าเหล็กทุกประเภทจากนี้จะต้องมีมาตรฐานเดียวกับที่ สมอ.กำหนดออกมา และถูกควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามสากล เข้าพิกัดศุลกากรอย่างถูกต้อง ดังนั้นแล้ว กรณีปัญหาการนำเข้าเหล็กจีนและบริษัทที่ขอนำเข้าเหล็กรายเดิมตามประกาศเก่านั้น จะต้องถูกยกเลิกและยื่นขออนุญาตนำเข้าเหล็กใหม่ เมื่อประกาศ มอก.ตัวใหม่บังคับใช้ ใบอนุญาตเดิมทั้งหมดจะหมดสิทธิ์ และต้องยื่นขออนุญาตนำเข้าเหล็กตามใหม่

 

 

ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า-ยานยนต์ มาตรฐานเดียวกับอาเซียน

 

นายธวัช ผลความดี เลขาธิการคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ขณะนี้การจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับอาเซียนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีความคืบหน้ามากที่สุด โดยจัดทำแล้วเสร็จ 26 รายการจาก 30 รายการ 120 มาตรฐาน ขณะนี้เหลือเพียง 4 รายการที่รอเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.)

 

           สำหรับมาตรฐานที่จะเสนอ กมอ. ได้แก่ มาตรฐานหลอดไฟฟ้า เลข มอก.1-2529 จำนวน 4 เล่ม กระติกน้ำร้อนไฟฟ้าเฉพาะด้านความปลอดภัย เลขที่ มอก.2026-2543 และเครื่องอบผ้า เฉพาะด้านความปลอดภัย เลขที่ มอก.1389-2539 และเตาไฟฟ้าชนิดทำความร้อนแบบเปลือย เฉพาะด้านความปลอดภัย เลข มอก.870-2532 ซึ่ง กมอ.ได้เห็นชอบให้ยกเลิกการบังคับใช้ มอก.870 และเสนอให้บังคับใช้เป็น มอก.1641 เตาย่าง เตาปิ้ง และเครื่องทำอาหารเคลื่อนย้ายได้ที่คล้ายกัน เฉพาะด้านความปลอดภัย แทนที่มาตรฐานเดิม

 

                นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานยานยนต์ที่เตรียมเสนอ กมอ.ก่อนส่งทำมาตรฐานอาเซียนอีก 3 เรื่อง จากทั้งหมด 19 เรื่อง ได้แก่ ยางรถแบบสูบลมสำหรับยานยนต์และส่วนพ่วง ยางรถแบบสูบลมสำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง และยางนอกรถจักรยานยนต์ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการแก้ไข และอาจจะล่าช้ากว่ากลุ่มไฟฟ้าฯ

                ภายหลังจากที่ กมอ.มติเห็นชอบเรื่องมาตรฐานแล้วจะต้องจัดส่งเรื่องไปที่สำนักงานมาตรฐานกลางของอาเซียนเพื่อเห็นชอบภายใน 60 วัน ซึ่งหมายความว่ามาตรฐานสินค้าไทยในกลุ่มไฟฟ้าฯ เป็นมาตรฐานเดียวกับอาเซียน การกำหนดมาตรฐานอาเซียนจะต้องเน้นที่ประเด็นหลักคือ การทำ MRA (ASEAN Mutual Recognition Arrangement) เป็นข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพ การจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรองรับโดยหน่วยงานกลางของอาเซียน และการกำหนดด้านกฎระเบียบข้อบังคับที่ต้องอำนวยความสะดวกและเข้มงวด” นายธวัช กล่าว

                สำหรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ สมอ.รับผิดชอบมีทั้งสิ้น 5 รายการคือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความคืบหน้ามากที่สุด และจะได้ใช้ทันช่วงต้นปี 2559 มาตรฐานยานยนต์และชิ้นส่วน 19 มาตรฐาน ขณะนี้เหลือ 3 มาตรฐานที่ต้องปรับปรุง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร อาจจะได้ใช้ช่วงกลางปี 2559 มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง ที่ขณะนี้สรุปมาตรฐานที่ต้องทำให้สอดคล้องกันทั้งอาเซียน 46 มาตรฐาน

และขณะนี้ชาติสมาชิกอยู่ระหว่างการปรับแก้ มาตรฐานผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง อยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงร่วมกัน จำนวน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ กระจกโฟลต และเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไม้ มีการปรับทั้งหมด 34 มาตรฐาน

 

 

สมอ. ออก มอก. เครื่องทำน้ำอุ่น

 

          นายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.อยู่ระหว่างกำหนดให้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบก๊าซเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพราะเป็นระบบที่ปลอดภัยกว่าระบบไฟฟ้า แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการกำหนดมาตรฐานอย่างจริงจัง คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะสามารถกำหนดมาตรฐานได้ ดังนั้นช่วงนี้หากประชาชนจำเป็นต้องใช้เครื่องทำน้ำอุ่นชนิดดังกล่าว หรืออยากจะนำมาติดตั้งใช้ในบ้าน ควรศึกษาวิธีการติดตั้งในที่ที่อากาศถ่ายเท มีการติดพัดลมระบายอากาศ เพราะหากใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน คนที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นคนสุดท้ายมีโอกาสได้รับก๊าซสะสมมาก

 

          ส่วนการเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นระบบไฟฟ้า ขอให้ผู้ซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นเฉพาะที่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับติดอยู่ที่ตัวเครื่องและที่กล่องบรรจุ ซึ่งปัจจุบันมี ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. จำนวน 43 ราย

 

          อย่างไรก็ตามช่วงหน้าหนาวของทุกปีจะมีข่าวการเสียชีวิตของประชาชนจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นระบบไฟฟ้า เกิดจากการใช้เครื่องที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมีการติดตั้งไม่ถูก เนื่องจากเครื่องทำน้ำอุ่นเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ 80% ซึ่งน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้าที่ดี ส่วนการเสียชีวิตจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบก๊าซเผาไหม้ออกซิเจนเพื่อทำความร้อน จะเกิดจากการสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ หากสูดดมปริมาณมากทำให้ ผู้ใช้ขาดออกซิเจนเสียชีวิต"

 

 

ห้ามสีย้อมผ้าผสมสารก่อมะเร็ง

 

          นอกจากนั้น สมอ.ยังเตรียมประกาศมาตรฐานบังคับ (มอก.) หลายผลิตภัณฑ์ในปี 2559 โดยเฉพาะมาตรการผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสี ได้แก่ สีย้อมผ้า จำนวน 5 ชนิด เช่น สีไดเร็ก สีแอซิด เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมากว่าสีย้อมผ้า ในไทยมีสารอโรมาติกส์เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นสารอาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะแถบยุโรปหลายประเทศกำหนดไม่ให้มีสารดังกล่าวแล้ว มีผลในเดือน มี.ค.2559 เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคในการ สวมใส่เสื้อผ้าจะได้ไม่มีสารก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งมี ผิวบอบบาง

 

          นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรฐานบังคับสีน้ำมัน สีเคลือบแอลคีด โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย กำหนดคุณลักษณะเรื่องปริมาณ โลหะหนัก เช่น ปริมาณตะกั่วไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม เนื่องจากมีข้อร้องเรียนว่าสีน้ำมันที่ใช้ทาอาคาร หรือทาเครื่องเล่นสนาม และของเล่นเด็ก โดยเฉพาะ สีสด ๆ เช่น สีแดง สีเหลือง สีส้ม จะมีส่วนประกอบของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ซึ่งหากสีที่ทาผนังหลุดร่อนออกมาหรือของเล่นที่ใช้งานนาน ๆ สีอาจหลุดร่วงติดมือเด็ก เมื่อสัมผัสเด็กนำ เข้าปาก จะส่งผลให้เด็กได้รับสารตะกั่ว (แคดเมียม) ซึ่งเป็นโลหะหนักที่มีผลกับการเจริญเติบโตของสมองเด็ก ทำให้เด็กไม่ฉลาดโดยเฉพาะเด็กเล็ก

 

 

ผลพ่วง มอก.9999 เศรษฐกิจพอเพียง ส่ง 20 บริษัทเติบโตยั่งยืน

 

          ส่วนความคืบหน้า การประกาศใช้ มอก.9999 เล่ม 1-2556 แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม ขึ้น เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน การประกอบธุรกิจ บนหลักการของความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีความรู้และคุณธรรม เพื่อความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และมีความสุข นั้น ที่ผ่านมีภาคเอกชน หลายภาคส่วนให้ความสนใจ และสามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ทาง สมอ.กำหนด และสามารถผ่านการคัดเลือกได้รับมาตรฐาน มอก. 9999 ไปแล้วจำนวน 20 บริษัท

 

          ทั้งนี้ ทางสมอ.ได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปสู่การปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และจัดทำโครงการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำการจัดทำ มอก.9999 (แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม) หรือโครงการ TLC มอก.9999 เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการจัดทำระบบการจัดการภายในองค์กรตาม มอก.9999

 

          ด้าน นายเอกชัย ลิมปิโชติพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอตานิ เรเดียล จำกัด หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วม และได้รับ มอก. 9999 กล่าวว่า “ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้บ้างแล้ว มีการนำของเหลือมาใช้ก่อให้เกิดประโยชน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกไม้ยืนต้น ไม้กินได้ ประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงานไฟฟ้า การใช้สิ่งของให้เกิดประโยชน์สูงสุด รณรงค์ส่งเสริมให้พนักงานปลูกผักสวนครัว และส่งเสริมให้มีอาชีพเสริม ในเวลาว่างจากการทำงานเพื่อให้มีรายได้เสริม แต่เมื่อบริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการกับ สมอ. ได้เรียนรู้หลักการและวิธีการ โดยนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ และการดำเนินชีวิตของพนักงานทำให้เห็นได้ว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถปรับใช้กับภาคธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันของพนักงานได้เป็นอย่างดี

 

          ทั้งนี้บริษัทฯ ใช้หลักคิด คือ การหาโอกาส อุปสรรค และความเสี่ยงในการดำเนินงาน ซึ่งช่วยให้องค์กร สามารถเตรียมความพร้อมที่จะผ่าฟันอุปสรรคได้ รวมถึงช่วยให้บริษัทฯ สามารถวางแผนการดำเนินงานล่วงหน้า ทั้งระยะสั้น และระยะยาวขึ้นมาอย่างเป็นระบบ

 

          สำหรับพนักงานสามารถวางแผนการใช้ชีวิต การใช้เงิน และการออม ตามปัจเจกบุคคลที่ได้กำหนดขึ้น โดยกำหนดเป็นแผนงานการดำเนินการกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สิ่งหนึ่งที่บริษัทฯ เห็นผลได้อย่างชัดเจน คือ เรื่องของการออมเงินที่มีผู้ร่วมออมเงินมากขึ้นถึง 45% โดยเลือกที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์

 

          และอีกส่วนหนึ่ง คือ การหาหลักประกันชีวิตหลังเกษียณ (นับจากวันที่เริ่มโครงการเดือนธันวาคม 57 จนถึงเดือน กรกฎาคม 58) ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเยี่ยม ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาพนักงานจะสนใจแต่เพียงรายได้ที่มี ณ ปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้มีการมองถึงความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต จึงขอเชิญชวนภาคอุตสาหกรรมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปใช้ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมของไทยเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ไปพร้อม ๆ กับพนักงาน ผู้มีส่วนได้เสีย และพร้อมกับชุมชนรอบข้างอย่างมีความสุข

 

 

อุตสาหกรรมมอบรางวัลผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม สินค้าที่มีคุณภาพเป็นแบบอย่างที่ดี

 

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากประเทศไทยเป็นที่รู้จักในทุกภูมิภาคทั่วโลก สร้างชื่อเสียงและนำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ และมีการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีและคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

 

          กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการรับรองผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมของประเทศไทย ดำเนินการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม เข้ารับรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีผลิตภัณฑ์ชั้นนำที่ผ่านการคัดเลือกกว่า 41 รายการ เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร โครงการพระราชส่วนพระองค์จิตรลดา เคหะสิ่งทอ มาตรฐานพลอยสี มะพร้าวเผาพร้อมดื่ม Coco Easy อุปกรณ์กีฬา FBT

               

          ผลิตภัณฑ์ของอำพลฟูดส์ ผู้นำนวัตกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มของไทย ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม Premium Products of Thailand ภายใต้แบรนด์ชาวเกาะ จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

               

          นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการบริษัทอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ยาวนานที่ผลิตภัณฑ์ชาวเกาะ ครองใจผู้บริโภค ในฐานะกะทิสำเร็จรูปอันดับ 1ของไทยอีกทั้งยังสามารถส่งออกไปกว่า 80 ประเทศทั่วโลก นอกเหนือจากคุณภาพของสินค้า การบริการและมาตรฐานทางการผลิตอำพลฟูดส์ ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกะทิสำเร็จรูป UHT ตราชาวเกาะ ยังได้มุ่งเน้นกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมโดยมีการจัดการของเสียภายในโรงงานให้เป็นศูนย์ โดยใช้หลัก 3Rs คือ Reduce การลดใช้ทรัพยากร Reuse การใช้ซ้ำ และ Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่

 

          ซึ่งปัจจุบันของเสียเช่น เปลือกมะพร้าว กะลา ไขมันจากมะพร้าว ได้ถูกนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนและถูกเพิ่มมูลค่าเกือบทั้งหมด ภายใต้แนวคิด APF GREEN INNOVATION นวัตกรรมอาหารสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมของอำพลฟูดส์ในฐานะผู้นำนวัตกรรมอาหาร ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยทั้งหมดนี้ทำให้ชาวเกาะสามารถครองใช้ผู้บริโภคได้จนถึงปัจจุบัน

               

          ด้าน นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดงานพิธีมอบรางวัลผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมของประเทศไทยประจำปี 2558 ขึ้นในวันนี้ เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับผู้ประกอบการที่มีความวิริยะอุตสาหะในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศชาติ และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่อุตสาหกรรมอื่น ๆ

 

ร่วมมหิดลกำหนดมาตรฐานต้านไรฝุ่นหลังสินค้าไร้มาตรฐานเกลื่อนตลาด

 

          สมอ.ได้ลงนามความร่วมมือกับศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกี่ยวกับไรฝุ่น ภายในปี 59 ซึ่งไทยจะเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับไรฝุ่น เบื้องต้นจะนำร่องผ้ากันไรฝุ่น และน้ำยากันไรฝุ่น เนื่องจากขณะนี้มีผ้าป้องกันไรฝุ่นผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาดจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการควบคุมคุณภาพ หรือมีผลวิเคราะห์หรือทดสอบ เชื่อว่า ผู้ประกอบการจะสนใจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากช่วยสร้างความน่าเชื่อให้กับสินค้า ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น

               

          ทั้งนี้เบื้องต้น สมอ. และมหาวิทยาลัยมหิดล จะเตรียมตั้งคณะกรรมการวิชาการ เพื่อทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อประกาศร่าง มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ด้านสุขภาพที่ป้องกันอันตรายจากไรฝุ่น 2 รายการ ได้แก่ น้ำยากันไรฝุ่นและผ้ากันไรฝุ่น โดยจะเริ่มดำเนินงานในการจัดทำเกณฑ์ เพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้า 2 รายการ ในช่วงปี 59 โดยวางกรอบเวลาในการทำงานอย่างน้อย 1 ปี จากนั้นคาดว่า จะออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน และประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 60 ขณะเดียวกันระหว่างที่จัดทำมาตรฐาน 2 รายสินค้า ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันศึกษามาตรฐานผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย

 

          เลขาฯ สมอ. กล่าวว่า สินค้า 2 รายการที่กำหนดนำร่อง เพราะมหิดลมีงานวิจัยอยู่แล้ว เราก็เอามาดูว่าเราจะกำหนดเกณฑ์ร่วมกันอย่างไรบ้าง ส่วนรายการอื่น ๆ ก็จะมีการกำหนดร่วมกันในอนาคต ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สุขภาพมีการเติบโตทางการตลาด 7% จากมูลค่าตลาดรวม 2,400 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดเครื่องนอนสุขภาพป้องกันไรฝุ่นประมาณ 40%

               

          อย่างไรก็ตามปัจจุบัน สมอ.มีการออก มอก.บังคับในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพ 4 รายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารคาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน ไนตรัสออกไซด์ และถุงน้ำเกลือ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพอื่น ๆ เป็นเพียงมาตรฐานทั่วไป ยังไม่มีการกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เครื่องมือทั่วไปในงานแพทย์ เป็นต้น

               

          ด้าน น.ส.อัญชลี ตั้งตรงจิต หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหอบหืด แพ้อากาศ ผื่นผิวหนังอักเสบ ภูมิแพ้ กว่า 70% และยังไม่มีวิธีการควบคุมหรือกำจัดไรฝุ่นได้ 100% การใช้ผ้าที่สามารถป้องกันไรฝุ่นจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกัน จึงดำเนินการวิจัยและค้นคว้าด้านไรฝุ่น แต่ยังขาดการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพ การกำหนดมาตรฐานจะช่วยควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสม่ำเสมอ

 

ตั้งเป้าดันไทยฐานการผลิต อุตสาหกรรมทางการแพทย์

 

          ที่ผ่านมา สมอ. ได้ประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์แล้วจำนวนทั้งสิ้น 134 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานทั่วไป 129 มาตรฐาน และเป็นมาตรฐานบังคับ 4 มาตรฐาน ได้แก่ มอก.30-2555 ไนทรัสออกไซด์ทางการแพทย์ มอก.531-2546 ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์เภสัชปราศจากเชื้อ มอก.539-2546 คาร์บอนไดออกไซด์การแพทย์ มอก.540-2555 ออกซิเจนทางการแพทย์ โดยการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวอ้างอิงตามมาตรฐาน ISO ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่สากลให้การยอมรับ

 

          แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาที่ผู้ประกอบการประสบคือขาดแคลนเทคโนโลยี แหล่งเงินทุน รวมถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องมือแพทย์ เช่น วิศวกรทางการแพทย์ นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปัญหาการส่งออกผลิตภัณฑ์ของไทยไปจำหน่ายต่างประเทศ ปัญหาการแข่งขันด้านราคาจากประเทศคู่แข่ง ผู้ประกอบการไทยต้องส่งออกในราคาสูงเนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง อีกปัญหาหนึ่งคือ ผลิตภัณฑ์ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด มีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า

 

          สำหรับแนวทางทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดย สมอ.ได้เร่งรัดที่จะออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งในปัจจุบัน สมอ. ได้ประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์แล้ว 133 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานทั่วไป130 มาตรฐาน และมาตรฐานบังคับ 3 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์เภสัชปราศจากเชื้อ, คาร์บอนไดออกไซด์ทางการแพทย์ และออกซิเจนทางการแพทย์ เป็นต้น

           

          ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และคาดว่า ในปี2558 จะมีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการส่งออกมูลค่าสูงมาก แต่สินค้าจากไทยก็มีสัดส่วนเพียง 1% ของสินค้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในตลาดโลก ทำให้ยังสามารถขยายตลาดได้อีกมาก

 

          โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีการนำเข้าที่สูงมาก มียอดนำเข้าเกือบ 1.8 แสนล้านบาท โดยแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งจะแบ่งประเภทอุปกรณ์ทางการแพทย์แยกย่อยเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะแสวงหาแนวทางการส่งเสริมในแต่ละกลุ่มได้อย่างตรงจุด และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้

               

          ทั้งนี้ประเทศไทยควรจะใช้จุดเด่นในการเป็นศูนย์การรักษาพยาบาลชั้นนำของเอเชีย มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ในการเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทย โดยที่ผ่านมาสินค้าในกลุ่มนี้ก็มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก สามารถส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้วได้ทุกประเทศ สามารถผ่านมาตรฐานที่เข้มงวด จึงไม่ยากที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำในการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์นี้

               

          อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็มีอุปสรรคใหญ่ที่สำคัญมาจากการที่แพทย์ส่วนใหญ่ จบการศึกษาจากต่างประเทศ จึงมีความคุ้นเคยในการใช้เครื่องมือจากต่างประเทศ มากกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ โดนแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลควรจะ ตั้งศูนย์การฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ เปิดให้บุคลากรทางการแพทย์ทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาฝึกอบรมในไทย และในศูนย์ฯ นี้จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อสร้างความคุ้นเคยในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากประเทศไทย

               

          ในส่วนอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์นี้ มีอัตราการส่งออกเติบโตขึ้นทุกปี ประมาณปีละ10-15% ซึ่งภาคเอกชนก็มีเป้าหมายที่จะยกระดับไปผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้นเรื่อง ๆ เช่น เครื่องเอ็กซ์เรย์ อุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ แต่ก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีไม่ต่ำกว่า 10 ปี และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างเต็มที่ จึงจะสามารถลิตเทคโนโลยีเหล่านี้ได้

               

          นอกจากนี้ภาคเอกชนยังได้เสนอแนะการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับนั้น ภาครัฐควรจะ ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ เพื่อดำเนินการวิจัย หรือจัดทำการทดลองทางคลินิก (Clinical Trial) อย่างเต็มรูปแบบ ที่สามารถรองรับผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยคนไทย หรือเป็นผลงานการวิจัยออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่สามารถทดแทนการนำเข้าจากประเทศที่มีราคาสูง

               

          นอกจากนี้ ควรจะลดภาษีการนำเข้าวัตถุดิบให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยประสานงานให้กรมศุลกากรยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับ ผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งบริษัทที่ได้รับการยกเว้นภาษีเหล่านี้จะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าเป็นผู้ผลิตที่แท้จริง จึงจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อสินค้าของไทยมีต้นทุน ที่แข่งขันกับสินค้านำเข้าได้

 

          ปัจจุบันอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในกลุ่มที่ใช้แล้วทิ้งเลยของเวียดนาม มีการพัฒนาที่รวดเร็ว และเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เนื่องจากมีต้นทุนการผลิต ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า และแรงงานมีศักยภาพสูงกว่าแรงงานไทย รวมทั้งภาครัฐยังปรับเปลี่ยนนโยบายเพี่อการส่งเสริมที่รวดเร็ว โดยขณะนี้สินค้าในกลุ่มอุปกรณ์ฟอกเลือดล้างไตของเวียดนาม ก็มีศักยภาพการแข่งขันแซงไทยไปแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจึงควรลดภาษี นำเข้าวัตถุดิบ เพื่อให้สินค้าไทยแข่งขันได้ง่ายขึ้น

               

          อย่างไรก็ตาม หากวัดในเรื่องของฐานการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในอาเซียน ประเทศไทยยังคงเป็นอันดับ 1 เพราะมีผู้ประกอบการและยอดขาย เป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้คู่แข่งของไทยพยายามไล่ตามอย่างรวดเร็ว โดยคู่แข่งที่สำคัญในภูมิภาคนี้ ได้แก่ประเทศสิงคโปร์ รองลงมาเป็นเวียดนาม และมาเลเซีย

 

 

ผุดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุ 29 รายการ

 

          ขณะนี้ สมอ.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทย ในการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างอาคารสาธารณะ ของผู้สูงอายุ และผู้พิการ เบื้องต้นจะจัดทำทั้งสิ้น 29 รายการ เช่น ราวจับ สวิตช์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟฟ้า โถสุขภัณฑ์ สี ก๊อกน้ำ ทางลาด บันได ลูกบิดประตู มือจับประตู กลอนประตู พื้น รั้ว เก้าอี้ ว่าจะต้องมีมาตรฐานอย่างไร เนื่องจาก ขณะนี้การติดตั้งอุปกรณ์ สำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ยังไม่มีมาตรฐานรองรับที่ถูกต้อง

               

          โดยในขณะนี้ รัฐบาลได้ตั้งกรมกิจการ ผู้สูงอายุ (ผส.) ภายใต้สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมีการระบุถึงการสร้างอาคารสาธารณะของผู้สูงอายุ และคนพิการว่า จะต้องมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทอย่างไร ซึ่งปัจจุบัน สมอ.ได้จัดทำมอก. สำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์การใช้ ไม่ใช่เพื่อการติดตั้งในอาคาร

               

          นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการ สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการก่อสร้างอาคารสาธารณะ และอุปกรณ์ สำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการในปัจจุบัน ยังไม่มีมาตรฐานที่ถูกต้อง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน ซึ่งจะหารือร่วมกับ สมอ.ในการจัดทำ มอก. เกี่ยวกับผู้สูงอายุ และผู้พิการออกมา เชื่อว่า จะประกาศใช้ได้ภายในปลายปี หรือต้นปีหน้า โดยระหว่างนี้ทางสถาบันฯ จะเดินสายให้ความรู้เทคนิคในการก่อสร้างอาคารสาธารณะ สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด