สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ มาเร็วกว่าปกติ มาเริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งอยู่ในฤดูหนาว และไม่ทราบว่าจะแล้งยาวนานแค่ไหน หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) มีการชี้แจงว่าประเทศไทยมี 928 อำเภอ ในเขตชลประทานขาดแคลนน้ำ 59 อำเภอ นอกเขตชลประทาน 410 อำเภอ พื้นที่ทับซ้อน 79 อำเภอ รวมขาดแคลนน้ำทั้งสิ้น 548 อำเภอ ซึ่งคิดเป็นอำเภอที่ขาดแคลนน้ำถึง 59% และอาจลามต่อไป แม้แต่ในเขตชลประทาน โดยสถานการณ์ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นลุกลามต่อเนื่องทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ที่สถานการณ์ในพื้นที่ และพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ขยายเป็นบริเวณกว้างและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น สาเหตุเนื่องจากปริมาณน้ำที่เก็บกักในอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา และแหล่งน้ำในพื้นที่มีปริมาณน้ำลดลงอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ขณะที่ในภาคกลางสถานการณ์ภัยแล้ง ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าที่อื่น โดยเฉพาะในส่วนรับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 10 ประกอบด้วย จ.ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งขณะนี้ทุกพื้นที่ เริ่มประสบกับสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จัดส่งให้กับประชาชนเพียงพอแค่การใช้สำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น เกษตรกรไม่สามารถใช้น้ำในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้
ขณะที่ล่าสุด นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้ง 9 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย อุตรดิตถ์ พะเยา และเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม นครราชสีมา และนครพนม ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว และภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก รวม 31 อำเภอ โดย ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อน รวมถึงประสานจังหวัดสำรวจและจัดทำบัญชีปริมาณน้ำในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการสูบน้ำดิบเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้านและถังน้ำกลางประจำหมู่บ้าน มีการเตรียมความพร้อมรับมือ ทั้งในเรื่องการเก็บกัก และการแจกจ่ายน้ำ รวมทั้งขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อการติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมประชุมให้ข้อมูลปริมาณน้ำ สภาพอากาศ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งจะได้บูรณาการข้อมูลสถานการณ์น้ำ ความต้องการใช้น้ำของประชาชน แผนปฏิบัติการ และแผนการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแยกตามประเภทการใช้น้ำอย่างชัดเจน ครอบคลุมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม
ในส่วนของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ก็ได้สั่งการให้จังหวัดวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหารองรับการขาดแคลนน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตน้ำประปา โดยให้เร่งสำรวจข้อมูลปริมาณแหล่งน้ำในพื้นที่ อาทิ แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ภาชนะกักเก็บน้ำสาธารณะ ความต้องการใช้น้ำของประชาชน รวมถึงปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อวางแผนรับมือ กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหากรณีประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
มาตรการข้างต้นถือว่ามีการเตรียมการรับมือวิกฤติในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของรัฐบาลก็ต้องทำหน้าที่หลักในการมอบนโยบายตรวจตราและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่หละหลวมและมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจน หากปล่อยให้เกิดวิกฤติภัยแล้ง โดยไม่เตรียมพร้อม หรือรับมือกับปัญหาจนทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกัน ก็ต้องชี้แจงโรดแมปยุทธศาสตร์น้ำ เพื่อให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมของการดำเนินการ และบริหารการจัดการปัญหาภัยแล้งที่กำลังลุกลามอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะการกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังกลุ่มเกษตรกร ซึ่งถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นส่วนใหญ่ เพื่อป้องกันวิกฤติหรือเหตุการณ์ปัญหาภัยแล้ง และที่สำคัญไปกว่านั้น คือป้องกันความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ครับ
เศรษฐกาญจน์ อนุวัตรวงศ์
sedthakarn@se-ed.com